เปลี่ยนผู้ว่าแบงก์ชาติ ปัญหาระยะยาวอินเดีย

REUTERS/Francis Mascarenhas/File Photo

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

อุรจิต ปาเตล ผู้ว่าการธนาคารแห่งอินเดีย (อาร์ไอบี) ประกาศลาออกจากตำแหน่งกะทันหันเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำเอาตกตะลึงไปทั่ววงการ เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีผู้ว่าการธนาคารกลางรายไหนลาออกจากกลางคันมา 25 ปีแล้ว

ข้อเท็จจริงที่ทำให้การลาออกชวนวิตกยิ่งขึ้นก็คือ การลาออกมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลพยายามกดดันโดยตรง ทั้งบีบคั้นทางอ้อม ให้แบงก์ชาติอินเดียยอมตามความต้องการของรัฐบาล

กระทรวงการคลังอินเดียเรียกร้องให้แบงก์ชาติยินยอมดำเนินนโยบายตามแนวทางของรัฐบาล เช่น กดดันให้ อาร์ไอบี ยุติการบังคับให้ธนาคารของรัฐกวาดล้างการ “ปล่อยกู้นอกระบบ” รายใหญ่ ๆ เป็นต้น

รัฐบาลเชื่อว่า การเข้มงวดของอาร์ไอบีต่อสิ่งที่เรียกว่า “บริษัทการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร” นั้น “มากเกินไป” จนกระทบต่อสภาพคล่องทำให้จีดีพีชะลอตัว เพราะเชื่อว่าสถาบันการเงินนอกระบบธนาคารเหล่านี้ คือ แหล่งปล่อยเงินกู้สำคัญต่อธุรกิจเชิงสาธารณูปการและบรรดากิจการขนาดเล็กและขนาดย่อมทั้งหลาย

องค์กรธุรกิจนายโมดี หวังว่าจะเป็นตัวสร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นแหล่งที่มาของคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงในปี 2019 นี้

แต่คนวงในเชื่อว่าความขัดแย้งอีกเรื่องหนึ่ง คือความเป็นอิสระ ปลอดจากการเมืองของธนาคารกลางที่ชัดเจน

รัฐบาลโมดีกำลังมีปัญหางบประมาณอย่างหนัก ขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับการเลือกตั้งซึ่งสูสีกว่าที่คาด โมดีจึงพยายามที่จะเอื้อมมือเข้าไปให้ถึงทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่อาร์ไอบีถือครองอยู่ เพื่อรองรับนโยบายประชานิยมของตนเอง

หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของโมดี ซึ่งเพิ่งลาออกจากตำแหน่งไปไม่นาน เตือนว่าการกระทำของโมดีไม่ต่างอะไรจากการ “ปล้น” แบงก์ชาติของประเทศดี ๆ นี่เอง

หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของอุรจิต ปาเตล ให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณะ แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่โมดีต้องการ แต่รัฐบาลอินเดียยังคงเดินหน้ารุกเรื่องนี้ต่อไป

บุคคลที่ได้รับเลือกจากนายกฯโมดี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแทนที่อุรจิต ปาเตล ยืนยันว่า หากโมดีต้องการรักษาสถานภาพการเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการได้อย่างเป็นอิสระ ต้องเลือกคนที่มีแนวคิดอิสระชัดเจน เหมือนที่เคยเลือก “ลูกหม้อ” อย่างปาเตล

แต่สิ่งที่ผู้นำอินเดียทำกลับตรงกันข้าม ศักติกานต์ ทาส ผู้ว่าการคนใหม่ ไม่เพียงเป็นอดีตข้าราชการ แต่ยังเป็นผู้ที่สนับสนุนแนวทางของรัฐบาลมาแต่ไหนแต่ไร

ศักติกานต์ไม่มีภูมิหลังทางวิชาการในระดับที่โดดเด่น ต่างจากราคุราม ราชัน อดีตผู้ว่าการ หรือแม้แต่ปาเตล ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐกิจการเงินที่โดดเด่นของสถาบันบรูกกิง ในสหรัฐอเมริกา แต่หากคำนึงถึงว่าเคยมีข้าราชการข้ามมารับตำแหน่งนี้ และยังทำได้ดีด้วย

สิ่งที่เป็นสาระสำคัญ คือ แนวคิดของผู้ว่าการคนใหม่ และขีดความสามารถที่เคยแสดงออกไว้ก่อนหน้านั้นตำแหน่งหลังสุดของศักติกานต์ คือ ปลัดกระทรวงกิจการเศรษฐกิจ และเป็นคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์การยกเลิกธนบัตร กับการประกาศใช้ภาษีทางอ้อม ซึ่งล้มเหลวไม่เป็นท่าและถูกยกเลิกไปแล้วนั่นเอง

ศักติกานต์พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวในเดือนพฤษภาคมปีนี้ และให้สัมภาษณ์ยืนยันอยู่เสมอมา โจมตีอุรจิตและพวกในอาร์ไอบี คงระดับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไว้สูงเกินไป

ประโยคเด็ดในการให้สัมภาษณ์ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการคนใหม่ ก็คือ รัฐบาลกับแบงก์ชาติ ถึงอย่างไรก็เป็นเหมือนสินค้ากับบรรจุภัณฑ์ ยังไง ๆ ก็ต้องไปด้วยกันให้ได้

นั่นทำให้หลายคนเชื่อว่า คุณภาพสำคัญที่สุดที่ทำให้ ศักติกานต์ ทาส ได้รับเลือกก็คือ ความสามารถในการเป็นผู้ทำตามที่รัฐบาลต้องการเท่านั้นเอง

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ และการได้รับการยอมรับในแวดวงระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสร้างปมปัญหาในระยะยาวให้เกิดขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจอินเดียในอนาคตอีกด้วย

เพราะแทนที่จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างของประเทศให้ก้าวไปสู่ระดับโลก โมดีกลับทำให้แนวโน้มที่เคยดีอยู่ตกต่ำลงเหมือนประเทศกำลังพัฒนาในโลกที่สาม เท่านั้นเอง

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!