จีนเพิ่มมาตรการคุมเข้ม “บล็อกเกอร์” ต้องมีหนังสือรับรองรัฐบาล

ที่มารูป: AP/Mark Schiefelbein

จีนเพิ่มมาตรการคุมเข้ม “บล็อกเกอร์” ต้องมีหนังสือรับรองจากรัฐบาล ก่อนเผยแพร่ข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต

วันนี้ (17 ก.พ. 2564) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า หน่วยเฝ้าระวังทางอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลจีน ประกาศข้อกำหนดให้บล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์ต้องมีหนังสือรับรอง ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนก่อนจะเผยแพร่คอนเทนต์ต่าง ๆ โดยจะเริ่มบังคับใช้สัปดาห์หน้า

แม้ว่าจีนจะกำหนดให้มีการขออนุญาตก่อนเผยแพร่เนื้อหาบางประเภทบนอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 2560 เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและการทหาร แต่กฎใหม่ที่ออกมาล่าสุดนี้ขยายไปถึงเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ การศึกษา และการพิจารณาคดีด้วย

“ติตัส เฉิน” ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายโซเชียลมีเดียจีน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติซุนยัตเซ็น ประเทศไต้หวัน กล่าวว่า หน่วยเฝ้าระวังทางอินเทอร์เน็ตของจีนต้องการควบคุมขั้นตอนทั้งหมดของการผลิตข้อมูลเพื่อเผยแพร่ ซึ่งสอดคล้องกับอำนาจอธิปไตยดิจิทัลที่ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ทำให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อบังคับพื้นการสนทนาให้แคบลง

“หม่า เชี่ยวหลิน” นักวิจัยด้านวิเทศสัมพันธ์ และคอลัมนิสต์ชาวจีน ที่มีผู้ติดตามกว่า 2 ล้านคนแพลตฟอร์มไมโครบล็อกอย่าง Weibo กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ Weibo ได้ขอให้เขาลบโพสต์ที่เกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจทิ้ง
“ดูเหมือนว่าตอนนี้ผมจะโพสต์เกี่ยวกับความบันเทิง อาหาร และเครื่องดื่มเท่านั้น”

ในขณะที่ “หวัง เกาเฟย” ซีอีโอของ Weibo ตอบกลับ “หม่า” บนแพลตฟอร์ม Weibo ว่า อนุญาตให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวที่เผยแพร่โดยสื่อทางการได้ แต่ผู้แสดงความคิดเห็นไม่สามารถปล่อยข่าวได้เอง

ตามคำแถลงนโยบายใหม่ที่เผยแพร่โดยฝ่ายบริหารของหน่วยเฝ้าระวังทางอินเทอร์เน็ตของจีน ระบุว่า “การแก้ไขนโยบายล่าสุดนี้มีขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐาน และควบคุมบัญชีสาธารณะและแพลตฟอร์มบริการข้อมูล เพื่อให้ตระหนักถึงทิศทางที่ถูกต้องในการเผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็น”

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาดูเหมือนจะมีส่วนกระตุ้นกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น เพราะช่วงแรกของการแพร่ระบาดในจีน มีการรายงานข่าวจากบัญชีออนไลน์และสื่อดิจิทัลจำนวนมาก ซึ่งบางข่าวเป็นข่าวลือ และเรื่องที่ไม่จริง

“ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดสื่อสังคมออนไลน์ได้พยายามสร้างข่าวลือเพื่อมุ่งร้ายต่อผู้อื่น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพและความสามัคคีของสังคม” หน่วยเฝ้าระวังทางอินเทอร์เน็ตของจีนระบุ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า บล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์จะถูกลงโทษในระดับใดหากเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาติจากรัฐบาล