คนรวยสุดในโลก 5 คนรวยขึ้น $464,000 ล้าน ขณะที่คน 60% ของโลก “ยากจนลง”

เก็บภาษีคนรวย
มาร์ลีน เองเกลฮอร์น (Marlene Engelhorn) มหาเศรษฐีชาวออสเตรีย ทายาท BASF ร่วมแคมเปญ Tax The Rich เรียกร้องเก็บภาษีคนรวย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2024 ที่ทางเข้าศูนย์การประชุมดาวอส ที่จัดงาน WEF (ภาพโดย Fabrice COFFRINI / AFP)

ในขณะที่เหล่าผู้มั่งคั่งและผู้กำหนดนโยบายไปรวมตัวกันในการประชุม เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum : WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฝั่งองค์กรการกุศล “ออกซ์แฟม” (Oxfam) ที่เน้นทำงานบรรเทาความยากจนและความเหลื่อมล้ำก็ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เก็บภาษีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 

รายงานของออกซ์แฟมซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 15 มกราคม 2024 กล่าวว่า คนที่รวยที่สุดในโลก 1% เป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางการเงิน 59% ของทั้งหมดในโลก และความมั่งคั่งรวมของคนที่รวยที่สุดในโลก 5 อันดับแรกเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 869,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30,847,760 ล้านบาท) ในช่วงเวลา 3 ปี จากปี 2020 ถึงปี 2023 ขณะที่ผู้คนคิดเป็น 60% ของประชากรโลกมีฐานะยากจนลง 

ออกซ์แฟมบอกรายละเอียดซึ่งรวบรวมข้อมูลจากบริษัทวิจัยเวลธ์ เอ็กซ์ (Wealth X) และฟอร์บส (Forbes) ว่า ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีที่รวยที่สุด 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอเทสลา (Tesla) เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) ซีอีโอแอลวีเอ็มเอช (LVMH) เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ซีอีโอแอมะซอน (Amazon) แลร์รี เอลลิสัน (Larry Ellison) ผู้ก่อตั้งโอราเคิล (Oracle) และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ได้รับแรงหนุนอย่างแข็งแกร่งจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

โดยความมั่งคั่งของพวกเขาเพิ่มขึ้นรวมกัน 464,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 16,471,070 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 114% ในช่วงปี 2020 ถึง 2023 

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สินทรัพย์รวมของกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดจำนวน 4,770 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 60% ของประชากรโลกลดลง 0.2% 

และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนทำงานเกือบ 800 ล้านคนเดือดร้อนจากการที่ค่าจ้างของพวกเขาเพิ่มขึ้นไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลเท่ากับการสูญเสียรายได้จากการทำงานไปเฉลี่ยคนละ 25 วันต่อปี 

มีเนื้อหาบางส่วนในรายงานที่กล่าวถึง เจฟฟ์ เบโซส์ เป็นพิเศษ โดยระบุว่า เขาเป็นหนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ความมั่งคั่งของเขาอยู่ที่ 167,400 ล้านดอลลาร์ ในปี 2023 เพิ่มขึ้น 32,700 ล้านดอลลาร์ จากปี 2020 ในขณะที่บริษัทแอมะซอนของเขามีประวัติในการพยายามป้องกันไม่ให้คนงานรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน 

รายงานของออกซ์แฟมประมาณการว่า ใน 1 ปีล่าสุดเพียงปีเดียว (นับถึงมิถุนายน 2023) บริษัทชั้นนำของโลก 148 แห่งทำกำไรได้ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับกำไรเฉลี่ย 3 ปี (2020-2023) นั่นหมายความว่าในช่วงที่เงินเฟ้อสูง บริษัทเหล่านี้ยิ่งทำกำไรได้มากขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถจ่ายผลตอบแทนจำนวนมากให้แก่ผู้ถือหุ้น ในขณะที่คนทำงานหลายล้านคนต้องเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงมีค่าน้อยลง 

นอกจากนั้น การศึกษาของออกซ์แฟมพบว่า ในบรรดาบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 1,600 แห่ง มีเพียง 0.4% เท่านั้นที่ให้คำมั่นต่อสาธารณะว่าจะจ่ายค่าจ้างที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพให้กับคนทำงาน และสนับสนุนการจ่ายค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) 

ออกซ์แฟมเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมอำนาจของบริษัทโดยการทำลายการผูกขาด เก็บภาษีจากกำไรและความมั่งคั่งส่วนเกิน และส่งเสริมทางเลือกในการควบคุมผู้ถือหุ้น เช่น การให้ผลตอบแทนพนักงานเป็นหุ้นเพื่อให้พนักงานมีส่วนในการเป็นเจ้าของบริษัท 

อาลีมา ชิฟจี (Aleema Shivji) ผู้บริหารระดับสูงชั่วคราวของออกซ์แฟม กล่าวว่า ความสุดโต่งเหล่านี้ไม่สามารถยอมรับได้ว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ โลกไม่สามารถยอมให้เกิดทศวรรษแห่งการแบ่งแยกได้อีก ความยากจนข้นแค้นในประเทศที่ยากจนที่สุดยังคงสูงกว่าก่อนเกิดโรคระบาด แต่คนที่ร่ำรวยจำนวนไม่มากกำลังแข่งขันกันเพื่อเป็นมหาเศรษฐีล้านล้าน (trillionaire) คนแรกของโลกภายใน 10 ปีข้างหน้า 

“ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนที่เหลือที่ขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลทั่วโลกกำลังตัดสินใจเลือกทางการเมือง โดยเจตนาที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมการกระจุกตัวของความมั่งคั่งที่บิดเบี้ยว ในขณะที่ผู้คนหลายร้อยล้านคนดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจน เศรษฐกิจที่ยุติธรรมยิ่งขึ้นนั้นเป็นไปได้ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เหมาะกับเราทุกคน สิ่งที่จำเป็นคือ นโยบายร่วมกันที่ให้มีการเก็บภาษีที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น และให้การสนับสนุนสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้มีสิทธิพิเศษเท่านั้น”  

นอกจากออกซ์แฟมแล้ว บรรดาผู้ร่ำรวยจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนการเก็บภาษีผู้มั่งคั่งก็ได้ออกมาร่วมเรียกร้องการเก็บภาษีด้วย ตามรายงานข่าวในวันที่ 17 มกราคม 2024 มีเศรษฐีและมหาเศรษฐีจำนวน 250 คนลงชื่อเรียกร้องให้การประชุม World Economic Forum มีการนำเสนอเรื่องภาษีความมั่งคั่ง เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในการพัฒนาการบริการสาธารณะให้ดีขึ้นทั่วโลก 

“คำขอของเรานั้นง่ายมาก เราขอให้คุณเก็บภาษีเรา ซึ่งเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในสังคม … สิ่งนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงมาตรฐานการครองชีพของเราโดยพื้นฐาน ไม่ลิดรอน (ความมั่งคั่งของ) ลูกหลานของเรา และไม่เป็นอันตรายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศของเรา แต่มันจะเปลี่ยนความมั่งคั่งส่วนบุคคลสุดโต่งและความมั่งคั่งที่ไม่ก่อผลให้กลายเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกันของเรา” เหล่าผู้มั่งคั่งกล่าวในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำโลก