จีน พบฟอซซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์ สภาพสมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์

จีน พบฟอซซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์ สภาพสมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์
AFP PHOTO / University of Birmingham/Lida Xing

นักวิทยาศาสตร์ ประกาศการค้นพบเอ็มบริโอไดโนเสาร์ที่สภาพสมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ บริเวณกว่างโจว ทางตอนใต้ของจีน

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 บีบีซี รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ประกาศการค้นพบตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่มีสภาพสมบูรณ์ซึ่งกำลังเตรียมที่จะฟักออกจากไข่เช่นเดียวกับไก่

ตัวอ่อนถูกค้นพบในกว่างโจว ทางตอนใต้ของจีน และนักวิจัยคาดว่ามันมีอายุอย่างน้อย 66 ล้านปี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดไร้ฟัน หรือโอวิแรปโตโรซอร์ และถูกตั้งชื่อว่าเบบี้ยิ่งเหลียง

นักวิจัย ดร. Fion Waisum Ma กล่าวว่า “มันคือตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่มีสภาพดีที่สุดเท่าที่เคยพบมาในประวัติศาสตร์”

การค้นพบนี้ยังช่วยให้นักวิจัยเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างไดโนเสาร์กับนกในปัจจุบันมากขึ้น ซากดึกดำบรรพ์แสดงให้เห็นว่าเอ็มบริโออยู่ในตำแหน่งที่โค้งงอที่เรียกว่า “การซ่อนตัว” ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบในนกก่อนที่พวกมันจะฟักออกมาไม่นาน

“สิ่งนี้บ่งชี้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวในนกยุคปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษไดโนเสาร์ของพวกมัน” ดร. หม่าบอกกับสำนักข่าว AFP

โอวิแรปโตโรซอร์ หมายถึง “กิ้งก่าขโมยไข่” เป็นไดโนเสาร์มีขนซึ่งอาศัยอยู่ในเอเชียและอเมริกาเหนือในช่วงปลายยุคครีเทเชียส หรือประมาณระหว่าง 100 ล้านถึง 66 ล้านปีก่อน

นักบรรพชีวินวิทยา ศาตราจารย์ สตีฟ บรูแซทท์ (Prof. Steve Brusatte) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัย ทวีตข้อความว่ามันเป็น “ฟอสซิลไดโนเสาร์ที่น่าทึ่งที่สุดชิ้นหนึ่ง” ที่เขาเคยเห็น และสภาพของตัวอ่อนนั้นใกล้จะฟักเต็มที่แล้ว

เบบี้ยิ่งเหลียง มีขนาดยาว 10.6 นิ้ว (27 ซม.) จากหัวถึงหาง และอยู่ภายในไข่ยาว 6.7 นิ้วที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ Yingliang Stone ในประเทศจีน

ไข่ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2543 แต่ถูกเก็บไว้ในที่จัดเก็บเป็นเวลา 10 ปี เมื่องานก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นในพิพิธภัณฑ์ มีการจัดเรียงฟอสซิลเก่า ๆ ซึ่งนักวิจัยหันความสนใจไปที่ไข่เพราะพวกเขาสงสัยว่ามีตัวอ่อนอยู่ภายใน

ส่วนหนึ่งของร่างไดโนเสาร์ยังคงเป็นหิน นักวิจัยจึงใช้เทคนิคการสแกนขั้นสูงเพื่อสร้างภาพโครงกระดูกทั้งตัวให้สมบูรณ์

AFP PHOTO / University of Birmingham/Lida Xing