ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย 15-17 มีนาคมนี้ 

เลือกตั้งรัสเซีย
การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ในกรุงมอสโก วันที่ 15 มีนาคม 2024 (ภาพโดย NATALIA KOLESNIKOVA / AFP)

รัสเซีย ประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการกำหนดสถานการณ์ความสงบหรือไม่สงบของโลก กำลังจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่ในช่วงวันที่ 15-17 มีนาคม 2024 นี้ 

การเลือกตั้งประธานาธิบดี “รัสเซีย” จะไม่มีอะไรต้องลุ้น เพราะผลการเลือกตั้งเป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่า “วลาดิมีร์ ปูติน” (Vlardimir Putin) ที่เป็นผู้นำประเทศมาแล้ว 25 ปี จะได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย ซึ่งนั่นจะทำให้เขาครองตำแหน่งไปจนถึงปี 2030 เป็นอย่างน้อย 

การเลือกตั้งรัสเซียถูกยกให้เป็น “การเลือกตั้งที่หลอกลวงที่สุดในโลก” ท่ามกลางการเลือกตั้งในกว่า 40 ประเทศ/เขตแดนทั่วโลกในปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม “ประชาชาติธุรกิจ” อยากชวนมาดูข้อมูลพื้นฐานและประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งรัสเซียครั้งนี้ 

พื้นที่ ประชากร 

รัสเซียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ 17.098 ล้านตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่าประเทศไทย 33 เท่า) โดยมีระยะทางจากด้านตะวันออกจรดตะวันตก 9,000 กิโลเมตร และระยะทางจากด้านเหนือจรดใต้ 4,000 กิโลเมตร 

ประชากรมีจำนวนประมาณ 145.45 ล้านคน โดยปกติแล้วประชาชนชาวรัสเซียออกมาลงคะแนนเสียงประมาณ 70-80 ล้านคน คิดเป็น 67.5% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

การเลือกตั้งครั้งนี้จะจัดขึ้นใน 4 พื้นที่ “ดินแดนใหม่” ซึ่งเป็นดินแดนของยูเครนที่รัสเซียผนวกเอามาหลังจากเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อต้นปี 2022 ด้วย

เลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย
การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ในเมืองโนโวซีบีรสค์ (ภาพโดย Vladimir NIKOLAYEV / AFP)

จัดเลือกตั้งประธานาธิบดี 3 วัน ครั้งแรก 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่จัดการเลือกตั้ง 3 วัน (15-17 มีนาคม) จากเดิมที่จัดการเลือกตั้ง 1 วันมาตลอด 

สำหรับผลการเลือกตั้งคาดว่าจะทราบในคืนวันที่ 17 มีนาคม ตามเวลากรุงมอสโก 

การเลือกตั้ง 3 วันถูกนำมาใช้ในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้งท้องถิ่น ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ในปี 2021 

กกต.รัสเซียบอกว่าประชาชนชื่นชอบการเลือกตั้งรูปแบบนี้ จึงได้นำมาใช้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดี 

“การลงคะแนนเสียงเป็นเวลา 3 วัน กำลังกลายเป็นประเพณีในระบบการเลือกตั้งของเราไปแล้ว” เอลลา ปัมฟิโลวา (Ella Pamfilova) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางแห่งรัสเซีย (CEC) กล่าว 

ขณะที่นักวิจารณ์โต้แย้งว่า การเพิ่มระยะเวลาการลงคะแนนเสียงทำให้การโกงเลือกตั้งทำได้ง่ายขึ้น

เลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย
การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ในกรุงมอสโก วันที่ 15 มีนาคม 2024 (ภาพโดย STRINGER / AFP)

ใครคือคู่แข่งของปูติน ? 

การเลือกตั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ปูตินไม่มีคู่แข่ง เพราะฝ่ายค้านที่ชัดเจนเพียงคนเดียว คือ บอริส นาเดชดิน (Boris Nadezhdin) ซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยม ถูกศาลตัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง 

ส่วนผู้สมัครคนอื่น ๆ ล้วนแต่เป็นแนวร่วมของปูตินทั้งหมด 

นิโคไล คาริโตนอฟ (Nikolai Kharitonov) วัย 65 ปี จากพรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Party) อาจจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายภายในประเทศบางอย่างของปูติน แต่เขาก็สนับสนุนคำสั่งรุกรานยูเครนของปูติน 

ลีโอนิด สลัตสกี (Leonid Slutsky) วัย 56 ปี จากพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party) ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมที่จงรักภักดีต่อปูตินกล่าวว่า เขาจะไม่ระดมเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งสู้ปูติน 

วลาดิสลาฟ เอ. ดาวานคอฟ (Vladislav A. Davankov) ผู้สมัครอายุน้อยที่สุดวัย 40 ปี จากพรรคประชาชนใหม่ (New People Party) แม้จะนำเสนอภาพลักษณ์ว่าเป็น “เสรีนิยม” และเรียกร้องสันติภาพในยูเครน แต่โดยพื้นฐานเขาก็สนับสนุนปูติน 

เลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย
กระดานชื่อและประวัติผู้สมัครรับเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในกรุงมอสโก (ภาพโดย NATALIA KOLESNIKOVA / AFP)

ปูตินจะเป็นประธานาธิบดีไปตลอดชีวิตได้หรือไม่ ?

ปูตินรับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจาก บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ครั้งแรกเมื่อปี 2000 ตอนนั้นเขาบอกว่ารัฐธรรมนูญของรัสเซียจะเป็นตัวกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งของเขา แต่แล้วจากนั้นเขาก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ยาว 

ในปี 2008 เขาต้องลาออกจากตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” ตามที่รัฐธรรมนูญจำกัดวาระดำรงตำแหน่งเอาไว้ แล้วเขาก็ไปเป็น “นายกรัฐมนตรี” ภายใต้ประธานาธิบดี ดมิตรี เอ. เมดเวเดฟ (Dmitri A. Medvedev) โดยที่เขายังมีอำนาจชักใยอยู่เบื้องหลัง ในปี 2008 นั้นเอง รัฐบาลรัสเซียเสนอให้ขยายเวลาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจากวาระ 4 ปี เป็น 6 ปี

แล้วในปี 2014 ปูตินก็กลับคืนสู่ตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” อีกครั้ง 

ในปี 2014 เมื่อถูกถามว่าจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปตลอดหรือไม่ เขาตอบว่า “นี่เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นผลเสียต่อประเทศ และผมก็ไม่ได้ต้องการให้เป็นเช่นนั้น” ก่อนจะกล่าวเสริมว่า “เราจะได้เห็นกันว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม อายุงานของผมก็ถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ” 

ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีถูกขยายออกไปเป็น 6 ปีก่อนการเลือกตั้งปี 2018 จากนั้นในปี 2020 ปูตินได้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งได้อีกอย่างน้อย 2 วาระจนถึงปี 2036 ซึ่งก่อนจะไปถึงตอนนั้น ถ้าเขายังอยากเป็นประธานาธิบดี เขาก็คงจะหาทางทำให้ตัวเองได้อยู่ต่อไปอีก 

และหากเขาไม่เป็นอะไรไปเสียก่อนจะหมดวาระ 5 ในปี 2030 นี้ เขาก็จะกลายเป็นผู้นำรัสเซียที่ครองอำนาจนานที่สุด แซงหน้าโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ที่เป็นผู้นำสหภาพโซเวียตนาน 29 ปี