“ยุโรป-มะกัน” ส่อตึงเครียด พิษ “ลุงแซม” แซงก์ชั่นรัสเซียเพิ่ม

กรณีที่เมื่อเร็ว ๆ นี้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐ ได้ผ่านร่างกฎหมายเพิ่มความเข้มข้นในการคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อลงโทษที่แทรกแซงการเลือกตั้ง รวมทั้งกรณีรัสเซียผนวกเอาดินแดนไครเมียมาเป็นของตน ทำท่าว่าจะก่อความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ทั้งที่ความสัมพันธ์ 2 ฝ่ายเขม็งเกลียวนับตั้งแต่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้ารับตำแหน่ง

ที่ผ่านมาอียูและสหรัฐร่วมมือกันแซงก์ชั่นรัสเซียมาโดยตลอด โดยมีการต่ออายุการคว่ำบาตรมาเป็นระยะนับจากรัสเซียผนวกดินแดนไครเมียเป็นของตน แต่ครั้งนี้การแซงก์ชั่นของสหรัฐกลับทำให้อียูโกรธ เพราะเป็นการดำเนินการฝ่ายเดียวของสหรัฐเองโดยไม่ได้ปรึกษาหารืออียู

เหตุที่อียูโกรธเพราะมาตรการของสหรัฐจะกระทบต่อบริษัทเอกชนของอียูในโครงการนอร์ดสตรีม 2 ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างท่อส่งออกก๊าซของรัสเซียไปยังยุโรป ซึ่งมีบริษัทก๊าซพรอมของรัสเซียเป็นเจ้าของก็จริง แต่ก็มีบริษัทเอกชนจากยุโรปร่วมลงทุนด้วย ซึ่งตามร่างกฎหมายแซงก์ชั่นของสหรัฐฉบับใหม่จะอนุญาตให้สหรัฐแซงก์ชั่นใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษาและพัฒนาท่อส่งก๊าซดังกล่าวของรัสเซีย

ล่าสุดนี้ นางบริกิตเตอ ซีพรีส รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี ได้ขอให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป มองหามาตรการตอบโต้สหรัฐ โดยระบุว่าการกระทำของสหรัฐถือว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ “อเมริกาไม่สามารถลงโทษบริษัทเยอรมนีเพียงเพราะพวกเขาดำเนินธุรกิจในประเทศอื่น มีผู้ร่วมลงทุนหลายรายอยู่ในโครงการท่อส่งก๊าซและปิโตรเลียมในภูมิภาคนี้”

รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี บอกว่าเยอรมนีไม่ต้องการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ และได้ย้ำกับสหรัฐหลายครั้ง
ในหลายระดับแล้วว่า อย่าออกนอกแนวทางของการแซงก์ชั่นปกติที่ทำร่วมกันมา แต่พวกเขาก็ทำ “ดังนั้นก็ถูกต้องแล้วสำหรับคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปที่จะใช้มาตรการตอบโต้ ยุโรปพร้อมที่จะตอบโต้ในระยะสั้นนี้” อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้ระบุรายละเอียดมาตรการ

“ฌอง-คล้อด ยุงเงอร์” ประธานคณะกรรมาธิการอียู ขู่ว่าหากความกังวลของอียูไม่ได้รับการแก้ไข เราก็พร้อมจะแสดงออกอย่างเหมาะสมภายในไม่กี่วัน “อเมริกาเฟิรสต์ ไม่ได้หมายความว่าผลประโยชน์ของอียูต้องมาทีหลัง”

ทั้งนี้ มีหลายแนวทางที่อียูอาจตอบโต้สหรัฐ เช่น อาจใช้กฎระเบียบพิเศษของอียูในการปกป้องตัวเองจากมาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐ หรือนำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาขององค์การการค้าโลก หรือแม้กระทั่งแบนการทำธุรกิจกับบริษัทอเมริกันบางแห่ง ซึ่งประการหลังสุดนี้ถือว่ารุนแรงที่สุด

กล่าวสำหรับกฎหมายคว่ำบาตรของสหรัฐ นั้นถือเป็นวิธีแก้ปัญหาการเมืองภายในของสหรัฐเอง แต่กลับไปส่งผลกระทบแบบฟาดหางต่ออียู ซึ่งเป็นพันธมิตรเดิม เพราะพรรครีพับลิกันต้องการมัดมือโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ให้ไปสร้างสัมพันธ์อันอบอุ่นกับรัสเซีย หลังถูกกล่าวหาที่ว่าทีมงานหาเสียงของทรัมป์ได้ติดต่อกับรัสเซียเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐ ด้วยหวังจะให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งมีมูลความจริงค่อนข้างมาก ซึ่งก็น่าเชื่อว่าเป็นสาเหตุทำให้ทรัมป์มีท่าทีเป็นมิตรกับรัสเซีย อันแตกต่างจากจุดยืนของสหรัฐในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

ตามขั้นตอนแล้ว ร่างกฎหมายนี้ต้องส่งไปให้ทรัมป์ลงนามเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งทรัมป์สามารถวีโต้ได้ แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วทรัมป์ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องลงนาม เพราะหากไม่ลงนามก็เท่ากับยอมรับกลาย ๆ ว่าสมคบคิดกับรัสเซียจริง และเมื่อลงนามก็เท่ากับปิดโอกาสที่ทรัมป์จะไปอี๋อ๋อกับรัสเซียอีก

ขณะเดียวกันการคว่ำบาตรรัสเซียที่ดำเนินการโดยสหรัฐเพียงลำพังครั้งนี้ สร้างความย้อนแย้งในตัวเอง เนื่องจากกลายเป็นการผลักดันให้อียูไปอยู่ข้างเดียวกับรัสเซีย เพราะหากเมื่อใดก็ตามที่อียูตอบโต้สหรัฐจะทำให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่ลง ทำให้การรวมพลังเพื่อคว่ำบาตรรัสเซียที่เคยทำร่วมกันมาอ่อนแรงลง สุดท้ายผู้ชนะก็คือวลาดิมีร์ ปูติน