ส่อง 3 แบรนด์ “รถอีวี” ยอดนิยมของคนจีน

เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กำลังมาแรงเติบโตอย่างก้าวกระโดด ค่ายรถยนต์หน้าเก่าหน้าใหม่ต่างปักหมุดไปสู่การเป็นผู้ผลิตรถอีวี

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย IDTechEx ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ยอดขายรถอีวีทั่วโลกอยู่ที่ 2.6 ล้านคัน เติบโต 160% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยยอดขายรถอีวีดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 26% ของยอดขายรถใหม่ทั่วโลก ซึ่งตลาดสำคัญจะอยู่ที่จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป

นอกจากนี้ IDTechEx คาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะทะลุ 5 ล้านคันในปีนี้ นับเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นตลาดรถอีวีสำคัญที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วงครึ่งแรกปีนี้ จีนทำยอดขายรถอีวีไปได้ถึง 1.1 ล้านคัน จึงไม่แปลกที่บริษัทรถยนต์ยุโรปหลายแบรนด์ก็ใช้ตลาดจีนเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดตลาดและผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า “เบิร์นสไตน์” บริษัทที่ปรึกษาการเงิน จัดทำผลสำรวจถึงแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ยอดนิยมของคนจีน ครอบคลุม 1,600 คน เมื่อช่วงไตรมาส 3/2021 ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อายุเฉลี่ย 32 ปี และมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 19,000 หยวน (ประมาณ 9.8 หมื่นบาท)

โดยพบว่าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของผู้บริโภคชาวจีน คือ “บีวายดี” (BYD) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนรายใหญ่ ที่มี “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนรายใหญ่ของโลก ให้การสนับสนุน

ส่วนอันดับ 2 ก็คือ “เทสลา” ของอีลอน มัสก์ และอันดับ 3 คือ “โฟลค์สวาเกน” ของเยอรมนี

ทั้งนี้ เกือบ 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า จะพิจารณาเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับการซื้อรถยนต์ครั้งต่อไป จากความพึงพอใจของผู้บริโภคในเรื่องต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำลง ประสบการณ์การขับขี่ที่ดีขึ้น และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ พบว่าผู้บริโภคชาวจีนมีความสนใจที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจากบริษัทสตาร์ตอัพในจีน อย่าง Nio หรือ Xpeng เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปีนี้ เป็น 9.5% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 5% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยบริษัทสตาร์ตอัพในจีนครองอันดับ 1 ในกลุ่มตลาดบนและระดับพรีเมี่ยมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมรถยนต์ที่มีระดับราคาตั้งแต่ 150,000 หยวนขึ้นไป (ประมาณ 7.77 แสนบาท) ส่วนแบรนด์ที่ชื่นชอบรองลงมา คือ “เทสลา” และแบรนด์ระดับพรีเมี่ยมของเยอรมนี เช่น BMW และ Audi

ขณะที่ตลาดรถยนต์รวมทุกประเภทในจีน กลุ่มพรีเมี่ยมของเยอรมนีครองมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่ง รองลงมาคือแบรนด์ญี่ปุ่น อย่าง โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน และแบรนด์จีน ซึ่งรวมถึง BYD และ Geely ขณะที่กลุ่มบริษัทสตาร์ตอัพรถยนต์ไฟฟ้าอยู่อันดับที่ 6

สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของ “เทสลา” ในจีน เมื่อไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทำยอดขายได้ 3.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 48.5% ของยอดขาย 6.41 พันล้านดอลลาร์ในสหรัฐ โดยอัตราส่วนยอดขายของเทสลาในจีนเพิ่มขึ้นจาก 41.4% ในปีที่แล้ว

ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของเทสลาในประเทศจีน ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 22.6% จากปีที่แล้วไม่ถึง 20%

โดยเทสลาได้เปิดโรงงาน gigafactory ในเมืองเซี่ยงไฮ้ และได้เริ่มส่งมอบรถยนต์ที่ผลิตในจีนคันแรกให้กับลูกค้าในท้องถิ่นก่อนการระบาดของโคโรนาไวรัสในเดือนมกราคม 2020 และบริษัทเตรียมส่งมอบรถยนต์รุ่นที่ 2 ที่ผลิตในจีนภายในปีนี้

แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อของรัฐและผู้ใช้โซเชียลมีเดีย แต่รถยนต์ไฟฟ้าของเทสลายังคงได้รับความนิยมในประเทศจีน

แต่ทั้งเทสลา Model 3 และ Y ติดอันดับ 1 ใน 3 อันดับแรก ที่ขายในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลพลังงานใหม่ของจีน ตามข้อมูลของสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแห่งประเทศจีน

ขณะที่หุ้นของเทสลาพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมูลค่าตลาด 1 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และยังคงทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง

ด้วยศักยภาพของตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้จีนเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญสำหรับแบรนด์ระดับโลก

ขณะที่ “โฟล์คสวาเกน” ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์สัญชาติเยอรมัน ที่ติดท็อป 3 ของแบรนด์รถอีวียอดนิยมของผู้บริโภคชาวจีน โดยข้อมูลโกลด์แมน แซกส์ระบุว่า รายได้ประมาณ 41% ของโฟล์คสวาเกน มาจากตลาดในประเทศจีน