ศึกยูเครน บีบ ‘เยอรมนี’ ต้องเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจ

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อไม่นานมานี้ “มาร์ติน บรูเดอร์มุลเลอร์” ซีอีโอของบริษัทเคมีภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสัญชาติเยอรมัน อย่าง BASF ออกมาให้สัมภาษณ์เตือนว่า “เยอรมนี” ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจ หรือเปลี่ยน “โมเดลเศรษฐกิจ” ของประเทศใหม่

ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจที่เคยแข็งแกร่ง รุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อาจเผชิญกับปัญหาใหญ่หลวง

บรูเดอร์มุลเลอร์ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจเยอรมนีแข็งแกร่งและขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เนื่องด้วยสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ

ประการแรกสุด คือ เยอรมนีมีแหล่งพลังงานนำเข้าที่มั่นคงและราคาถูก ซื้อหาได้ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกจากรัสเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ชิดกันในยุโรป สำหรับใช้เป็นพลังงานป้อนให้กับอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศที่แข็งแกร่ง

ผลก็คือ เยอรมนีสามารถผลิตและพัฒนาสินค้าที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงได้

ประการที่สอง คือ การที่บรรดาบริษัทเยอรมันพากันกระโดดลงไปในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนได้ก่อนหน้าคู่แข่งรายอื่นใดจากทั่วโลก เกาะกุมส่วนแบ่งขนาดใหญ่ในตลาดนี้ได้ก่อนใคร อาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่ผ่านมาสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของเยอรมนีมหาศาล

ตัวอย่างเช่น 40% ของรถยนต์ที่ผลิตได้ในแต่ละปีของโฟล์คสวาเกนขายอยู่ในจีนเท่านั้น

ที่สำคัญที่สุดประการที่สามนั่นคือกระแส โลกาภิวัตน์ที่ผลักดันให้มีการเปิดเสรีทางการค้า และทำให้หลายประเทศยอมรับการเปิดตลาดของตนเองและรับการแข่งขันจากนานาประเทศ ซึ่งส่งผลให้สินค้า “เมดอินเยอรมนี” รุ่งโรจน์ได้ในสภาวะแวดล้อมที่เป็นเสรีของตลาดโลก

ทั้งหมดนั้นทำให้เยอรมนีได้เปรียบดุลการค้ามหาศาลมาตลอด 20 ปีมานี้ ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศถูกผูกโยงเข้ากับพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย และตลาดใหญ่ของจีนอย่างช่วยไม่ได้

ประเด็นของบรูเดอร์มุลเลอร์ ก็คือ สภาวการณ์ดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงไปชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

ก่อนหน้าที่เกิดสงครามหนนี้ วิกฤตโควิดเคยก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงและซับซ้อนขึ้นกับระบบซัพพลายเชนทั่วโลกมาแล้ว เมื่อผสมผสานเข้ากับผลสะเทือนที่รุนแรงจากสงครามยูเครน ก็ทำให้หลายคนเริ่มเป็นกังวลถึง “การล่มสลายของโลกาภิวัตน์” มากขึ้นตามลำดับ

สงครามยูเครนทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องดึงตัวออกห่างจากการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้การนำเข้าพลังงานจากรัสเซียกลายเป็นการสนับสนุนความก้าวร้าวรุกรานของ “วลาดิมีร์ ปูติน” ให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เยอรมนีจะทำอย่างไรกับจีน ซึ่งแสดงทีท่าหนุนหลังรัสเซีย ?

นักเศรษฐศาสตร์เยอรมันอย่าง “แกเบรียล เฟลเบอร์มายเออร์” ตั้งคำถามเอาไว้อย่างเปิดเผยว่า หรือโลกาภิวัตน์ที่ดำเนินมาตลอด 30 ปี กำลังจะสิ้นสุดลง ? โลกกำลังเข้าสู่ยุคของการแบ่งขั้ว เป็นตะวันตกค่ายหนึ่งและตะวันออกที่นำโดยรัสเซียกับจีนอีกค่ายหนึ่ง ?

ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายโมเดลเศรษฐกิจของเยอรมนีที่ยึดถือมาตลอด 20 ปีลงโดยสิ้นเชิง

เยอรมนีกำลังต้องการโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ และต้องคิดให้ออกให้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจทั้งหลายของประเทศสามารถคงอยู่และปรับตัวได้ใหม่ภายใต้สถานการณ์ท้าทายที่กำลังจะมาถึง

อาจต้องเริ่มต้นตั้งแต่การหาหนทางให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้ได้ ต้องเริ่มจริงจังกับการพลิกโฉมหน้าด้านพลังงานของประเทศ เพื่อนำไปสู่ภาวะอุตสาหกรรมปลอดคาร์บอนในอนาคต

“แหล่งพลังงานทางเลือก” รวมทั้งพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไฮโดรเจนมีนัยสำคัญต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ อันจะทำให้เยอรมนีกลับมามีความได้เปรียบในการแข่งขันได้อีกครั้ง

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไม “โรเบิร์ต ฮาเบค” รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนีถึงได้ยืนกรานในความต้องการที่จะให้เยอรมนีเป็นประเทศที่ใช้ไฟฟ้าโดยปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ภายใน 13 ปีข้างหน้า โดยอาศัยแหล่งพลังงานจากแสงแดด กระแสลมและพลังงานจากชีวมวล

ปัญหาหนักก็คือ ในช่วง 13 ปีที่ว่าเยอรมนีจะทำอย่างไร ?

บรูเดอร์มุลเลอร์ เตือนเอาไว้ว่า แค่ยกเลิกการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเพียงอย่างเดียว

ความอยู่ดีกินดีของคนเยอรมันทั้งประเทศก็อาจจบสิ้นในทันทีเช่นกัน