ชนชั้นกลางโต…ผู้บริโภคเปลี่ยน ซื้อ “ไลฟ์สไตล์-บริการ” มากขึ้น

ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของชนชั้นกลางมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนไป ทำให้บรรดาผู้ประกอบการต่างต้องเร่งปรับตัวให้ทันความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อให้ธุรกิจยังคงอยู่รอดบนเวทีเสวนา “การเข้าถึงผู้บริโภคชนชั้นกลางยุคใหม่” ในงานประชุม “นิกเคอิ เอเชีย 300 โกลบอล บิสซิเนส ฟอรั่ม 2017” ได้นำเสนอโมเดลธุรกิจรองรับการขยายตัวชนชั้นกลางที่ทำให้ความต้องการบริโภคชาวเอเชียเปลี่ยนไป และรับมือให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในยุคที่ดิจิทัลครองเมือง

“กลินท์ สารสิน” ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ชนชั้นกลางของเอเชียขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมา และในปี 2030 การใช้จ่ายของชาวเอเชียจะเพิ่มขึ้น 571% ขณะที่จำนวนชนชั้นกลางจากปี 2009 จะเพิ่มขึ้น 5 เท่าในปี 2030

เขามองว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญมากในการเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้คนหาเงินได้มากขึ้นโดยใช้โลกออนไลน์ในการซื้อขาย ขณะที่คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียก็มีส่วนในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอย่างยิ่ง รวมไปถึงบิ๊กดาต้าที่มีประโยชน์มากในการวิเคราะห์ลูกค้า

การขยายตัวของชนชั้นกลางอย่างรวดเร็วที่ผ่านมา ทำให้ชาวเอเชียมีกำลังซื้อมากขึ้น รูปแบบการซื้อของชาวเอเชียจึงเปลี่ยนไป จากการซื้อของที่ “จำเป็น” กลายเป็นซื้อของที่ “ต้องการ” มากขึ้น

ขณะที่ “พิภพ โชควัฒนา” ที่ปรึกษาของบริษัทสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย ยอมรับว่า นิสัยของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ครอบครัวชนชั้นกลางหันมาซื้อสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของ “ลูก” มากขึ้น และมองหาสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีคุณภาพ และสินค้าด้านบริการมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม พิภพชี้ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชนชั้นกลางในไทยมีอำนาจในการซื้อน้อยลงด้วยหนี้ครัวเรือนที่สูงเกือบ 80% ของจีดีพี จากนโยบายส่งเสริมการจับจ่ายของรัฐบาลเมื่อราว 5 ปีก่อนทำให้คนไทยยังมีหนี้ต้องจัดการอยู่ แต่ก็มองในแง่ดีด้วยว่า อีก 2-5 ปีการบริโภคภายในประเทศไทยจะกระเตื้องขึ้นอย่างแน่นอน และด้วยหนี้สินที่หมดไป คนจะสามารถซื้อของตามความต้องการมากขึ้น

เทรนด์ไลฟ์สไตล์หนึ่งของชนชั้นกลางที่เห็นได้ชัดในไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือ การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมากที่สุดในเอเชีย คือ ชาวจีน ทำให้ “สปริง แอร์ไลน์” ซึ่งให้บริการเที่ยวบินราคาถูกที่ใหญ่ที่สุดของจีน ได้รับอานิสงส์ก้อนใหญ่ “หวัง ยู่” ประธานสายการบินสปริง แอร์ไลน์ กล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่

เพราะค่าโดยสารมีราคาไม่สูงนัก ทั้งสายการบินยังโดดเด่นด้านความปลอดภัย การตรงต่อเวลา และเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ ทางสายการบินได้ลงทุนด้านเทคโนโลยีข้อมูลเพิ่ม โดยจ้างงานพนักงานไอทีแบบไม่จำกัดจำนวน

“สายการบินของเรามียอดจองผ่านเว็บไซต์เอเยนซี่น้อยมาก โดย 85% ของยอดจองทั้งหมดมาจากโมบายเว็บไซต์ของบริษัท ทำให้สายการบินได้ข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก ทำให้ทำความเข้าใจพฤติกรรมของชนชั้นกลางที่หลากหลายได้ และทำงานได้ใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น และลูกค้าคนจีนก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เช่น คนจีนบางมณฑลชอบเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่บางมณฑลชอบเดินทางในช่วงกลางวัน” หวังกล่าว

อย่างไรก็ตามก็มีการวิเคราะห์ออกมาว่าเอเชียอาจจะมีการชะลอตัวของการเติบโตในอนาคตอันใกล้ จากการเข้าสู่สังคมสูงวัย กลินท์ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ชนชั้นกลางส่วนใหญ่มีอายุมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยต้องการทิศทางในการจัดการของรัฐบาล เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นให้เกิดตำแหน่งงานในแต่ละครอบครัวมากขึ้น

“ผมว่าสังคมผู้สูงวัย คือ สิ่งที่เราต้องรับมือ เพื่อไม่ให้เป็นภาระประเทศในอนาคต เราต้องทำให้ผู้สูงอายุยังมีรายได้และยังดำรงสถานะชนชั้นกลางต่อไป แม้ว่าจะเกษียณแล้วก็ตาม การเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีก็น่าจะช่วยได้ ในอนาคตเมื่อเด็กรุ่นใหม่เข้าสู่ธุรกิจ พวกเขาอาจจะใช้เทคโนโลยี ช่วยให้ผู้สูงอายุสร้างรายได้เป็นของตัวเองก็เป็นได้”