“ญี่ปุ่น-อียู” คู่ค้าทวิภาคีใหญ่สุด ชูธงค้าเสรีต้าน “ทรัมป์”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

 

เรียกได้ว่าหัวกระไดเอเชียไม่เคยแห้ง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐเปิดศึกสร้างความบาดหมางกับชาติพันธมิตรในยุโรปภายใต้นโยบาย “อเมริกาเฟิรสต์” ด้วยการเพิ่มการจัดเก็บภาษีสินค้าจากยุโรป นอกเหนือจากที่ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีนไปแล้ว

สภาวการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นความเคลื่อนไหวของชาติยุโรปที่มุ่งหน้าสู่เอเชียเพื่อหาคู่ค้าและตลาดใหม่ ด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็วและคึกคักกว่าเดิม

ก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปกระชับสัมพันธ์การค้ากับประเทศจีนเพื่อเจรจาและจัดทำข้อตกลงการค้าระหว่างกัน คาดว่าไม่นานจะสามารถบรรลุข้อตกลงหลายอย่าง โดยจุดประสงค์สำคัญ นอกเหนือจากการเพิ่มการค้าระหว่างกันก็คือ เพื่อรักษาการค้าเสรี รักษาระเบียบการค้าโลกที่ยึดถือกันมานาน ซึ่งแน่นอนว่ายุโรปต้องการส่งสัญญาณไปยังโดนัลด์ ทรัมป์

สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงของสหภาพยุโรป (อียู) ยกคณะมาที่กรุงโตเกียวจดปากกาลงนามข้อตกลงการค้ากับญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นข้อตกลงการค้า

“ทวิภาคี” ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ครอบคลุม 30% ของจีดีพีโลกด้วยประชากรกว่า 600 ล้านคน ตามข้อตกลงนี้ทั้งสองฝ่ายจะยกเลิกภาษีสินค้าเกือบทั้งหมดที่ค้าขายกันกล่าวคือ ฝ่ายอียูจะยกเลิกภาษีสินค้าจากญี่ปุ่น 99% ที่เข้าไปจำหน่ายในอียู ส่วนญี่ปุ่นจะยกเลิกภาษีสินค้าอียู 94% ที่เข้าไปจำหน่ายในญี่ปุ่น ก่อนจะเพิ่มเป็น 99% ในภายหลัง โดยญี่ปุ่นยังมีสินค้าบางอย่าง เช่น ข้าว ที่ต้องการปกป้อง เนื่องจากข้าวถือว่าเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง

การแถลงข่าวร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและผู้บริหารระดับสูงของอียู แม้ไม่มีใครเอ่ยชื่อหรือพาดพิงโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยไม่ต้องพูดออกมา เช่น นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า “อียูและญี่ปุ่นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างไม่มีอะไรมาขัดขวางได้ในการเป็นผู้นำถือธงการค้าเสรีโลก”

ส่วน นายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานสภายุโรป ได้กล่าวชมเชยว่าเป็นข้อตกลง “การค้าทวิภาคีใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา ความเป็นหุ้นส่วนกันในครั้งนี้กำลังถูกทำให้แข็งแกร่งขึ้นในหลายด้าน ทั้งกลาโหม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแลกเปลี่ยนบุคลากร และเป็นการส่งสารที่ชัดเจนเพื่อต่อต้านลัทธิปกป้องการค้า”

ข้อตกลงครั้งนี้จะช่วยให้อียูส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เบียร์ ไปยังญี่ปุ่นได้มากขึ้น ส่วนญี่ปุ่นก็จะสามารถนำเข้าชีส ช็อกโกแลต ขนมปังกรอบจากอียูในราคาถูกลง ทั้งนี้ คาดว่าข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ปีหน้า หลังจากผ่านความเห็นชอบของสภา

ปัญหาสงครามการค้าที่สหรัฐเปิดศึกกับหลายชาติและไม่มีท่าทีจะยุติ ทำให้สมาชิกวุฒิสภาเบอร์ใหญ่ของพรรครีพับลิกัน คือ นายออร์ริน แฮตช์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการการเงินวุฒิสภาสหรัฐ ได้ออกมาขู่ว่าจะหาทางออกกฎหมายเพื่อลดอำนาจประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับการค้า หากว่าทรัมป์ยังเดินหน้าจะจัดเก็บภาษีนำเข้าต่อไปเรื่อย ๆ

นายแฮตช์นับเป็นผู้หนึ่งที่เคยสนับสนุนทรัมป์อย่างเหนียวแน่นและอยู่กับพรรครีพับลิกันมายาวนาน แต่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการค้าของทรัมป์ที่ใช้วิธีขึ้นภาษีนำเข้าโดยอ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศ แม้ว่าเขาจะต้องการวาระการค้าที่สร้างงานและรักษาผลประโยชน์คนอเมริกันก็ตาม โดยขณะนี้เขากำลังพูดคุยกับเพื่อน ๆ ในสภาด้วยกันเพื่อเสนอกฎหมายลดอำนาจระธานาธิบดี

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนระลอกแรกมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนยอมรับว่าผิดความคาดหมาย เพราะเชื่อว่าก่อนถึงเส้นตายดังกล่าว สองฝ่ายน่าจะสามารถเจรจากันได้ ไม่มีการลงมือเก็บภาษี

ขณะเดียวกัน เนื่องจากจีนได้ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีในระดับเดียวกัน ส่งผลให้ทรัมป์ประกาศรายชื่อสินค้าจากจีนระลอกใหม่มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ที่จะถูกเก็บภาษี 10% ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความเห็นไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคมก่อนจะลงมือเก็บจริง