นักเศรษฐศาสตร์เตือนอย่าลิงโลด ‘วัคซีน’ ไม่ใช่ยาวิเศษพลิกเศรษฐกิจ

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐร่วมกับไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยประสิทธิภาพสูงเกิน 90% ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนีดาวโจนส์ทะยานแรง 800 กว่าจุด หลังจากข่าววัคซีนดังกล่าวแพร่ออกมา

อย่างไรก็ตาม “คาร์ล แทนเนนบอม” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของนอร์เทิร์นทรัสต์ เตือนว่า ข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนและอัตราการจ้างงานที่ดีกว่าคาดของสหรัฐในเดือนตุลาคม มีส่วนกระตุ้นพัฒนาการเศรษฐกิจของสหรัฐก็จริง แต่ไม่ใช่มาตรการการคลังสำเร็จรูปที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

โดยเศรษฐกิจยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากมาตรการคลังต่อไป เนื่องจากแรงส่งหรือโมเมนตัมการฟื้นตัวเริ่มแผ่วลง

นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ระบุว่า ในแง่ของการจ้างงานยังมีชาวอเมริกัน 10 ล้านคน ที่ยังตกงาน และมีแนวโน้มว่าจะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าสถานการณ์จ้างงานจะกลับมาสู่ปกติ ดังนั้นยังมีความจำเป็นที่รัฐบาลกลางจะต้องสนับสนุนต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละรัฐก็มีการลดจำนวนเจ้าหน้าที่และบริการต่าง ๆ ลง เพราะประสบปัญหางบประมาณขาดแคลน ซึ่งยิ่งซ้ำเติมกิจกรรมเศรษฐกิจให้แย่ลงไปอีก

ขณะเดียวกัน แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จะไม่ผ่านออกมาใช้จนกว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้า และเมื่อพิจารณาจากความแตกแยกในสภาคองเกรสก่อนหน้านี้ ซึ่งฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องวงเงินกระตุ้น ได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจที่กำลังสูญเสียโมเมนตัมการฟื้นตัวอยู่ในขณะนี้

“ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสหรัฐไม่สามารถพึ่งพาวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด และถึงแม้จะสามารถอนุมัติการใช้วัคซีนได้ในปีนี้ แต่ก็อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการไปจนถึงปีหน้า สิ่งที่เราต้องการคือรัฐบาลออกมาตรการการคลังโดยเร็วที่สุด”

เช่นเดียวกับ “โทมัส โดโนฮิว” ประธานบริหารหอการค้าสหรัฐ เรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ก่อนที่ “โจ ไบเดน” จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง เพราะคงใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่เศรษฐกิจจะได้รับผลดีจากวัคซีน

นักวิเคราะห์คนอื่น ๆ ชี้ว่า ข่าวดีล่าสุดเรื่องวัคซีนช่วยเปลี่ยนแปลงทุกอย่างและมีความสำคัญยิ่งสำหรับปีหน้า ทำให้เป็นปีที่มีแสงสว่างมากขึ้น มีทิศทางบวกมากขึ้น ขณะเดียวกัน การตอบสนองจากตลาดหุ้นสหรัฐและทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนเริ่มสลับการซื้อจากกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีหรือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการอยู่กับบ้านในช่วงโควิดไปสู่หุ้นวัฏจักรเพื่อรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคาร

นอกจากนี้ การมีวัคซีนที่พร้อมใช้งานได้จริง และการได้ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ถือว่าความไม่แน่นอนใหญ่ ๆ ได้ลดลงไปแล้ว ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจที่จะโยกเงินลงทุนจากสินทรัพย์ปลอดภัยเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

ทั้งนี้ หากดูจากปฏิกิริยาของตลาดหุ้นของวันที่ 9-10 พ.ย. ภายหลังมีการประกาศความสำเร็จวัคซีนจะเห็นได้ว่าดัชนีเอสแอนด์พี 500 ของสหรัฐปรับตัวขึ้นเหนือกว่าดัชนีแนสแดค เช่นเดียวกับตลาดหุ้นยุโรปที่หุ้นเทคโนโลยีลดลงแต่หุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งแรง ทำให้นักวิเคราะห์มีความมั่นใจมากขึ้นว่า นักลงทุนเริ่มโยกย้ายจากหุ้นเติบโต (growth stocks) ไปสู่หุ้นคุณค่า (value stocks)

ทางด้านเอริก โรเซนเกร็น ประธานเฟดสาขาบอสตัน เตือนว่า ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจโลกจะยังคงปั่นป่วนจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เพราะถึงแม้จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีน แต่จะใช้เวลาพอสมควรในการแจกจ่ายวัคซีนให้ทั่วถึง “เป็นการยากที่จะแจกจ่ายวัคซีนเป็นวงกว้าง และยังมีคำถามอีกว่าจะมีประชาชนมากน้อยแค่ไหนเต็มใจจะฉีดวัคซีน”

ประธานเฟดบอสตันระบุอีกว่า โดยส่วนตัวประเมินว่ากว่าจะสามารถแจกจ่ายวัคซีนได้เป็นวงกว้างเพียงพอ ก็คงจะเป็นไตรมาส 2 ของปีหน้า เมื่อถึงเวลานั้นเราจึงจะมีเศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่ง สมมุติฐานนี้พิจารณาเอามาตรการการเงินและการคลังที่มีอยู่ในขณะนี้รวมเข้าไปด้วย