ราคาอาหารโลกเดือน มี.ค. พุ่งนิวไฮ ผลจากสงครามยูเครน

Photo by NARINDER NANU / AFP

FAO เผยราคาอาหารโลกเดือน มี.ค. แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทุบสถิติเดือน ก.พ. “ธัญพืช-น้ำมันพืช” กระทบหนักสุด

วันที่ 8 เมษายน 2565 เอเอฟพีรายงานว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยดัชนีราคาอาหารประจำเดือนมีนาคม พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เนื่องจากผลกระทบของสงครามยูเครนที่กระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดโดยเฉพาะธัญพืชและน้ำมันพืช

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ดัชนีราคาอาหาร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงรายเดือนของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากสุดทั่วโลก เฉลี่ยที่ 159.3 จุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา เทียบกับระดับของเดือนก.พ.ที่ปรับค่าแล้วที่ 141.4 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดก่อนหน้านี้

“ดัชนีนี้นับเป็นการพุ่งแตะระดับสูงสุดรอบใหม่นับตั้งแต่ ก่อตั้ง FAO ในปี 1990”

FAO เสริมว่าสินค้าที่ราคาพุ่งสูงมากสุดในเดือนมีนาคม รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญหลายชนิด อาทิ น้ำมันพืช ธัญพืชเกือบทุกชนิด และเนื้อสัตว์ ซึ่งล้วนมีราคาพุ่งทำสถิติใหม่เป็นประวัติการณ์เช่นกัน ขณะที่ราคาน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากนม ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมากเช่นกัน

ทั้งรัสเซียและยูเครน ถือเป็นชาติสำคัญที่ส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของการบริโภคข้าวสาลี และร้อยละ 20 ของการบริโภคข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในทั่วโลก ขณะที่แหละเพาะปลูกข้าวสาลีแหล่งสำคัญแห่งอื่นอย่างในสหรัฐฯ ก็ประสบปัญหาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ ทำให้ราคาข้าวสาลีในสหรัฐพุ่งขึ้นเกือบ 20%

ดัชนีราคาน้ำมันพืชของ FAO เพิ่มขึ้น 23.2% โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันเมล็ดทานตะวันที่สูงขึ้น ซึ่งยูเครนเป็นผู้ส่งออกชั้นนำของโลก ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในประเทศยุโรป ประกาศจำกัดการซื้อน้ำมันพืชเนื่องจากเกรงว่าการกักตุนจะทำให้สินค้าขาดตลาดและยิ่งมีราคาพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิม

นอกจากราคาอาหารแล้ว ผลจากสงครามยูเครนรัสเซีย ยังส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซพุ่งทะลุเพดาน ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก สร้างความกังวลว่าอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักในช่วงเวลาที่หลายชาติเริ่มฟื้นเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19