“จีน” กว้านซื้อธุรกิจ “ยุโรป” ขยายผล “One Belt One Road”

“ศตวรรษที่ 21” นับเป็นปีแห่งการยกทัพบุกลงทุนต่างประเทศของ “นักธุรกิจจีน” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21″ หรือ”One Belt One Road” อภิมหาโครงการต่าง ๆ ที่จีนนำเสนอต่อชาวโลกเพื่อขยายเส้นทางการค้าเชื่อม 3 ทวีป ล่าสุดบริษัทจีนรุกหนักกว้านซื้อธุรกิจในยุโรป พร้อมปักหมุดเพิ่มการลงทุน “อังกฤษ” ในแผนลงทุน 5 ปีข้างหน้า

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานอ้างข้อมูลจาก แกรนท์ ธอร์ตัน บริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติ ระบุว่าหลายปีที่ผ่านมาเกิดดีลการควบรวมกิจการ (M&A) ในธุรกิจคมนาคมขนส่งของจีนกับบริษัทในยุโรปและเอเชีย มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ และช่วง 11 เดือนแรกของปี 2017 พบว่าการควบรวมกิจการของจีนในทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 32,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2016

ผลการสำรวจ 6 เดือนแรกของปี 2016 พบว่าราว 9 โปรเจ็กต์ของบริษัทจีน เป็นการเข้าซื้อท่าเรือในยุโรปทั้งสิ้น

การเข้าซื้อกิจการท่าเรือต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งบริษัทของจีนได้เข้าซื้อหุ้น “ท่าเรือปิเรอุส” ท่าเรือใหญ่ที่สุดของประเทศกรีซ เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อได้ทั้งเอเชีย ยุโรปตะวันออก และแอฟริกาเหนือ รวมถึง “ท่าเรือพีเรีย” ทางตอนใต้ของกรุงเอเธนส์ เพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าของจีนเพื่อเข้าสู่ตลาดยุโรป รวมถึงความสำเร็จของรถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรกที่เชื่อมระหว่างจีนกับยุโรป ระยะทาง 12,000 กม. ตอกย้ำความรุดหน้าของจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางเยือนประเทศอังกฤษ พร้อมเข้าเจรจากับรัฐบาลในข้อตกลงการค้าและการลงทุน มูลค่ากว่า 30,000 ล้านปอนด์ ทำให้ทิศทางการลงทุนของจีนมุ่งสู่สหราชอาณาจักร (ยูเค) มากขึ้น มีวิจัยว่านักลงทุนจีนวางแผนจะเข้าไปลงทุนในยูเค 5 ปีข้างหน้า

รายงานของ “อิปซอสส์ โมริ” บริษัทสำรวจวิจัยของอังกฤษระบุว่า บริษัทจีนรุกหน้าเข้ามาลงทุนในสหราชอาณาจักร ทั้งด้านคมนาคมขนส่ง, สาธารณูปโภค และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการเข้าไปซื้อแบรนด์อังกฤษ อย่างเช่น แบรนด์วีทาบิกซ์, เทมส์ วอเตอร์ส และท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์

นายไมเคิล คอลลินส์ ซีอีโอของบริษัทวิจัย กล่าวว่า “ตัวเลขการลงทุนของบริษัทจีนที่ปรากฏมีนัยสำคัญ วิกฤตเบร็กซิตแม้สร้างความไม่แน่นอนต่อนักลงทุนหลายกลุ่ม แต่นักลงทุนชาวจีนกลับมองว่าเป็นโอกาส จากเดิมที่อียูเป็นเป้าหมายแรก”

บริษัทจีนบางรายให้เหตุผลว่า ความไม่แน่นอนของเบร็กซิต ที่ทำให้เกิดการแห่ย้ายออกลงทุนนอกประเทศอังกฤษ ปัจจัยเหล่านี้เป็นโอกาสของจีนในการเข้าไปช่วยอุ้มเศรษฐกิจลอนดอน ในฐานะพันธมิตรทางการค้า

นักวิเคราะห์ของอิปซอสส์ โมริ ยังมองว่า อีกปัจจัยเอื้อต่อการลงทุนที่อังกฤษเปิดรับมากขึ้น ก็คือ “สัญชาตญาณการเอาตัวรอด” ยิ่งจนมุมเท่าไหร่ วิกฤตจะเปลี่ยนเป็นโอกาสหากมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ซึ่งผู้นำจีนเคยกล่าวว่า อังกฤษมีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศนอกภูมิภาค จึงไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองประเทศจะปฏิเสธโอกาสทางการค้าร่วมกัน