แบงก์อินเดียแข่งโรงรับจำนำ ปล่อยสินเชื่อ ‘ทองแลกเงิน’

แห่ซื้อขายทองในอินเดีย
RAVEENDRAN / AFP

จากที่ราคา “ทองคำ” ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ทำสถิติแตะระดับสูงสุด 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และช่วงยากลำบากจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากนำสมบัติที่สะสมมาไปจำนำเพื่อแลกเงินสด โดยเฉพาะ “ชาวอินเดีย” ซึ่งปกติมีค่านิยมสะสม “ทองคำ” อย่างมาก เวลานี้ก็แห่กันนำทองคำออกไปตึ๊ง ขณะที่ธนาคารหลายแห่งในอินเดียก็เห็นถึงโอกาส ทำให้โดดมาร่วมนำเสนอ “สินเชื่อทองแลกเงิน” ตอบรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น

บิสซิเนส อินไซเดอร์ รายงานอ้างอิงงานวิจัยของ “สภาทองคำโลก” (ดับเบิลยูจีซี) พบว่า ภาคครัวเรือนของอินเดียสะสมทองคำราว 22,000-25,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านตามชนบทที่นิยมเก็บเป็นทองรูปพรรณและเครื่องประดับ และด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองจากการระบาดของโควิด-19 สินทรัพย์เหล่านี้จึงกลายเป็นที่พึ่งของชาวบ้านที่จะนำไปจำนำ เพื่อหาเงินสดจุนเจือรายได้

“เคพีเอ็มจี” บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจและตรวจสอบบัญชี คาดการณ์ว่าทองคำที่ชาวอินเดียนำออกไปค้ำประกันเพื่อแลกเป็นเงินสดมีมูลค่าราว 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มสู่ 61,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2022 เนื่องจากภาวะวิกฤตซึ่งพบว่าธุรกิจโรงรับจำนำในอินเดียสามารถสร้างผลตอบแทนสูงมากจากการรับจำนำทอง เนื่องจากโรงจำนำผูกขาดตลาดจากการเข้าถึงพื้นที่ชนบททำให้คิดดอกเบี้ยการรับจำนำทองสูงถึง 25-50%

รายงานของ “เคพีเอ็มจี” ชี้ว่า ปัจจุบันโรงรับจำนำผูกขาดมากกว่า 65% ของตลาดจำนำทอง ขณะที่ธนาคารมีบทบาทการปล่อยสินเชื่อทองไม่มาก เพราะไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าตามพื้นที่ห่างไกลได้ แต่ด้วยโอกาสทางธุรกิจจากผลตอบแทนที่สูง ประกอบกับสินเชื่ออื่น ๆ ที่ไม่สามารถสร้างกำไรให้กับธนาคารได้ในภาวะนี้ แบงก์พาณิชย์ของอินเดียหลายรายจึงแข่งปล่อยสินเชื่อ “ทองแลกเงินสด” โดยเสนออัตราดอกเบี้ยที่ดึงดูดมากกว่าโรงจำนำ

“บลูมเบิร์ก” รายงานยกตัวอย่าง “เอชดีเอฟซีแบงก์” ได้ประกาศเพิ่มสาขาธนาคารที่ให้บริการสินเชื่อ “ทองแลกเงินสด” เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ซึ่งธนาคารได้เสนอดอกเบี้ยระดับ 11-16% ระยะเวลากู้ 3-24 เดือน ขณะที่ “อินเดียแบงก์” ก็เสนอสินเชื่อ “สำหรับเกษตรกร” สามารถนำทองมาค้ำเพื่อรับเงิน 85% ของมูลค่าทองคำ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 7%

เนื่องจากการอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าโรงรับจำนำ รวมกับดีมานด์ของประชาชนที่ต้องการนำทองไปค้ำเพื่อแลกเงินสด ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อทองคำของธนาคารเติบโตอย่างมาก โดย “ชายแอม ศรีนิวาสาน” กรรมการผู้จัดการ “เฟเดอรอลแบงก์” เผยว่า พอร์ตสินเชื่อทองคำของธนาคารในช่วง 2/2020 เติบโต 36% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

การเข้ามาแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่ใช้ “ทองคำ” เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันของธนาคารจะเป็นประโยชน์ต่อชาวอินเดีย เพราะจะลดภาระดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็ต้องเผชิญความเสี่ยง หากราคาทองคำลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดผลขาดทุนอย่างมหาศาลได้เช่นกัน