1 ใน 5 ของปลาน้ำจืดทั่วโลกเสี่ยงสูญพันธุ์

แม่น้ำโขง ปลา
ชายไทยตกปลาในแม่น้ำโขง บริเวณ อ.สังคม จ.หนองคาย/ แฟ้มภาพปี 2019 (ภาพโดย Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ราว 1 ใน 5 ของสายพันธุ์ปลาน้ำจืดทั้งหมดในโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน มลพิษ และการทำประมงเกินขนาด 

วันที่ 11 ธันวาคม 2023 เดอะ การ์เดียน (The Guardian) รายงานว่า จากการประเมิน “บัญชีแดง” (IUCN Red List) ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) พบว่า มากกว่า 1 ใน 5 ของปลาน้ำจืดทั่วโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากภาวะโลกร้อน และการทำประมงมากเกินขนาด

การประเมินพบว่า ปลาน้ำจืดซึ่งอยู่ในลิสต์ปลาที่ “ถูกคุกคาม” ล้วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากผลกระทบสืบเนื่องต่าง ๆ เช่น ระดับน้ำที่ลดลง ฤดูกาลที่เปลี่ยนไป และน้ำทะเลหนุนสูงเข้าสู่แม่น้ำ และจากการประเมินพบว่า สายพันธุ์ปลา 3,086 สายพันธุ์จากทั้งหมด 14,898 สายพันธุ์ (คิดเป็น 20.71%) มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

“ปลาน้ำจืดคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของสายพันธุ์ปลาในโลกนี้ที่เรารู้จัก ซึ่งมีความหลากหลายอย่างไม่อาจเข้าใจได้ เนื่องจากระบบนิเวศน้ำจืดคิดเป็นเพียง 1% ของที่อยู่อาศัยทางน้ำเท่านั้น สายพันธุ์ปลาที่หลากหลายเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศและมีความสำคัญต่อการฟื้นตัว [ของระบบ] นี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้คนหลายพันล้านคนที่พึ่งพาระบบนิเวศน้ำจืด และผู้คนหลายล้านคนที่พึ่งพาการทำการประมง” เคธี่ ฮิวจ์ส (Kathy Hughes) จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืดของ IUCN กล่าว 

เธอกล่าวอีกว่า การดูแลให้ระบบนิเวศน้ำจืดได้รับการจัดการอย่างดี ให้สายน้ำยังคงไหลได้อย่างอิสระ มีน้ำเพียงพอ และคุณภาพน้ำที่ดี เป็นสิ่งสำคัญในการหยุดยั้งการลดลงของสายพันธุ์ปลาและรักษาความมั่นคงทางอาหาร การดำรงชีวิต และเศรษฐกิจ ในโลกที่มีมั่นคงและทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนั้น การประเมินล่าสุดนี้ยังพบว่า ต้นมะฮอกกานี ปลาแซลมอนแอตแลนติก และเต่าตนุถูกคุกคามมากขึ้น แต่มีข่าวดีเกี่ยวกับ “ละมั่งไซกา” ซึ่งได้เลื่อนระดับจากสัตว์ประเภท “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” (Critically Endangered) ขึ้นสู่ระดับ “ใกล้ถูกคุกคาม” (Near Threatened) หลังจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น 1,100% ในเวลาเพียง 7 ปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศคาซัคสถาน

ก่อนหน้านี้ ปลาแซลมอนแอตแลนติกจัดว่าเป็นสายพันธุ์แซลมอนที่น่ากังวลน้อยที่สุด แต่ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในสายพันธุ์ “ใกล้ถูกคุกคาม” (Near Threatened) ในบัญชีแดงของ IUCN แล้ว หลังจากจำนวนปลาแซลมอนทั่วโลกลดลง 23% 

ปลาแซลมอนแอตแลนติกซึ่งอาศัยอยู่ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็มได้รับผลกระทบจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างกว้างขวาง ความร้อนของโลก และเขื่อนที่กีดขวางการเข้าถึงแหล่งเพาะพันธุ์ นอกจากนั้น การผสมพันธุ์ปลาแซลมอนในฟาร์มยังทำให้มันมีความสามารถในการปรับตัวต่อความร้อนของโลกน้อยลงด้วย ในขณะเดียวกัน ปลาแซลมอนสีชมพูหรือแซลมอนแปซิฟิกที่เป็นผู้รุกรานกำลังแพร่กระจายไปทั่วยุโรปเหนือ