รัสเซียถูกขับพ้นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN ไทยงดออกเสียง

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก UN Human Rights Council

93 ประเทศ โหวตขับ “รัสเซีย” พ้นสมาชิก UNHRC รัสเซียกร้าวเดินหน้ารักษาผลประโยชน์ของชาติตัวเองต่อไป ขณะที่ไทยงดออกเสียง 

วันที่ 8 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 ได้กลับมาจัดประชุมในวาระพิเศษเร่งด่วนครั้งที่ 11 (Eleventh Emergency Special Session)

โดยวาระสำคัญในที่ประชุมคือ การมีมติให้ขับรัสเซียพ้นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ด้วยคะแนนเห็นชอบ 93 เสียง ไม่เห็นชอบ 24 เสียง และงดออกเสียง 58 เสียง

ส่วนท่าทีของไทย ครั้งนี้ลงมติงดออกเสียง แตกต่างจากการประชุมเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 ที่ร่วมลงมติประณามรัสเซีย

สำหรับร่างข้อมติที่ผ่านการเห็นชอบ คือ ร่าง A/ES-11/L.4 ซึ่งระบุถึงสาระสำคัญอย่างเรียบง่ายว่า สมัชชาใหญ่ฯ “ตัดสินใจระงับสิทธิในสมาชิกภาพในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ของสหพันธรัฐรัสเซีย

Advertisment

ร่างข้อมตินี้ยังระบุด้วยว่า สมัชชาใหญ่ฯ “แสดงความกังวลอย่างยิ่ง” ต่อวิกฤตมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนที่กำลังดำเนินอยู่ในยูเครน และโดยเฉพาะรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยรัสเซีย

สำหรับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เป็นองค์การภายใต้สหประชาชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และสอดส่องยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประกอบด้วยสมาชิก 47 ประเทศที่มาจากการเลือกตั้งของสมัชชาใหญ่ฯ โดยมีวาระละ 3 ปี

ก่อนหน้านี้ เคยมีการระงับสมาชิกภาพในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เพียงแค่ครั้งเดียว คือ กรณีของลิเบียเมื่อปี 2011 หลังจากที่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม โดยกองกำลังภายใต้บังคับบัญชาของมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียในขณะนั้น

ขณะที่ท่าทีของประเทศรัสเซีย นายเกนนาดี คุซมิน อุปทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า การลงมติครั้งนี้ไม่ถูกต้องชอบธรรม และเป็นการลงมติที่มีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลังด้วย ส่วนนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียแถลงโต้ตอบมตินี้ทันทีว่า รู้สึกเสียใจ แต่จะเดินหน้าปกป้องผลประโยชน์ของชาติต่อไป ด้วยวิธีทางกฎหมายที่เป็นไปได้ทุกทาง

Advertisment