เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล : เป้าท้าทายที่อยู่อีกไกล เมื่อผู้ผลิตน้ำมันย่อมไม่ยอมเสียความมั่งคั่ง

COP28 เชื้อพลิงฟอสซิล น้ำมัน
นักกิจกรรมขึ้นไปประท้วงเวทีประชุม COP28 เรียกร้องให้มีการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (ภาพจากวิดีโอ โดย AFPTV/ AFP)

การประชุม COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม 2023 มีรัฐภาคีอย่างน้อย 80 รัฐเรียกร้องให้ที่ประชุมมีข้อตกลงยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นภารกิจที่รัฐภาคีพยายามให้มีการบรรลุข้อตกลงกันมาหลายปี แต่ยังทำไม่สำเร็จ และในการประชุม COP28 นี้ก็เช่นเคย 

สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เป็นหัวหอกของแนวร่วม 80 รัฐสมาชิกที่ผลักดันข้อตกลง COP28 เพื่อยุติการใช้พลังงานฟอสซิล โดยมีประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กร่วมผลักดันอย่างแข็งขัน แต่การจะบรรลุข้อตกลงในเรื่องนี้ยากตรงที่ประเทศสมาชิกที่เป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันย่อมจะไม่ยอม 

ข้อตกลง COP28 มีทางเลือกเกี่ยวกับอนาคตการใช้พลังงานฟอสซิล 3 ทาง ได้แก่ การทยอยเลิกใช้พลังงานฟอสซิล โดยเริ่มจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีการใช้พลังงานฟอสซิลเยอะก่อน ทางที่สองคือ เร่งยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพียงพอ (unabated fossil fuels) หรือทางที่สาม คือ ไม่กล่าวถึงเรื่องการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในข้อตกลง COP28 เลย ปล่อยให้ใช้กันต่อไป 

แน่นอนว่าไม่ผิดความคาดหมายที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน หรือกลุ่มโอเปก (OPEC) ซึ่งมั่งคั่งจากการผลิตและค้าน้ำมันได้รวมพลังกันยับยั้งข้อเสนอที่จะยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หลังจากที่เลขาธิการโอเปกส่งจดหมายถึงสมาชิกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมให้ปฏิเสธข้อตกลงยุติการใช้พลังงานฟอสซิล

ซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโอเปกและเป็นผู้นำกลุ่มในทางพฤตินัยร่วมกับรัสเซียซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรใน OPEC+ นำทีมประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มแย้งว่า จุดโฟกัสของ COP28 ควรอยู่ที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่การมุ่งเป้าไปที่แหล่งเชื้อเพลิง

อาห์เหม็ด อัล-จาเบอร์ (Ahmed Al-Jaber) ผู้แทนพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ UAE ซึ่งเป็น “ประธาน COP28” และเป็นซีอีโอบริษัทน้ำมันกล่าวว่า เลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ผลิตน้ำมันจะต้องลดกำลังการผลิตลง แต่ไม่มีวิทยาศาสตร์รองรับว่าการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยสิ้นเชิงนั้นจะทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้น แต่ในเวลาต่อมาเขาแก้ข่าวว่าคำพูดของเขาถูกตีความผิด และบอกว่า UAE เข้าใจถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการเรื่องนี้ และเคารพต่อวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก

UAE-UN-CLIMATE-COP28
บรรยากาศในงาน COP28 (ภาพโดย Giuseppe CACACE / AFP)

ส่วนผู้แทนจากจีน ประเทศยักษ์ใหญ่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก กล่าวว่า ข้อตกลง COP28 จะถือว่าประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย แต่ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลจีนสนับสนุนข้อตกลงยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือไม่

ท่าทีและความเคลื่อนไหวของโอเปกได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จาก วอปเกอ ฮุกสตรา (Wopke Hoekstra) กรรมาธิการด้านสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป (EU) ว่า เป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ช่วยอะไร และไม่สอดคล้องกับจุดยืนของโลกในแง่สถานการณ์สภาพภูมิอากาศที่อยู่ในระดับรุนแรง และกล่าวเหน็บแนมว่า กลุ่มโอเปกคิดถึงผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าผลประโยชน์โดยรวมของโลก

“โดยพื้นฐานแล้ว เราไม่ได้ให้ความสนใจกับผลประโยชน์ของชาติหรือผลประโยชน์ทางการเงินที่มีคำจำกัดความแคบ ๆ ของเรา… เรามาที่นี่เพื่อทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับอนาคตของโลก” เขาบอกกับรอยเตอร์ในวันที่ 9 ธันวาคม

เทเรซา ริเบรา (Teresa Ribera) รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนผ่านทางระบบนิเวศของสเปน เป็นอีกคนจากอียูให้สัมภาษณ์ “โพลิติโก” (Politico) โดยซัดประธาน COP28 ตรง ๆ ว่า สุลต่านอัล-จาเบอร์ ประธาน COP28 ซึ่งเป็นซีอีโอของบริษัทน้ำมันจำเป็นต้องมีบทบาทเชิงรุก

“เราอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งเราต้องการการมีส่วนร่วมที่ชัดเจนจากประธาน COP28” เธอกล่าว

ฝั่งกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (G77) ก็ซัดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างแรง โดยดิเอโก ปาเชโก (Diego Pacheco) หัวหน้าโฆษกของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงจีน อินเดีย และซาอุดีอาระเบีย กล่าวหาสหรัฐ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย และแคนาดา ว่าเป็นคนหน้าซื่อใจคดที่สนับสนุนข้อตกลงที่จะยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะเดียวกันก็วางแผนที่จะขยายการผลิตของตนเอง

หลังจากมีการถกเถียงทั้งทางตรงและทางอ้อมกันมาหลายวัน โดยไม่มีทีท่าว่าจะบรรลุข้อตกลงที่ก้าวหน้า ในเช้าวันที่ 11 ธันวาคม อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เรียกร้องให้มีการทำข้อตกลงการประชุม COP28 เกี่ยวกับการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยบอกกับผู้เจรจาว่า “ตอนนี้เป็นเวลาสำหรับความทะเยอทะยานสูงสุดและความยืดหยุ่นสูงสุด” 

จากนั้น ในช่วงเย็นของวันที่ 11 ธันวาคม มีการเผยแพร่ร่างข้อตกลง COP28 ฉบับใหม่ ซึ่งไม่ได้เอ่ยถึงการเลิกใช้พลังงานฟอสซิลโดยตรง แต่เนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานฟอสซิลกล่าวว่า ทุกฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเชิงลึก รวดเร็ว และยั่งยืน และเรียกร้องให้ภาคีต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งแนวปฏิบัติที่แนะนำบางส่วน ได้แก่ 

(a) เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนทั่วโลกเป็น 3 เท่า และเพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานโดยเฉลี่ยทั่วโลกเป็น 2 เท่า ภายในปี 2030 

(b) ยุติการใช้ถ่านหินแบบที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพียงพอ (unabated coal) และมีข้อจำกัดในการอนุญาตการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแบบ unabated coal 

(c)  เร่งความพยายามทั่วโลกไปสู่ระบบพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์และปล่อยคาร์บอนต่ำก่อนหรือประมาณปี 2050  

(e) การลดทั้งการใช้และการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในลักษณะที่ยุติธรรม เป็นระเบียบเรียบร้อย และเท่าเทียมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) ภายในหรือก่อนปี 2050 

ความเคลื่อนไหวและ (วิ) วาทะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เน้นย้ำให้เห็นถึงความแตกแยกระดับลึกในหมู่ประเทศรัฐภาคี COP และเป็นการเน้นย้ำว่า ระยะทางยังอีกไกล กว่าที่โลกของเราจะเดินทางไปถึงจุดที่ทั่วโลกเลิกใช้น้ำมันและก๊าซ หรือพลังงานแบบดั้งเดิม เพราะประเทศผู้ผลิตน้ำมันย่อมไม่ยอมปล่อยให้ความมั่งคั่งของตนเองหายไป