โควิดทุบ FDI ทั่วโลก ‘จีน’ ผงาดแซง ‘สหรัฐ’

ปี 2020 ที่ผ่านมา ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาเดินทางขนส่งจากมาตรการควบคุมโรค กลายเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรือ “อังค์ถัด” เปิดเผยรายงาน สถานการณ์การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศหรือ “เอฟดีไอ” ทั่วโลกในปี 2020 ต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างในอเมริกาและยุโรป

โดยเอฟดีไอทั่วโลกลดลง 42% สู่ระดับ 859,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 นับเป็นการทรุดตัวของการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990

สำหรับ “สหรัฐอเมริกา” พบว่า เอฟดีไอลดลงไปถึง 49% อยู่ที่ 134,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้แนวโน้มการลงทุนของต่างชาติในสหรัฐเริ่มลดลงมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น จากนโยบายเศรษฐกิจของอดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่กีดกันนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เอฟดีไอของสหรัฐลดลงจากที่เคยแตะระดับสูงสุดที่ 440,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015

สวนทางกับเอฟดีไอของ “จีน” ที่เพิ่มขึ้น 4% เป็น 163,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 นับเป็นครั้งแรกที่เอฟดีไอของจีนขึ้นแซงหน้าสหรัฐ เป็นประเทศที่มีเอฟดีไอมากที่สุดในโลก เป็นผลจากความสามารถในการรับมือภาวะโรคระบาดอย่างรวดเร็วของรัฐบาลจีน และมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ทั้งการกระตุ้นจับจ่ายภายในประเทศและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ช่วยรักษาเสถียรภาพการลงทุนของต่างชาติ ที่ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนขยายตัว 2.3% แม้ว่าประเทศอื่นเศรษฐกิจย่ำแย่

เช่นเดียวกับ “อินเดีย” ที่เอฟดีไอเพิ่มขึ้น 13% เป็น 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังคงรุนแรง โดยได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทแบรนด์ดังอย่าง “อิเกีย” และ “ยูนิโคล่” รวมถึงเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง “แอปเปิล” และ “ซัมซุง” จากนโยบายดึงดูดนักลงทุนและขยายฐานการผลิตของรัฐบาลอินเดีย

ขณะที่สหราชอาณาจักร และอิตาลี ขยายตัวของเอฟดีไอในปีที่ผ่านมาลดลงเกือบ 100% รวมถึงรัสเซียลดลง 96% เยอรมนีลดลง 61% และบราซิลลดลง 50%

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวในปี 2021 แต่อังค์ถัดยังมองว่าเอฟดีไอทั่วโลกยังอ่อนแอ “เจมส์ จาน” ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนและวิสาหกิจของอังค์ถัดชี้ว่า ผลกระทบจากภาวะโรคระบาดต่อการลงทุนยังคงอยู่ ทำให้นักลงทุนจะระมัดระวังการลงทุนใหม่ ๆ ในต่างประเทศ ยกเว้นในธุรกิจเทคโนโลยีและการดูแลสุขภาพที่มีแนวโน้มที่ดีท่ามกลางการฟื้นตัวของโลก