“เมียนมา” แซง “อัฟกานิสถาน” ขึ้นเป็นประเทศที่ผลิตฝิ่นมากสุดในโลก

เมียนมา ฝิ่น
พื้นที่ปลูกฝิ่นในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา/ แฟ้มภาพ ปี 2019 (ภาพโดย Ye Aung THU / AFP)

“เมียนมา” แซง “อัฟกานิสถาน” ขึ้นเป็นประเทศที่ผลิตฝิ่นมากที่สุดในโลกแล้ว เนื่องจากการปลูกฝิ่นในเมียนมาพุ่งสูงขึ้นหลังจากรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ขณะที่การปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถานลดฮวบลง

วันที่ 12 ธันวาคม 2023 มติชนรายงานอ้างอิงสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) และรอยเตอร์ (Reuters) ซึ่งอ้างรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ว่า เมียนมาแซงหน้าอัฟกานิสถานขึ้นเป็นประเทศที่เป็นแหล่งผลิตฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว เนื่องจากอัฟกานิสถานลดการเพาะปลูกลงตามคำสั่งแบนยาเสพติดของกลุ่มทาลิบัน

รายงานของ UNODC แจ้งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมว่า อัฟกานิสถานผลิตฝิ่นลดลงไปถึง 95 เปอร์เซ็นต์ หลังจากกลุ่มทาลิบันสั่งแบนยาเสพติดเมื่อปี 2022 ขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่ไม่มีเสถียรภาพของเมียนมา เนื่องจากการรัฐประหารเมื่อปี 2021 ทำให้ในเมียนมามีการปลูกฝิ่นกันมากขึ้น

UNODC ระบุด้วยว่า ปัจจุบันเกษตรกรชาวเมียนมามีรายได้จากการปลูกฝิ่นมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ราคาเฉลี่ยของฝิ่นตอนนี้สูงขึ้นไปอยู่ที่ราว 355 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม และมีการปลูกฝิ่นเพิ่มมากขึ้นราว 18 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จาก 450 ตารางกิโลเมตร เพิ่มเป็น 470 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

เจเรมี ดักลาส (Jeremy Douglas) ผู้แทนประจำภูมิภาคของ UNODC กล่าวว่า การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการปกครอง ที่เกิดขึ้นหลังจากการเข้ายึดอำนาจของทหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ยังคงผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลหันไปหาเลี้ยงชีพจากฝิ่น และการต่อสู้ระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มกองกำลังของชนกลุ่มน้อย อาจจะยิ่งทำให้การปลูกฝิ่นแผ่ขยายออกไปมากขึ้น

รายงานของ UNODC ระบุด้วยว่า พื้นที่การปลูกฝิ่นได้แผ่ขยายออกไปส่วนใหญ่บริเวณชายแดนของเมียนมา ที่ตอนเหนือของรัฐฉาน ตามด้วยรัฐชิน และรัฐคะฉิ่น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงต้นปี 2023 UNODC ออกรายงานระบุว่า ในปี 2022 การปลูกฝิ่นในประเทศเมียนมาพุ่งขึ้น 33% ต่อเนื่องจากในปี 2021 ที่การปลูกฝิ่นในเมียนมาเพิ่มขึ้นสวนทางกับแนวโน้มที่ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจของเมียนมาถดถอยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ค่าเงินจ๊าตร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ราคาอาหารและเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้น ประชาชนในเมียนมาไม่มีทางอื่นในการทำมาหาเลี้ยงชีพ

“หากไม่มีทางเลือกอื่น และไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ก็มีแนวโน้มว่าการปลูกและการผลิตฝิ่นจะยังคงขยายตัวต่อไป” เบเนดิกต์ ฮอฟมันน์ (Benedikt Hofmann) ผู้จัดการ UNODC ประจำเมียนมาเตือน