‘IRPC’ โชว์ศักยภาพและนวัตกรรมเม็ดพลาสติก HDPE สีเทา เปิดตัว ‘สวนโซลาร์ลอยน้ำ’ ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

‘พลังงานสะอาด’ พลังงานทดแทนที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาสู่กระบวนเปลี่ยนพลังงานธรรมชาติในหลากหลายรูปแบบให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ที่นิยมในประเทศไทยคือในรูปแบบของการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ผ่านตัวกลางที่มีชื่อว่า ‘โซลาร์เซลล์’ ข้อดีคือไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกับพฤติกรรมของภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่ใส่ใจและเล็งเห็นความสำคัญของพลังงานหมุนเวียน ตระหนักและเห็นคุณค่าในการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความยั่งยืนในการใช้พลังงาน

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดบ้านที่ จ.ระยอง โชว์ศักยภาพผู้นำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีของบริษัทฯ ผสานเข้ากับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้า ในโครงการ ‘สวนโซลาร์ลอยน้ำ IRPC’ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ทำการติดตั้งทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ เพื่อนำมาใช้ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมของบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 12.5 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งนับได้ว่าเป็นโซลาร์ลอยนํ้ามีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว เสริมความมั่นคงด้านพลังงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต คาดการณ์ว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าได้ 50 – 60 ล้านบาท/ปี

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานกรรมการ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “IRPC เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงได้นำเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรม ผสานกับนวัตกรรมการผลิตเม็ดพลาสติก HDPE เกรดพิเศษสีเทาของ IRPC สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการใช้พลังงานหมุนเวียนและอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดการใช้พลังงานสะอาด โดยบูรณาการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในสวนโซลาร์ลอยน้ำ IRPC ได้ ในอนาคตบริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจด้านโซลาร์ลอยน้ำเพิ่มเติมซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาติดตั้งบริเวณบ่อน้ำดิบสำรองให้ครบ 5 บ่อ จากเดิม 3 บ่อที่ติดตั้งแล้วเสร็จและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว” 

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงข้อมูลเชิงลึกของโครงการฯ ว่า “โซลาร์ลอยน้ำ (Floating solar) ใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 500 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้ากำลังขนาด 12.5 เมกะวัตต์ (MW) เป็นสวนโซลาร์ลอยน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

สวนโซลาร์ลอยน้ำ IRPC เป็นการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมการผลิตเม็ดพลาสติก HDPE เกรดพิเศษสีเทาของ IRPC ผสานเข้ากับแนวคิดของการใช้พลังงานสะอาดมาใช้บริเวณพื้นที่ของ IRPC ซึ่งบริษัทฯ มีแนวคิดที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงริเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2562 ที่ผ่านมา สำหรับกำลังผลิตกระแสไฟฟ้านั้น จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางระบบไฟฟ้าให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของบริษัทฯ สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าได้ 50 – 60 ล้านบาท/ปี อีกทั้ง IRPC ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพและอรรถประโยชน์ในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในสถานประกอบการภายในประเทศ ตอบรับนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น สามารถยกระดับนวัตกรรมที่มีกระบวนการออกแบบและผลิต รวมถึงวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศไทยภายใต้แนวคิด ไทยทำ ไทยใช้ เพื่อคนไทย

นวัตกรรมที่เป็นจุดเด่นของสวนโซลาร์ลอยน้ำแห่งนี้คือ ทุ่นลอยน้ำที่ผลิตจากนวัตกรรมการผลิตเม็ดพลาสติก ‘POLIMAXX’ ของ IRPC ชื่อว่า HDPE (High Density Polyethylene หรือโพลีเอททีลีนความหนาแน่นสูง) มีข้อดีคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ มีคุณสมบัติช่วยลดอุณหภูมิบริเวณใต้แผงโซลาร์ได้ 5-8 องศาเซลเซียส คุณสมบัติทางกายภาพคือทนทานต่อแรงกระแทกและแสง UV มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 25 ปี อีกทั้งยังผ่านมาตรฐาน Food grade จากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) 

โครงการสวนโซลาร์ลอยน้ำ นับเป็นความสำเร็จด้านงานวิจัยและนวัตกรรมของบริษัทฯ อย่างมหาศาล นอกจากช่วยสร้างพลังงานสะอาดเพื่อการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังก่อให้เกิดความยั่งยืนด้านชุมชนสิ่งแวดล้อม และใช้พื้นที่บนผิวน้ำที่มีมากถึงร้อยละ 3 ของพื้นที่ในประเทศหรือประมาณ 9 ล้านไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10,510 ตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ราว 10,000 ต้น โดย IRPC มีเป้าหมายบูรณาการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง ให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในสวนโซลาร์ลอยน้ำ IRPC ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือเป็นสถานที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ สานต่อนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในองค์กร (CSR) เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ว่า ‘เติบโตอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม’ 

ในอนาคตอันใกล้ อาจจะได้เห็นบริษัทหลายแห่งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดมาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อช่วยผลักดันและสร้างความสมดุลในการใช้พลังงานอย่างมีคุณค่าและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ช่วยลดมลภาวะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลก อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าไฟฟ้าลง ถือเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่สร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน