ซูเปอร์ยอชต์ สวรรค์เศรษฐีรัสเซียหนีภัย

นับตั้งแต่สหภาพยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรมุ่งเป้าไปยังบรรดามหาเศรษฐีรัสเซียผู้มีอำนาจที่ใกล้ชิด “วลาดิเมียร์ ปูติน” แห่งรัสเซีย ถึงขณะนี้ชาติยุโรปได้เริ่มกระบวนการตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินที่บรรดาเศรษฐีรัสเซียเป็นเจ้าของแล้ว

โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาชาติยุโรปทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี ได้อายัดเรือยอชต์หรูขนาดใหญ่ระดับ

“ซูเปอร์ยอชต์” (Super Yacht) ที่เศรษฐีรัสเซียเป็นเจ้าของแล้วอย่างน้อย 4 ลำ

ขณะเดียวกันมีรายงานจากข้อมูลจีพีเอสติดตามเรือเดินสมุทร พบว่ามีซูเปอร์ยอชต์อย่างน้อย 5 ลำ ของเศรษฐีรัสเซียจอดทอดสมอบริเวณใกล้หมู่เกาะมัลดีฟส์ ซึ่งไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับสหรัฐ โดยข้อมูลพบว่าเรือเหล่านี้แล่นออกจากท่าเรือแถบยุโรปเพียงไม่นาน หลังจากกลุ่มชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรรุนแรงต่อรัสเซีย

หากไปดูมหาเศรษฐีรัสเซียที่รวยติดอันดับฟอร์บส์ สิ่งที่เศรษฐีเหล่านี้ครอบครองเหมือนกันคือ “เรือยอชต์” ต่างกันแค่ขนาดของเรือ พูดง่าย ๆ ว่า เรือยอชต์เป็นเสมือน “ของเล่น” ที่เศรษฐีรัสเซียต้องมีไว้ครอบครองสักลำ

ข้อมูลของเว็บไซต์ SuperYacht Times ระบุว่าเรือยอตช์ที่มีความยาวเกิน 80 เมตรขึ้นไป หรือที่ในวงการเรียกว่า “Super Yacht” นั้น มีเศรษฐีรัสเซียเป็นเจ้าของหลายราย

อาทิ โรมัน อับบราโมวิช เจ้าของเรือ Eclipse ความยาว 162 เมตร, อลิเชอร์ อุสมานอฟ เจ้าของเรือ Dilbar ความยาว 156 เมตร ซึ่งเพิ่งถูกทางการเยอรมนีอายัด

สำหรับผู้นำเทรนด์การเป็นเจ้าของซูเปอร์ยอตช์คือ ราชวงศ์รัฐแถบอ่าวอาหรับผู้มั่งคั่งจากน้ำมัน เรือซูเปอร์ยอตช์ชื่อ Prince Abdulaziz ความยาว 147 เมตร ซึ่งต่อขึ้นเมื่อปี 2527

โดยราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นเรือยอชต์ส่วนตัวที่มีขนาดใหญ่ลำแรก ๆ ของโลก และเทรนด์นี้ได้แพร่หลายกลายเป็นที่นิยมจนปัจจุบัน ตั้งแต่สุลต่านรัฐดูไบ สุลต่านโอมาน และสมาชิกราชวงศ์ซาอุฯ หลายพระองค์ รวมถึง เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย

ย้อนไปช่วงปี 2559 ที่ยุโรปเพิ่งฟื้นพ้นวิกฤตหนี้สาธารณะ บริษัทอู่ต่อเรือหลายแห่งในยุโรปต่างมีสภาพย่ำแย่ไม่ต่างกับธุรกิจอื่น ขณะที่หลายฝ่ายคิดว่าอุตสาหกรรมต่อเรือจะล่มสลาย

ทว่าบริษัทเหล่านี้สามารถกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยช่วงปี 2551-2559 มีการสร้างเรือยอชต์หรูขนาดใหญ่ระดับเมกะยอชต์ถึง 48 ลำ จากคำสั่งต่อเรือของเศรษฐีรัสเซียและเจ้าชายอาหรับ

ไม่เพียงแค่คำสั่งต่อเรือที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น บรรดาอู่ต่อเรือยอชต์รายใหญ่ของยุโรป ทั้งบริษัท Lurssen ของเยอรมนี, บริษัท Fincantieri ของอิตาลี บริษัท Oceanco และ Feadship ของเนเธอร์แลนด์ ยังแข่งขันกันในแง่ว่า ใครสามารถสร้างเรือยอชต์ได้ขนาดใหญ่กว่ากัน รวมถึงออปชั่นเสริมตามประสงค์ของลูกค้า

ผู้บริหารของ Lurssen กล่าวในการฉลองครบรอบ 150 ปี ว่า บริษัทเป็นผู้ต่อเรือยอชต์อันดับหนึ่งของโลก ได้รับคำสั่งต่อซูเปอร์ยอชต์จาก “ลูกค้านิรนาม”หลายราย ที่นอกเหนือจากความหรูหราบนเรือแล้ว ลูกค้าเหล่านี้ยังต้องการออปชั่นพิเศษ ทั้งโครงเรือและกระดูกงูเรือที่ทำจากเหล็กกล้า

หรืออะลูมิเนียมซึ่งทนทานต่อการโจมตีมีระบบป้องกันขีปนาวุธระดับกองทัพ ตัวโครงสร้างเรือชุบเกราะ หน้าต่างกระจกกันกระสุน ลานจอดพร้อมโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์บนเรือสเป็กเหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ในเรือที่มีเศรษฐีรัสเซียเป็นเจ้าของ

ตามกฎหมายการเดินเรือระหว่างประเทศ เรือเดินสมุทรทุกลำจะต้องขึ้นทะเบียนสัญชาติเรือ เว็บไซต์ Boatinternational ชี้ว่า บรรดาประเทศหมู่เกาะแถบแคริบเบียนซึ่งได้ชื่อเป็นแดนสวรรค์สำหรับจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขต (OffShore) นั้น

ล้วนเป็นที่นิยมการขึ้นทะเบียนสัญชาติเรือเหล่านี้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะ “เกาะเคย์แมน” เนื่องจากผลประโยชน์ด้านกฎหมายการเดินเรือระหว่างประเทศ เหตุผลด้านภาษี กฎหมายแรงงานบนเรือ รวมถึงการรักษาความลับการเป็นเจ้าของ

การจดทะเบียนเรือยอชต์นอกอาณาเขตยุโรปตามแถบหมู่เกาะแคริบเบียน ทำให้เรือสามารถแล่นไปไหนก็ได้ถึง 18 เดือน โดยไม่ต้องเสียภาษีทะเบียนสัญชาติเรือ เหล่านี้จึงไม่แปลกที่บรรดาเศรษฐีรัสเซียสามารถแล่นลี้ภัยไปยังมัลดีฟส์เพื่อลี้ภัยทางเศรษฐกิจและการเมือง แม้แต่ตัวปูตินเองก็ยังมีเรือยอชต์แบบนี้ในครอบครอง