วิกฤตพลังงานเอเชีย หนักหนากว่าที่คาด

พลังงานเอเชีย
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญกับความท้าทายจากวิกฤตการณ์พลังงานครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ในบางประเทศราคาพลังงานพุ่งสูง แต่ก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะขาดแคลน ในทางตรงกันข้าม สำหรับอีกหลายประเทศ ราคาน้ำมันที่แพงหูฉี่ หมายความว่า ภาวะการขาดแคลนพลังงานจะเกิดขึ้นตามมา

ในประเทศที่วิกฤตหนักอย่าง “ศรีลังกา” ประชาชนต้องใช้เวลาแทบทั้งวัน เพื่อต่อคิวยาวราว 3 กิโลเมตร สำหรับรอซื้อน้ำมันจากปั๊ม

ที่อินเดียและปากีสถาน ไฟฟ้าที่ติด ๆ ดับ ๆ ส่งผลให้จำเป็นต้องปิดโรงเรียน ปิดกิจการธุรกิจ ในขณะที่ชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากับกระแสคลื่นความร้อน หรือฮีตเวฟ ที่ทำให้อุณหภูมิทะยานขึ้นไปสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส โดยปราศจากแอร์คอนดิชั่น

ในประเทศที่มั่งคั่งอย่าง “ออสเตรเลีย” ราคากระแสไฟฟ้าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 141% และปัญหาพลังงานกำลังสร้างความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจ เมื่อยิ่งนับวันประชาชนเริ่มต้องควักกระเป๋าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าและพลังงานเพิ่มมากขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด

ที่ อินเดีย ความต้องการด้านพลังงานพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่อุปทานด้านพลังงานไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดไฟดับเป็นวงกว้าง ท่ามกลางอุณหภูมิสูงทำสถิติ ผลลัพธ์ก็คือ อินเดีย จำเป็นต้องกลับมานำเข้าถ่านหินอีกครั้ง เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2015 เพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนพลังงาน

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานระบุว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการพลังงานถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำอย่างผิดปกติ ตัวเลขการบริโภคไฟฟ้าของทั้งโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 ลดลงถึงกว่า 3% เพราะมาตรการล็อกดาวน์และอื่น ๆ

เมื่อโควิดกำลังจะผ่านพ้น ความต้องการด้านพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการแข่งขันสูงและผลักดันให้ราคาพลังงานทุกชนิดไม่ว่า น้ำมัน, ถ่านหินและก๊าซ พุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สงครามของรัสเซียในยูเครน ยิ่งทำให้ราคาพลังงานโดยรวมสูงยิ่งขึ้นไปอีกอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ซัพพลายด้านพลังงานยังคงมีอยู่จำกัด

“ซาแมนธา กรอส” ผู้อำนวยการความมั่นคงด้านพลังงานของสถาบันบรูกกิ้ง ยืนยันว่า ความต้องการพลังงานสูงขึ้นมากและเร็ว ไม่สมดุลกับปริมาณด้านซัพพลายที่ยังคงจำกัด ราคาถ่านหินในตลาดโลกจึงปรับตัวสูงขึ้นจากเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมาถึง 5 เท่าตัว ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ปรับตัวสูงขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ในสถานการณ์เช่นนี้ หลายประเทศในเอเชียที่จำเป็นต้องนำเข้าพลังงานเหล่านี้จะประสบปัญหามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่ยังคงเป็นชาติกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

“มาร์ก แซนดี้” หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของมูดีส์ อนาไลติกส์ ระบุว่า ประเทศอย่าง “ศรีลังกา” หรือ “ปากีสถาน” ซึ่งจำเป็นต้องจัดซื้อพลังงานน้ำมัน ก๊าซ จากตลาดโลก จะพบปัญหาหนักหน่วงที่สุด เมื่อต้องควักกระเป๋าเพิ่มขึ้นในการจัดซื้อ แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ในราคาเพิ่มขึ้น

ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ต้องแข่งขันกันซื้อหาพลังงานในราคาสูงเช่นเดียวกับชาติพัฒนาแล้วทั้งหลายในยุโรป ยิ่งจำเป็นต้องนำเข้ามากเท่าใด ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาใหญ่มากขึ้นเท่านั้น

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า เป็นไปได้ที่วิกฤตการณ์ที่ยังไม่มีทางออกในภูมิภาคเอเชียอาจลุกลามขยายวงออกไปกลายเป็นวิกฤตการณ์ในระดับโลกได้

“ไซอัด ดาอูด” หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำตลาดเกิดใหม่ของบลูมเบิร์ก เชื่อว่า ความเสี่ยงที่วิกฤตการณ์การเงินในศรีลังกาจะลามไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่มีระดับหนี้สูง อัตราดอกเบี้ยสูง และค่าเงินอ่อนลงตามลำดับ

เขาชี้ว่า 5 ประเทศที่เสี่ยงจะเกิดวิกฤตตามรอยศรีลังกามากที่สุดในเวลานี้ คือ ประเทศอย่าง ตูนิเซีย, เอลซัลวาดอร์, กานา, เอธิโอเปีย และปากีสถาน

ดาอูดเชื่อว่า ผู้ที่ปล่อยกู้ให้กับศรีลังกา น่าจะสูญเสียเม็ดเงินลงทุนไปอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ แม้ว่าจีนจะยังคงไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมกับความตกลงพหุภาคี เพื่อยกหนี้ให้กับศรีลังกาในเวลานี้ก็ตามที

แต่เมื่อถึงเวลาเข้าจริง ๆ ก็อาจจำเป็นต้องยกหนี้ส่วนหนึ่งให้อยู่ดี แม้ไม่ต้องการเพียงใดก็ตาม

ปัญหาก็คือ สถานการณ์ดังกล่าวจะจำกัดอยู่เฉพาะศรีลังกา ประเทศเดียวจริงหรือไม่เท่านั้นเอง