‘ญี่ปุ่น-ไทย’ แข่งสะสม ‘บริษัทผีดิบ’ ปัญหาใต้พรม ศก.เอเชีย

“ซอมบี้เฟิร์ม” (Zombie Firms) หรือ “บริษัทผีดิบ” ถือเป็นหนึ่งในปัญหาของระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก ที่ทำให้พลวัตธุรกิจลดลง และส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

รายงาน “ภาวะเศรษฐกิจภาพรวมทวีปเอเชียประจำปี 2018” ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาของ “บริษัทผีดิบ” ที่ซ่อนตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะใน “เอเชีย” ที่มีจำนวน “บริษัทผีดิบ” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา

ทั้งนี้ “ซอมบี้เฟิร์ม” คือบริษัทที่ไม่มีความสามารถแข่งขันในตลาด ไม่สามารถสร้างผลกำไรทางธุรกิจ ทั้งมีภาระหนี้สินสัดส่วนสูง แต่ยังสามารถอยู่รอดได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่นการอุดหนุนจากรัฐบาล เนื่องจากความกังวลต่อภาวะว่างงานหากบริษัทเหล่านี้ต้องปิดกิจการ ทำให้เกิดการ “เลี้ยงไข้” ของบริษัทเหล่านี้ไว้

โดยงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟได้นิยาม “บริษัทผีดิบ” ไว้ว่า เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการมากกว่า 10 ปี แต่กำไรของบริษัทไม่พอที่จะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์ได้ต่อเนื่องกัน 3 ปี

“บริษัทซอมบี้” ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ โดยบริษัทที่มีผลิตภาพต่ำและขาดศักยภาพในการแข่งขันควรจะปิดกิจการลง แต่ด้วยปัจจัยช่วยเหลือต่าง ๆส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ยังคงอยู่ และเข้าแย่งชิงทรัพยากร อาทิ แหล่งเงินทุน แรงงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ ส่งผลให้บริษัทที่มีผลิตภาพสูงต้องแบกรับภาระที่มากขึ้นโดยไม่จำเป็น และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการประกอบธุรกิจยังเป็นการกีดกันการเกิดขึ้นของกิจการใหม่ ๆ เช่น เหล่าสตาร์ตอัพอีกด้วย

จากการสำรวจเมื่อปี 2012-2015 ของไอเอ็มเอฟ พบว่าในเอเชียนั้น “ญี่ปุ่น” และ “ไทย” เป็นประเทศที่มีจำนวนบริษัทซอมบี้ซ่อนตัวอยู่ในสัดส่วนสูงใกล้เคียงกัน คือกว่า 10% ของบริษัททั้งหมดในประเทศ แต่หากคำนวณในแง่ทุนของบริษัทเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 8% ของทั้งประเทศ

ขณะที่ “เกาหลีใต้” ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนบริษัทซอมบี้น้อยกว่า 5% แต่คิดเป็นสัดส่วนของทุนถึง 8% ของทั้งประเทศ

นอกจากนี้ไอเอ็มเอฟแสดงความกังวลถึงการเพิ่มขึ้นของบริษัทผีดิบทั้งในจีนและมาเลเซีย โดยในประเทศจีนพบว่าสัดส่วนจำนวน “บริษัทซอมบี้” แม้จะไม่สูง แต่ในแง่ของทุนในบริษัทซอมบี้มีสัดส่วนอยู่ที่ 6% ของทั้งหมด โดยมีปัจจัยจากการอุดหนุนกลุ่มรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จากทางการจีน

ขณะที่ในกลุ่มยุโรปตอนใต้ก็มีปัญหา “ซอมบี้เฟิร์ม” รุนแรงเช่นกัน โดยเฉพาะอิตาลีและสเปน ที่มี “ซอมบี้เฟิร์ม” ครอบครองทุนเป็นสัดส่วนถึง 30% ของทุนทั้งประเทศ

ทั้งนี้ “ซอมบี้เฟิร์ม” ส่งผลต่อการลงทุนและการจ้างงานของบริษัทที่มีผลิตภาพสูง และกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศ “ไอเอ็มเอฟ” ชี้ว่าหากลดจำนวน “ซอมบี้เฟิร์ม” ของเอเชียอย่างไทย, ญี่ปุ่น, จีน และเกาหลีใต้ ลงครึ่งหนึ่ง จะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตรวมของแต่ละประเทศได้ 0.1% ต่อปี

รายงานจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) พบว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอาจเป็นอีกต้นตอของปัญหานี้ จากการสำรวจของประเทศพัฒนาแล้ว 14 ประเทศ พบว่าสัดส่วนของบริษัทผีดิบมีเพียง 2% เมื่อปี 1980 และเพิ่มขึ้นเป็น 12% เมื่อปี 2016 โดยบริษัทเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางในแต่ละประเทศ

ทั้งนี้รายงานสรุปว่า การคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ หรือการเพิ่มสภาพคล่องธนาคารพาณิชย์จะเป็นการลดแรงกดดันของสถาบันการเงินกับ “บริษัทผีดิบ” นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการปล่อยกู้ให้กับบริษัทเหล่านั้นมากขึ้นด้วย

คลิกอ่านเพิ่มเติม… เปิดผลสำรวจธุรกิจไทย พบ”บริษัทซอมบี้” ซ่อนตัวอยู่ 5%