ภาวะโลกร้อนกับการบริหารจัดการน้ำ เรื่องใหญ่ใกล้ตัวคนไทย

ภาวะโลกร้อน
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

ภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบต่อวัฏจักรน้ำของโลก โดยการหมุนเวียนของน้ำในโลก เช่น ฝนที่เปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งในกรณีของไทย
ผลกระทบเชิงกายภาพจากภาวะโลกร้อนโดยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับน้ำ

ประการแรก อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกิดฝนในไทย อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้การเกิดฝนในไทยมีความแปรปรวนมากขึ้น กล่าวคือ ในช่วงที่มีฝนตก ฝนก็จะตกหนักมาก หรือในช่วงที่มีฝนแล้ง ฝนก็จะแล้งหนักมากเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติราว 33% แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากในเดือน ก.ย. และ ต.ค. ที่ปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติสูงถึง 72% ซึ่งการเกิดฝนในรูปแบบนี้ จะเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ในแต่ละช่วงเวลาและทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมบ่อยขึ้น

ปัญหาเหล่านี้จะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงพืชผลทางการเกษตรและส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในปีนี้และปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2011 เป็นเพียงแค่หนังตัวอย่างเท่านั้น

ซึ่งหากอุณหภูมิโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็จะทำให้ปริมาณฝนในไทยมีความแปรปรวนมากยิ่งขึ้นและทำให้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งรุนแรง ยาวนานและถี่ขึ้นอย่างที่ประเทศไทยไม่เคยพบมาก่อน

ประการต่อมา ภาวะโลกร้อนกำลังทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งในไทย โดยจากข้อมูลขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐ ในปี 2022 พบว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นราว 21-24 เซนติเมตร นับตั้งแต่ปี 1880 เป็นต้นมา ซึ่งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทยที่ยาวกว่า 3,151 กิโลเมตรในหลายมิติ

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง ปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูง ปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าสู่พื้นที่เกษตร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดการสูญเสียพื้นที่บริเวณแนวชายฝั่งและสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน โครงสร้างพื้นฐาน และความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย

และ ประการสุดท้าย ภาวะโลกร้อนมีส่วนทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความต้องการบริโภคน้ำของคน พืชและสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอากาศที่ร้อนขึ้น จะเพิ่มการระเหยของน้ำจากดิน พืช และส่งผลให้ผิวหนังมีการขับเหงื่อออกมาเพิ่มขึ้น

ซึ่งปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างผู้ใช้น้ำกลุ่มต่าง ๆ ในไทยหรือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้หรือในช่วงที่เกิดวิกฤตภัยแล้ง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบทางกายภาพโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำดังกล่าว จึงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจะต้องหันมาให้ความสำคัญและร่วมมือกันอย่างจริงจังกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ

ทั้งในด้านความต้องการ (demand) และการจัดหา (supply) เช่น การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ (water infrastructures) ต่าง ๆ อาทิ บ่อกักเก็บน้ำ หรือออกแบบมาตรการรวมทั้งแนวทางที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เป็นต้น

ประสบการณ์จากหลายประเทศเป็นเครื่องยืนยันว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรม คือตัวช่วยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำได้ ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตนมผงของเนสท์เล่ประเทศเม็กซิโกที่ใช้เทคโนโลยีดึงน้ำออกมาจากนมที่แปรรูป

ซึ่งทำให้โรงงานมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้โดยที่ไม่ต้องพึ่งน้ำจากแหล่งภายนอก หรือสิงคโปร์ที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลน้ำตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งช่วยทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำแบบเรียลไทม์อย่างมีประสิทธิภาพ

หรือแม้แต่อิสราเอลก็มีการพัฒนานวัตกรรมชลประทานน้ำหยด ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำในภาคเกษตรได้อย่างมหาศาลและมีการพัฒนาโครงข่ายน้ำด้วยระบบท่อใต้ดินที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้สามารถผันน้ำจากพื้นที่ที่มีน้ำส่วนเกินไปสู่พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำได้

เช่นเดียวกับโครงการเดลตาเวิร์กส์ (Delta Works) ของเนเธอร์แลนด์ ที่มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น คันกั้นน้ำ จนทำให้เนเธอร์แลนด์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการบริหารจัดการน้ำและป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบต่อ “น้ำ” ซึ่งเป็นทรัพยากรมีความสำคัญอย่างมากต่อวิถีชีวิตคนไทย ดังนั้น การเร่งยกระดับขีดความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านน้ำ จึงมิใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง