จับตา 3 เส้นตายใหญ่สหรัฐ ส่งผลสะเทือนเศรษฐกิจโลก

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

ภายในสิ้นปีนี้ มีความท้าทายใหญ่รอต้อนรับรัฐบาลอเมริกันอยู่ นั่นคือมี “เส้นตาย” ด้านเศรษฐกิจหลัก ๆ อยู่ 3 อย่างที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ทันเวลา ซึ่งการจะผ่านเส้นตายไปได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจทางการเมืองที่ในตอนนี้เป็นที่ทราบกันดีว่ามีความขัดแย้งกันลึกล้ำระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน หลังจากการเมืองสหรัฐในยุคก่อนหน้าทำให้ประชาชนแตกแยกกันทางการเมืองอย่างสาหัสมาแล้ว

ความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาลสหรัฐใน 3 เส้นตายใหญ่ทางเศรษฐกิจ ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ล้วนมีนัยต่ออนาคตของอเมริกาในอีกหลายปีข้างหน้า

เส้นตายแรก “ขยายเพดานหนี้”

เส้นตายแรก ก็คือสภาคองเกรสจำเป็นต้องเห็นชอบให้มีการขยายเพดานหนี้ของประเทศภายในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ เพราะไม่เช่นนั้นเสี่ยงจะทำให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อเศรษฐกิจอเมริกา แต่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งประเด็นขยายเพดานหนี้ เกิดเสียงเรียกร้องมาตลอดทั้งจากระดับผู้นำประเทศอย่าง “โจ ไบเดน” นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ

โดยเยลเลนออกมาเตือนว่า หากสภาคองเกรสไม่เห็นชอบการขยายเพดานหนี้ ก็จะเป็นเรื่องหายนะเพราะรัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ ซึ่งผลของมันอาจทำให้ “เศรษฐกิจถดถอย” นอกจากนั้นจะทำให้ความน่าเชื่อถือของสหรัฐลดลง เพราะที่ผ่านมาพันธบัตรสหรัฐได้รับการยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่สุดในโลกมาโดยตลอด

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ที่ผ่านมาสหรัฐไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ และหากผิดนัดจะสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ผ่านการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยลดทอนความเชื่อมั่นต่ออเมริกาเรื่องการรักษาสัญญาชำระหนี้ ส่งผลประเทศต่าง ๆ จะอยากถือพันธบัตรอเมริกาน้อยลง ความต้องการถือครองดอลลาร์สหรัฐน้อยลง ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้จีนอยู่ในฐานะได้เปรียบที่จะนำสกุลเงินของตัวเองเข้าแทนที่ดอลลาร์สหรัฐ

เส้นตายที่สอง “แผน ศก.ไบเดน”

พรรคเดโมแครตมีเป้าหมายจะผ่านร่างกฎหมายแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม ร่างกฎหมายนี้ไม่เพียงมีเสียงคัดค้านจากฝ่ายค้าน แต่ภายในพรรคเดโมแครตเองก็มีบางส่วนไม่เห็นด้วย โดยสมาชิกเดโมแครตบางคนยืนกรานว่าจะไม่สนับสนุนหากวงเงินที่ใช้ลงทุนตามแผนนี้เกิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ดังนั้นมีแนวโน้มว่าเดโมแครตจะตัดวงเงินลงเพื่อหาทางประนีประนอมให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมาได้

ทั้งนี้ รัฐบาลจำต้องได้เสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกสายเดโมแครตทั้ง 50 คน แต่ดูเหมือนมี 2 เสียงจะไม่เห็นด้วยจึงเท่ากับขาดอยู่ 2 เสียง ขณะเดียวกัน ไบเดนได้นัดเจรจากับสมาชิกสภาล่างทั้งสายกลางและสายก้าวหน้าในเรื่องนี้เพื่อโน้มน้าว

แผนเศรษฐกิจของไบเดน มีเป้าหมายจะยกเครื่องเศรษฐกิจของสหรัฐ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน สนามบิน ไฟฟ้า เครือข่ายบรอดแบนด์ เป็นต้น ที่คาดว่าจะช่วยสร้างงานจำนวนมาก นอกจากนั้นจะมีการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ฝึกอบรมแรงงานหลายล้านคน การดูแลผู้สูงอายุและพิการ โดยอ้างว่าเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

เส้นตายที่สาม “งบประมาณรายจ่าย”

สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการ “ชัตดาวน์” ไปได้เฉียดฉิว เมื่อสภาคองเกรสเห็นชอบให้ขยายเวลาการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม เป็นการชั่วคราว ทำให้รัฐบาลยังสามารถใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อบริหารราชการแผ่นดินต่อไป หน่วยงานรัฐบาลสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ หลีกเลี่ยงความโกลาหลจากการชัตดาวน์อันลือลั่นที่เคยเกิดขึ้นในยุค “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งกินเวลานานที่สุดในประวัติศาสตร์ 22 วัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ยังต้องรอความเห็นชอบจากคองเกรส ในการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายระยะยาว ซึ่งยังไม่มีอะไรแน่นอนเช่นกัน และด้วยเหตุที่การเลือกตั้งกลางเทอมจะมีขึ้นในปีหน้า ดังนั้นจึงเกิดแรงจูงใจมากเป็นพิเศษที่จะทำให้เกิดการต่อสู้ทางการเมือง แม้แต่ในเรื่องที่เป็นปกติวิสัยทั่วไป