สหรัฐฟ้องเบรกควบบริษัทแบรนด์หรู Coach-Michael Kors ผู้เชี่ยวชาญแย้ง ไม่ผูกขาด

Coach - Michael_Kors

คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FTC) ได้ยื่นฟ้อง เพื่อระงับการควบรวมกิจการบริษัทเจ้าของแบรนด์หรู โค้ช (Coach) กับบริษัทเจ้าของไมเคิล คอร์ส (Michael Kors) และเวอร์ซาเช (Versace) ท่ามกลางข้อถกเถียง นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการผูกขาดยังแย้งว่า ไม่เป็นการผูกขาด   

รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2024 คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Trade Commission : FTC) ได้ยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อขัดขวางไม่ให้ ทาเพสทรี (Tapestry) บริษัทเจ้าของแบรนด์โค้ช (Coach) และ เคท สเปด นิวยอร์ก (Kate Spade New York) ซื้อกิจการบริษัท คาพรี โฮลดิงส์ (Capri Holdings) เจ้าของแบรนด์สินค้าหรู ไมเคิล คอร์ส (Michael Kors) และเวอร์ซาเช (Versace) 

ทั้งนี้ ทาเพสทรีได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ คาพรี โฮลดิงส์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 ด้วยข้อเสนอมูลค่า 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 314,716 ล้านบาท) โดยหวังจะสร้างบริษัทยักษ์แฟชั่นสัญชาติสหรัฐที่สามารถแข่งกับคู่แข่งในยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกับ แอลวีเอ็มเอช (LVMH) อาณาจักรแบรนด์หรูเบอร์ 1 ของโลก เจ้าของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) และอีกมากมายหลายสิบแบรนด์ แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2023 FTC ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อตกลงของทั้งสองบริษัท 

คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FTC) ให้เหตุผลการฟ้องเพื่อขัดขวางการซื้อกิจการดังกล่าวว่า การซื้อและควบรวมกิจการจะเป็นการขจัด “การแข่งขันแบบตัวต่อตัวโดยตรง” ระหว่างแบรนด์กระเป๋าหรูที่เป็นแบรนด์เรือธงของทั้งสองบริษัท ซึ่งเดิมเป็นคู่แข่งกันโดยตรง 

นอกจากนั้น ในแถลงการณ์ของ FTC กล่าวว่า การควบรวมกันของสองบริษัทซึ่งจะเป็นบริษัทที่มีพนักงานประมาณ 33,000 คนทั่วโลก อาจจะนำไปสู่การลดค่าจ้างและผลประโยชน์ของพนักงานลงได้

“ข้อเสนอการควบรวมกิจการขู่ว่าจะกีดกันผู้บริโภคชาวอเมริกันหลายล้านคนจากผลประโยชน์ที่จะได้จากการแข่งขันแบบตัวต่อตัวระหว่างทาเพสทรีกับคาพรี ซึ่งรวมถึงการแข่งขันด้านราคา ส่วนลดและโปรโมชั่น นวัตกรรม การออกแบบ การตลาด และการโฆษณา” FTC กล่าว 

ถึงแม้ FTC มีเหตุผลอธิบาย แต่ก็มีข้อถกเถียงค่อนข้างมากเกี่ยวกับการฟ้องร้องของ FTC เนื่องจากดีลซื้อ-ขายกิจการนี้ได้รับการอนุมัติจากสหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่นแล้วเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

โจแอนน์ เครวัวเซอรัต (Joanne Crevoiserat) ซีอีโอของทาเพสทรี กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ทาเพสทรีภาคภูมิใจกับค่าจ้างและสวัสดิการที่บริษัทมอบให้กับพนักงาน และการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งพนักงานที่มีความสามารถนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น (เธอสื่อว่าแม้ว่าจะควบรวมกับบริษัทในอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยกันแล้ว บริษัทก็ยังคงต้องแข่งขันกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ดังนั้นผลประโยชน์ของพนักงานจะไม่ได้ลดน้อยลงไปตามที่ FTC กังวล-ผู้เรียบเรียง) 

“เรามองว่า FTC มีความเข้าใจผิดโดยพื้นฐานเกี่ยวกับตลาดและวิธีที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าในปัจจุบัน รวมถึงผลกระทบของข้อตกลงนี้ที่จะเกิดต่อพนักงานและคนงานในอุตสาหกรรมของเรา” ซีอีโอทาเพสทรีกล่าว 

“เราจัดหาผู้มีความสามารถเข้ามา และได้สูญเสียผู้มีความสามารถให้กับคู่แข่งไปเป็นจำนวนมาก” เธอกล่าวเสริม

ส่วนคาพรี โฮลดิงส์ ฝ่ายที่จะขายกิจการก็ออกแถลงการณ์แย้งว่า “คาพรี โฮลดิงส์ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการตัดสินใจของ FTC … สภาพความเป็นจริงของตลาดซึ่งคำร้องของรัฐบาลได้ละเลยส่วนนี้ไป แสดงให้เห็นอย่างท่วมท้นว่าธุรกรรมนี้จะไม่จำกัด ลด หรือระงับการแข่งขัน”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการผูกขาดหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับการฟ้องของ FTC เนื่องจากมองว่าตลาดสินค้าหรูในสหรัฐมีการแยกย่อยอย่างมาก โดยมีแบรนด์ที่แตกต่างกันหลายแบรนด์สำหรับผู้บริโภคที่หลากหลาย ไม่ใช่สินค้าที่มีผู้เล่นจำนวนน้อยราย และแบรนด์แฟชั่นดั้งเดิมก็มักเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ๆ ทุกปี  

“การตัดสินใจของ FTC ที่จะฟ้องร้องเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะไม่มีปัญหาการแข่งขันในตลาดแฟชั่น เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ คณะกรรมการได้ยึดถือคำศัพท์ทางการตลาดที่ว่า ‘ความหรูหราที่เข้าถึงได้’ และปฏิบัติต่อมันเสมือนเป็นตลาดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่อยู่ในภาวะสุญญากาศ” โฮเวิร์ด โฮแกน (Howard Hogan) ประธานฝ่ายแฟชั่น การค้าปลีก และผู้บริโภค ของบริษัทกฎหมาย กิบสัน ดันน์ (Gibson Dunn) กล่าว 

นักวิเคราะห์จากวาณิชธนกิจ ทีดี โคเวน (TD Cowen) เขียนวิเคราะห์เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า “ในมุมมองของเรา เราไม่เชื่อว่าผู้บริโภคจะได้รับความเสียหายจากการรวมกัน [ของสองบริษัทนี้] เนื่องจากธรรมชาติการแข่งขันของหมวดหมู่สินค้า และระดับความสนใจร่วมกัน [ของแบรนด์กับผู้บริโภค] ที่แตกต่างหลากหลาย”  

อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายด้านการต่อต้านการผูกขาดหลายหลายรายแสดงความเห็นว่า การยื่นคำร้องต้านการผูกขาดระดับที่หาได้ยากของ FTC ต่อการควบรวมกิจการแฟชั่นระดับไฮเอนด์ครั้งนี้ อาจเป็นความพยายามสร้างแบบอย่างมาตรฐานสำหรับการควบคุมดีลการซื้อกิจการหรูอื่น ๆ หลังจากที่ FTC ได้ออกแนวทางการควบรวมกิจการใหม่ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมตลาดที่ยุติธรรม เปิดกว้าง และมีการแข่งขัน