“ฮ่องกง” แพ้ “สิงคโปร์” ในการดึงมหาเศรษฐีทั่วโลกตั้ง Family Office

ฮ่องกง

รัฐบาลฮ่องกงตั้งเป้าดึงดูดมหาเศรษฐีจากทั่วทุกมุมโลกเข้าไปจัดตั้ง “สำนักงานครอบครัว” (Family Office) ในฮ่องกงให้ได้ไม่น้อยกว่า 200 ครอบครัวก่อนปี 2025 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามผลักดันฮ่องกงให้เป็น “ศูนย์กลางบริหารความมั่งคั่งระหว่างประเทศ”

เพื่อผลักดันการดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย รัฐบาลฮ่องกงได้จัดการประชุม “Wealth for Good Summit” เมื่อเดือนมีนาคม 2023 โดยเชิญผู้มั่งคั่งจากทั่วโลกเข้าร่วมงาน รวมทั้ง “บิลล์ เกตส์” อภิมหาเศรษฐีระดับโลก และ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ อภิมหาเศรษฐีจากไทย

ในงานนั้น รัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศมาตรการดึงดูดเป้าหมาย ซึ่งมาตรการที่สำคัญ คือ การยกเว้นภาษีจากผลกำไรสำหรับสำนักงานครอบครัวเฉพาะครอบครัวเดียว (Single Family Office) หากสำนักงานนั้นมีมูลค่าทรัพย์สินรวมอย่างน้อย 240 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างน้อย 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

แม้ว่าฮ่องกงพยายามมากขนาดนั้นแล้วก็ตาม แต่มีข้อมูลเปิดเผยล่าสุดว่า ผลลัพธ์ที่ฮ่องกงได้นั้นไม่มากเท่าที่ตั้งความหวังไว้

“นิกเคอิ เอเชีย” (Nikkei Asia) รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า หัวหน้าบริษัทบริหารความมั่งคั่งและสำนักงานครอบครัวในฮ่องกงรายหนึ่งกล่าวว่า มาตรการดึงดูดของฮ่องกงแทบไม่ได้รับการตอบสนองจากกลุ่มเป้าหมายเลย

“มีแรงจูงใจน้อยมากสำหรับชาวต่างชาติที่จะมาฮ่องกง รวมถึงชาวจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย” เขากล่าวและบอกว่า ฮ่องกงมีภาษีที่ต่ำมาก และมีวิธีการลงทุนอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่จำเป็นต้องจัดตั้งเป็นสำนักงานครอบครัว

รายงานของหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของฮ่องกงที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคม 2023 เผยว่า มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการในภาคการจัดการความมั่งคั่งและสินทรัพย์ของฮ่องกงในปี 2022 ลดลง 14% โดยมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 121,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวน 638,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในปี 2021

ขณะเดียวกัน “สิงคโปร์” ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อของฮ่องกงเป็นผู้ชนะในเกมนี้

สิงคโปร์เริ่มผลักดันตนเองในการดึงดูดครอบครัวมหาเศรษฐีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และประสบความสำเร็จกับเป้าหมายนี้เป็นอย่างมาก โดยข้อมูลจากธนาคารกลางสิงคโปร์เผยให้เห็นว่า จำนวนสำนักงานครอบครัวในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” จากที่มีเพียง 50 แห่งในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 1,100 แห่งในปี 2022

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฮ่องกงด้อยกว่าสิงคโปร์ในเรื่องนี้ คือ ฮ่องกงไม่ได้ให้เส้นทางสู่สถานะ “ผู้พำนักถาวร” แก่ครอบครัวที่ตั้งสำนักงานครอบครัวในฮ่องกง ขณะที่สิงคโปร์ให้คำมั่นสัญญาว่าจะฟื้นโครงการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนรายใหม่ให้มีสิทธิได้สถานะ “ผู้พำนักถาวร” ซึ่งสิ้นสุดไปในปี 2015 กลับขึ้นมา

อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐที่อยู่ในบรรยากาศหนาวเย็น ไม่รู้ว่าจะนำมาซึ่งความเสี่ยงระดับใดในอนาคต สร้างความกังวลต่อทั้งผู้มั่งคั่งและผู้จัดการความมั่งคั่ง ขณะที่การบังคับใช้กฎระเบียบอย่างคาดเดาไม่ได้ของจีนก็สร้างความกังวลไม่น้อยไปกว่ากัน

ผู้บริหารจัดการความมั่งคั่งในฮ่องกงรายหนึ่งซึ่งมีลูกค้าเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่เปิดเผยว่า ผู้มั่งคั่งชาวจีนหลายคนสนใจตั้งสำนักงานครอบครัวแบบเฉพาะครอบครัวเดียว (Single Family Office) แต่คนส่วนใหญ่อยากให้ทรัพย์สินของตัวเองอยู่นอก “มือของทางการจีน” ซึ่งในแง่นี้ สิงคโปร์เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าฮ่องกง

“แม้ว่ากฎหมายและผลประโยชน์จะคล้ายกับสิงคโปร์ แต่คำถามที่ซ่อนอยู่ก็ยังเป็นคำถามว่า (ฮ่องกง) ปลอดภัยหรือไม่” เขากล่าว

เกีย เม้ง โลห์ (Kia Meng Loh) หุ้นส่วนอาวุโสและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทกฎหมาย เดนตันส์ โรดีก แอนด์ เดวิดสัน (Dentons Rodyk & Davidson) ก็มีมุมมองที่คล้ายกันว่า ผู้ที่ยังไม่ได้ก่อตั้งสำนักงานครอบครัวอาจมองว่าสิงคโปร์มีข้อได้เปรียบมากกว่าฮ่องกงเล็กน้อยในตอนนี้ เพราะผู้คนที่ต้องการเก็บเงินไว้นอกประเทศจีนอย่างปลอดภัย “อาจคิดว่าฮ่องกงอาจจะไม่ปลอดภัยขนาดนั้น”

อย่างไรก็ตาม ทางการฮ่องกงให้ข้อมูลแย้งข้อสังเกตเหล่านี้ว่า ความสนใจของชาวต่างชาติที่จะตั้งสำนักงานครอบครัวในฮ่องกง “เพิ่มขึ้นอย่างมาก” แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลสถิติยืนยัน ขณะที่บรรดาธนาคารต่างชาติในฮ่องกงก็บอกว่า มีการสอบถามเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานครอบครัวแบบเฉพาะครอบครัวเดียว (Single Family Office) เพิ่มขึ้น แต่ปฏิเสธที่จะให้ตัวเลขจำนวนการจัดตั้งเช่นกัน

ในอีกทางหนึ่ง “ไฟแนนเชียล ไทม์ส” (Financial Times) รายงานว่า ฝั่งสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าก็พบว่ามีการสอบถามและการจดทะเบียนชะลอลงในช่วงเดือนหลัง ๆ มานี้ หลังจากสิงคโปร์ปรับกฎระเบียบใหม่ให้เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันการฟอกเงินผ่านการตั้งสำนักงานครอบครัว หลังจากที่เกิดกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการฟอกเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งการคุมเข้มทำให้ผู้ที่ต้องการจัดตั้งสำนักงานครอบครัวในสิงคโปร์ต้องรอคิวนานถึง 18 เดือน จากก่อนหน้านี้ที่ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

จากความเข้มงวดที่ทำให้ยอดจดทะเบียนในสิงคโปร์ชะลอลง ก็เป็นไปได้ว่า ผู้ที่สนใจตั้งสำนักงานครอบครัวในสิงคโปร์อาจจะพิจารณาตัวเลือกทางฝั่งฮ่องกงด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะมีความสัมพันธ์กันกับข้อมูลที่ทางการและธนาคารในฮ่องกงกล่าวตรงกันว่า มีความสนใจสอบถามถึงการตั้งสำนักงานครอบครัวในฮ่องกงเพิ่มขึ้น โดยที่ยังไม่มีการนำตัวเลขการจัดตั้งมาโชว์