COP28 ปิดฉากด้วยข้อตกลงเรียกร้อง “เปลี่ยนผ่านเชื้อเพลิงฟอสซิล” ที่ไม่ก้าวหน้าเท่าที่หวัง

COP28
ประชุม COP28 วันที่ 13 ธันวาคม 2023 (ภาพโดย Giuseppe CACACE / AFP)

การประชุม COP28 ปิดฉากด้วยข้อตกลงที่เรียกร้อง “เปลี่ยนผ่านเชื้อเพลิงฟอสซิล” แม้ว่าจะเป็นความก้าวหน้าระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ก้าวหน้ามากอย่างที่กว่า 100 ประเทศผลักดันให้ข้อตกลงเรียกร้อง “ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” 

วันที่ 13 ธันวาคม 2023 ผู้แทนจากเกือบ 200 รัฐภาคีในที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เห็นพ้องกันในการที่จะเริ่มลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลก เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายขั้นสูงสุด เป็นข้อตกลงครั้งแรกที่ส่งสัญญาณการสิ้นสุดยุคน้ำมันในที่สุด 

ข้อตกลง COP28 เรียกร้องให้ “เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงาน ในลักษณะที่ยุติธรรม เป็นระเบียบเรียบร้อย และเท่าเทียมกัน … เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามหลักวิทยาศาสตร์”

นอกจากนี้ ข้อตกลงยังเรียกร้องให้เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนขึ้นเป็นสามเท่าทั่วโลกภายในปี 2030 โดยเร่งความพยายามในการลดการใช้ถ่านหิน และเร่งเทคโนโลยี เช่น การดักจับคาร์บอนและการจัดเก็บที่สามารถทำความสะอาดอุตสาหกรรมที่กำจัดคาร์บอนได้ยาก

ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาที่มีการต่อสู้กันอย่างหนักมาเป็นเวลาสองสัปดาห์ เป็นข้อตกลงที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งสัญญาณอันทรงพลังไปยังนักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายว่า โลกเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความปรารถนาที่จะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เป็นความหวังที่ดีที่สุดในการที่จะหยุดยั้งหายนะทางสภาพภูมิอากาศ 

สุลต่านอาห์เหม็ด อัล-จาเบอร์ (Ahmed Al-Jaber) ประธาน COP28 เรียกข้อตกลงนี้ว่า “เป็นประวัติศาสตร์” แต่เสริมว่า ความสำเร็จที่แท้จริงของข้อตกลงนี้อยู่ที่การนำไปปฏิบัติ  

“เราคือสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่สิ่งที่เราพูด” เขากล่าวกับที่ประชุมใหญ่ที่มีผู้คนหนาแน่น “เราต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อเปลี่ยนข้อตกลงนี้ให้เป็นการกระทำที่จับต้องได้” ประธาน COP28 กล่าว 

COP28
อาห์เหม็ด อัล-จาเบอร์ (กลาง-เสื้อเทา) ในการประชุม COP28 วันที่ 13 ธันวาคม 2023 (ภาพโดย Giuseppe CACACE/AFP)

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของข้อตกลงนี้ยัง “อ่อน” กว่าที่หลายประเทศและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมคาดหวัง มีภาคีกว่า 100 ประเทศทั่วโลกที่พยายามกดดันให้ใช้ภาษารุนแรงในข้อตกลง COP28 โดยเรียกร้องให้ “ยุติ” การใช้น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน แต่ถูกต่อต้านอย่างแข็งขันจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งแย้งว่าโลกสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยไม่ต้องเลี่ยงการใช้งานเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

การต่อสู้ของสองฝั่งที่เห็นต่าง ทำให้การประชุมสุดยอด COP28 ที่จะต้องจบลงในวันอังคารที่ 12 ธันวาคม ต้องประชุมล่วงเวลามาจนถึงวันพุธที่ 13 ธันวาคม และทำให้ผู้สังเกตการณ์บางคนกังวลว่าการเจรจาจะสิ้นสุดลงด้วยทางตัน แต่ในที่สุดที่ประชุมก็หาทางออกได้ด้วยข้อตกลงที่เป็นระดับ “กลาง ๆ” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ 

ตัวแทนของซาอุดีอาระเบียที่เป็นผู้นำโดยพฤตินัยของกลุ่มโอเปกยินดีกับข้อตกลงนี้ โดยกล่าวว่าข้อตกลงนี้จะช่วยโลกจำกัดภาวะโลกร้อนให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงเวลาก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมตามที่กำหนดเป้าหมายไว้ในข้อตกลงปารีสปี (Paris Agreement) ปี 2015 แต่ก็ยังย้ำจุดยืนของผู้ผลิตน้ำมันในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันกล่าวก่อนหน้านี้ว่า โลกต้องมุ่งไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยไม่มุ่งเป้าที่ที่มาและประเภทของเชื้อเพลิง 

ประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่น ๆ อีกหลายประเทศ รวมถึง UAE ประเทศเจ้าภาพการประชุมได้สนับสนุนแนวทางการใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน แต่นักวิจารณ์กล่าวว่าเทคโนโลยีนี้ยังมีราคาแพงและไม่ได้รับการพิสูจน์ในวงกว้างว่าใช้ได้ผลจริง พร้อมกับโต้ว่านี่เป็น false flag หรือการจัดฉากเพื่อหาเหตุผลที่จะขุดเจาะน้ำมันต่อไป 

หลังที่ประชุมบรรลุข้อตกลงดังกล่าว อันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวโดยโพสต์ข้อความผ่าน X ว่า สำหรับผู้ที่คัดค้านการยุติการใช้เชื้อเพลงฟอสซิลในระหว่างการประชุม COP28 “ผมอยากบอกคุณว่า ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม การยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และหวังว่ามันจะไม่สายเกินไป” 

ด้านอดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ (Al Gore) ของสหรัฐยินดีกับข้อตกลงดังกล่าว แต่เขาก็กล่าวว่า “อิทธิพลของปิโตรสเตตยังคงปรากฏชัดในมาตรการครึ่ง ๆ กลาง ๆ และช่องโหว่ที่อยู่ในข้อตกลงสุดท้าย”