ยุโรป ออกกฎคุม “บิ๊กเทค” ลดครอบงำ-ผูกขาดตลาด

ความกังวลเกี่ยวกับการครอบงำ “ตลาดดิจิทัล” เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี จากการที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่รายมีอำนาจกำหนดทิศทางตลาด ส่งผลให้ผู้ให้บริการรายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้ ขณะที่ผู้บริโภคก็ถูกปิดกั้นจากการเข้าถึงบริการที่หลากหลาย กลายเป็นการผูกขาดของยักษ์ใหญ่ในตลาดดิจิทัล

ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ผู้แทนเจรจาของรัฐสภาและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ได้บรรลุข้อตกลงว่าด้วยกฎหมายตลาดดิจิทัล (Digital Markets Act) หรือ “ดีเอ็มเอ” เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2022 โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการกีดกันทางการค้าในตลาดดิจิทัลของยุโรปโดยยักษ์เทค

กฎหมายดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่บริษัทบิ๊กเทคที่ถูกมองว่ามีอำนาจควบคุมตลาดดิจิทัล หรือที่เรียกว่า “เกตคีปเปอร์”(gatekeepers) ซึ่งครอบคลุมบริษัทที่มีมูลค่าตลาด (market cap) ตั้งแต่ 75,000 ล้านยูโรขึ้นไป หรือมีรายได้ในยุโรปตั้งแต่7,500 ล้านยูโร/ปีขึ้นไป และมีผู้ใช้บริการในยุโรปตั้งแต่ 45 ล้านคน/เดือน หรือลูกค้าธุรกิจตั้งแต่ 10,000 ราย/เดือนขึ้นไป

ภายใต้ข้อกำหนดมีรายละเอียดมากมายที่บริษัทเทคโนโลยีต้องปฏิบัติตาม ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ให้บริการจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาตีตลาดในยุโรป ทั้งนี้เพื่อลดการผูกขาดเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายย่อยสามารถแข่งขันในตลาดได้และให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเข้าถึงผู้ให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น

อย่างเช่น “แอปเปิล” เจ้าของระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) ในอุปกรณ์ต่าง ๆ จะต้องเปิดระบบให้ผู้ใช้บริการสามารถถอนการติดตั้งแอปพลิเคชั่นที่ติดมากับอุปกรณ์ของแอปเปิลออกได้ เช่นเดียวกับ “กูเกิล” ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” ที่จะถูกห้ามไม่ให้มีการนำเสนอแอปพลิเคชั่นหรือผลิตภัณฑ์ของตนเองโดดเด่นกว่าผู้ให้บริการรายอื่น

ขณะที่แอปสโตร์ของแอปเปิลยังจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายมากกว่าของแอปเปิลเอง และบริษัทต่าง ๆ ยังจะต้องเผชิญข้อกำจัดที่เข้มงวดในการเข้าถึงและรวบรวมข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้บริการเพื่อประโยชน์ในการโฆษณา ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของกูเกิลและเฟซบุ๊ก

นอกจากนี้ กฎหมายดีเอ็มเอยังกำหนดให้บริการรับ-ส่งข้อความและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของแต่ละบริษัทต้องทำงานร่วมกันได้ เพื่อไม่ให้บริษัทที่สร้างเครือข่ายผู้ใช้บริการขนาดใหญ่ได้เปรียบคู่แข่งรายย่อย

ซึ่งข้อกำหนดนี้อาจทำให้ “เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์” หรือวอตส์แอป ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ “ไอเมสเสจ” ของแอปเปิล รวมถึงผู้ให้บริการรายเล็กกว่าอย่าง “เทเลแกรม” หรือ “ซิกแนล”

ข้อกำหนดเหล่านี้ได้สร้างความกังวลให้กับบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย บีบีซีรายงานว่าแอปเปิลออกมาระบุว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการ “อาจสร้างช่องโหว่ด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการโดยไม่จำเป็น”

“มาร์เกรเธ เวสตาเกอร์” กรรมาธิการยุโรปด้านการแข่งขันทางการค้าระบุว่า “สิ่งที่เราต้องการนั้นเรียบง่ายคือ ตลาดที่ยุติธรรมในโลกดิจิทัล” และยังชี้ว่ากฎหมายดีเอ็มเอไม่ต่างจากการปฏิรูปเพื่อต่อต้านการผูกขาดในภาคธนาคาร พลังงาน หรือโทรคมนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บริษัทที่ละเมิดกฎหมายอาจต้องเผชิญค่าปรับมหาศาล หรือกระทั่งการสั่งห้ามให้บริการ แต่กฎหมายฉบับนี้ยังคงต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภายุโรปและสมาชิก 27 ประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุด ต.ค.นี้