รู้จัก “โทเค็น” สิงคโปร์แจกคนไม่สะดวกใช้สมาร์ทโฟน ตามผู้เสี่ยงโควิด

ทำความรู้จัก “โทเค็น” อุปกรณ์พกพา รัฐบาลสิงคโปร์แจกประชาชนไม่สะดวกใช้สมาร์ทโฟน ไว้ตามกลุ่มเสี่ยงโควิด-19

วันที่ 7 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า หากพบว่าใครป่วยเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ในโทรศัพท์มือถือ จะถือว่าละเมิดข้อกฎหมายตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

โดยโทษของผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่า ได้เรียนนายกรัฐมนตรีแล้วว่า การดาวน์โหลดแอปฯ จะสร้างปัญหาให้กับประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์ที่สามารถโหลดแอปฯ ได้ และนายกฯ ก็เห็นด้วย

สรุปว่า การไม่โหลดแอปฯ หมอชนะ ลงมือถือ ไม่มีความผิดแต่อย่างใด

แม้ประเด็นเรื่องการดาวน์โหลดแอปฯ หรือไม่ดาวน์โหลดแอปฯ “หมอชนะ” จะจบลงแล้ว แต่ประเด็นที่ ศบค.มีแนวคิดเรื่องการติดตามข้อมูลโควิดผ่านแอปฯ นั้น ยังคงสร้างความแคลงใจให้กับชาวออนไลน์ ซึ่งมองว่าไม่ใช่ทุกคนในประเทศ ที่พร้อมจะดาวน์โหลดแอปฯ ลงมือถือ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน

ส่งผลให้ #หมอชนะ ขึ้นอันดับ 1 TopTrendThai ในทวิตเตอร์ เมื่อช่วงเย็นวันเดียวกัน

กรณีที่ประชาชนไม่สะดวกใช้สมาร์ทโฟน ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แม้แต่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของเอเชีย ก็มองเห็นปัญหานี้เหมือนกัน

สิงคโปร์จึงแก้ปัญหาด้วยการแจกอุปกรณ์พกพาขนาดเล็กที่ชื่อว่า “โทเค็น” ที่สามารถติดตามได้ว่าผู้พกพาอุปกรณ์ดังกล่าวมีปฏิสัมพันธ์กับใครบ้าง กรณีที่ผู้พกพาติดโควิดเข้าให้

เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว บีบีซี รายงานว่า สิงคโปร์ได้แจกอุปกรณ์นี้หลายหมื่นเครื่อง สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือไม่สามารถใช้แอปฯ ติดตามตัว ซึ่งเปิดห้ใช้ก่อนหน้านี้

แม้บางคนจะกังวลเกี่ยวกับการรักษาข้อมูล แต่เจ้าหน้าที่สิงคโปร์ระบุว่า “โทเค็น” จะช่วยให้กลุ่มเสี่ยงรู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เมื่อต้องอยู่นอกสถานที่ ยกตัวอย่างเช่น การที่โทเค็นสามารถช่วยผู้สูงอายุบันทึกตำแหน่งที่อยู่ได้อย่างแม่นยำ

เดอะสเตรตส์ไทมส์ รายงานว่า นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาสิงคโปร์ ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมาว่า ตอนนี้ประชาชนกว่า 4.2 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 78 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ กำลังใช้โทเค็นหรือแอปฯ ติดตามตัว แล้ว

ในจำนวนคนเหล่านี้ มีประมาณ 2 ล้านคนเท่านั้น ที่ใช้แอปฯ บนมือถือ ขณะที่ความต้องการใช้โทเค็นพุ่งขึ้นเป็นอย่างมาก โดยทางการจะรีบดำเนินการแจกอุปกรณ์อีกครั้งเร็ว ๆ นี้

นายหว่อง ซึ่งนั่งเก้าอี้คณะทำงานเกี่ยวกับโควิดในหลายกระทรวง เผยอีกว่า การแจกโทเค็นเริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน ที่ศูนย์ชุมชน 38 แห่ง ซึ่งความต้องการอุปกรณ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากรัฐบาลประกาศว่าประชาชนจะต้องใช้โทเค็นหรือแอปฯ หากต้องเข้าไปใช้บริการตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ร้านอาหารและห้างสรรพสินค้า

มีรายงานว่าศูนย์บางแห่งแจกโทเค็นหมด ภายในเวลาไม่กี่นาที

นายหว่องเผยอีกว่า รัฐบาลไม่คาดว่าจะมีความต้องการใช้โทเค็นมากขนาดนี้ เนื่องจากประชาชนก็สามารถดาวน์โหลดแอปฯ ได้

เขาแสดงความเห็นอีกว่า กำหนดการผลิตโทเค็นมีความล่าช้า ด้วยเหตุนี้การกระจายโทเค็นถึงมือประชาชนจึงไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นในบางชุมชน

เขากล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะมีการแจกจ่ายโทเค็นให้กับนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้รับ

“อุปกรณ์นี้เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของปฏิบัติการติดตามข้อมูล แม้ว่าสถานการณ์ในสิงคโปร์จะเข้าสู่เฟส 3 แล้วก็ตาม”

ก่อนจะเปิดตัวอุปกรณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลา 2 วัน ในการสัมภาษณ์ผู้ติดเชื้อ 1 ราย เพื่อจำกัดวงผู้สัมผัส แล้วติดตามนำคนเหล่านี้ไปกักตัว

แต่เมื่อมี “โทเค็น” เจ้าหน้าที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เพื่อติดตามผู้ใกล้ชิดของผู้ป่วยโควิด

นายหว่อง กล่าวอีกว่า รัฐบาลสิงคโปร์ใช้เงินประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 226 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแอปฯ และระบบ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงคำนึงถึงความจำเป็นในการสร้างความคุ้มค่า

หนึ่งในวิธีการสร้างความคุ้มค่าคือการลดต้นทุน ด้วยการออกแบบให้โทเค็นทำมาจากอุปกรณ์ที่มีจำหน่ายทั่วไป เพื่อลดความซับซ้อนในการผลิต ลดเวลา และ ลดต้นทุน ที่สำคัญคือมีอายุใช้งาน 6 เดือน ไม่ต้องนำไปชาร์จ

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ พบสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับโทเคน ดังนี้