ความกังวลของผู้บริโภค ปัจจัยเสี่ยงฟื้น ศก.หลังโควิด

(Photo by Tolga Akmen / AFP)
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงษ์พานิชย์

ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ “ยูกอฟ” บริษัทวิจัยด้านการตลาดของประเทศอังกฤษที่เผยแพร่ “ยูกอฟส์ อีโคโนมิคส์ รีคัฟเวอรี แทรคเกอร์” ออกมาเมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา น่าสนใจมาก เพราะไม่เพียงบ่งบอกถึงทัศนะในปัจจุบันของประชาชนที่เป็นผู้บริโภคในยามวิกฤตเช่นนี้ ยังเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงในอนาคตอันใกล้อีกด้วย

ผลสำรวจที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กหยิบมาเผยแพร่นั้น เป็นการสำรวจในประเทศต่าง ๆ รวม 26 ประเทศ แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคไม่ว่าจะที่ไหนที่กำลังตกอยู่ในท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิดในเวลานี้ มีความกังวลเหมือน ๆ กันอยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ

เรื่องแรกก็คือเรื่องงาน กังวลว่าจะสูญเสียงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้เกิดความกังวลประการถัดมาขึ้นตามมานั่นคือ กลัวว่าจะไม่มีเงินสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของครอบครัว

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความกังวลทั้งสองเรื่องนั้นก็คือ พวกเขาระมัดระวังกับการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงระมัดระวังกับการลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งยูกอฟเห็นว่าเป็นแนวโน้มในทางลบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในยามนี้ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดในหลาย ๆ ประเทศ

แม้รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายในบางประเทศอ้างว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่กลายเป็นสัญญาณแห่งความหวังว่าเศรษฐกิจจะไม่ทรุดตัวลงลึกมากมายนัก แต่ข้อมูลจากการสำรวจของยูกอฟกลับแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคในหลายประเทศทั่วโลกยังคงจำกัดการบริโภคสินค้าของตนเอง

นั่นหมายความว่า คงต้องใช้เวลาอีกนานไม่น้อยกว่าบรรดานักช็อป นักเดินทาง และนักดื่มนักกินทั้งหลายจะกลับมาใช้บริการในห้างสรรพสินค้า ท่าอากาศยานและภัตตาคารทั้งหลายเต็มที่อีกครั้ง

ผลการสำรวจในกลุ่มตัวอย่างมากถึง 27,681 ราย แสดงให้เห็นว่า กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภครู้สึกไม่มั่นคงในตำแหน่งงานมากขึ้นกว่าเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ในประเทศส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจ ความกังวลว่าจะตกงานเพิ่มขึ้นแทบทั้งหมด โดยระดับการเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 10 เปอร์เซ็นต์เทจพอยต์ เมื่อเทียบกับในช่วง 8 สัปดาห์ก่อนหน้า

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นชัดเจนในสหรัฐอเมริกา ที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พุ่งกระฉูดขึ้นอีกครั้ง โดยผู้บริโภคทั่วไปราว 23 เปอร์เซ็นต์รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน เทียบกับสัดส่วนของผู้ที่มีความคิดแบบเดียวกันเพียง 18 เปอร์เซ็นต์เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานที่ว่านี้ถูกแปรให้กลายเป็นความระมัดระวังจำนวนเงินในกระเป๋า เมื่อถูกสอบถามว่าจะทำอะไรกับเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบที่ได้จากทางการ ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ 1 เดือน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเก็บเข้าบัญชีธนาคาร

37 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคอเมริกันบอกว่าจะออมเงินดังกล่าว มีเพียง 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ระบุว่าจะนำไปใช้จ่าย

ในสหราชอาณาจักร สัดส่วนของผู้บริโภคที่ตั้งใจจะออมเงินก้อนดังกล่าวมีมากถึง 58 เปอร์เซ็นต์ มีเพียงแค่ 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ต้องการนำไปใช้จ่าย แนวโน้มที่ว่านี้ปรากฏให้เห็นในทุกประเทศทั่วโลกที่ทำการสำรวจ โดยที่ผู้บริโภคมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เลือกที่จะออมเงินก้อนดังกล่าวไว้ในธนาคาร ในประเทศอย่างออสเตรเลีย, อินเดีย, ฝรั่งเศส, อินโดนีเซีย, นอร์เวย์, และแคนาดา

ในเกือบทุกประเทศ มีสัดส่วนของผู้บริโภคน้อยมากคืออยู่ในระดับต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นเพียงประเทศเดียวที่เตรียมนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือจี 7 สัดส่วนของผู้ที่จะนำเงินรายได้ดังกล่าวไปลงทุนในตลาดหุ้นยิ่งน้อยลง เหลือเพียงตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น

ในทุกประเทศเช่นเดียวกัน ราว 1 ใน 4 ของครัวเรือน จำเป็นต้องนำเอาเงินออมออกมาใช้จ่ายเพื่อให้สามารถเอาตัวรอดพ้นผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ และอีกกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะลดการใช้จ่ายลง แทนที่จะปล่อยให้เงินในกระเป๋าลดลงมากจนเกินไป

ทั้งนี้ ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคในส่วนที่ปรับลดการจับจ่ายลงโดยเฉพาะในส่วนของสินค้าที่ไม่มีความจำเป็น มีมากกว่าผู้ที่หันไปนำเงินออมมาใช้เพื่อคงระดับการจับจ่ายไว้ในระดับเดิมมาก โดยอัตราเฉลี่ยในทุกประเทศที่ทำการสำรวจพบว่าสัดส่วนของผู้ที่ตัดสินใจลดรายจ่ายลงมีเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์

การตัดสินใจลดการบริโภคลง เพราะความกังวลนี้แม้จะเป็นไปตามธรรมชาติในสภาวะวิกฤต แต่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่แท้จริงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแน่นอนเช่นกัน