รายงานของไอเออีเอ : โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอรีเชียที่รัสเซียยึดครองอยู่ในสภาพอันตรายแค่ไหน

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency–IAEA) หรือ ไอเออีเอ เรียกร้องให้กำหนดเขตปลอดทหารรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอรีเชียที่รัสเซียยึดครองอยู่ในยูเครน

ดยได้ระบุในรายงานล่าสุดว่าแม้การระดมยิงที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะยังไม่ก่อให้เกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ แต่ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความมั่นคงนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องและอาจกระทบต่อระบบความปลอดภัยที่สำคัญจนอาจก่อผลพวงด้านรังสีวิทยาตามมาได้

จากการเข้าไปตรวจสอบ ผู้เชี่ยวชาญของไอเออีเอ พบความเสียหายอย่างหนักเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในจุดที่เป็นแนวรบของสงครามยูเครน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ เดินทางมาตรวจสอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอรีเชียที่รัสเซียยึดครองอยู่ เป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ที่มาของภาพ, EPA

“ไอเออีเอมีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอรีเชีย และความกังวลนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง” รายงานดังกล่าวระบุ

การสู้รบที่เกิดขึ้นอาจสร้างความเสียหายและก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ได้เลวร้ายแค่ไหน

เกิดอะไรขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้

รัสเซียยึดครองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอรีเชียตั้งต้นเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงสัปดาห์ที่สองของการรุกรานยูเครนอย่างเต็มกำลัง

การสู้รบระหว่างกองกำลังของยูเครนและรัสเซียเกิดขึ้นใกล้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเมืองเอเนอร์โฮดาร์ และได้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นที่อาคารหลังหนึ่งในบริเวณโรงไฟฟ้า จนทำให้เกิดความกังวลไปทั่วยุโรป

กราฟิก

โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีเตาปฏิกรณ์แบบใช้น้ำแรงดันสูง 6 เตา และมีพื้นที่กักเก็บกากกัมมันตรังสีหลายจุด

ในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ชาวยูเครนอ้างว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้กำลัง “ถูกระดมยิงโดยตรง” จนทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้รับความเสียหาย

ท้ายที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่สามารถคุมเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นได้ แต่เหตุการณ์นี้ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องเรียกประชุมฉุกเฉิน และออกแถลงการณ์การโจมตีโรงไฟฟ้า ที่ฝ่ายรัสเซียอ้างว่า “ผู้ก่อวินาศกรรมชาวยูเครน” เป็นคนก่อเหตุ

กราฟิก

ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. ความกังวลด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอรีเชียทวีขึ้น ในขณะที่กองกำลังรัสเซียถูกกล่าวหาว่า มีการระดมยิงจากบริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้าแห่งนี้

หน่วยงานด้านนิวเคลียร์ของยูเครน ระบุว่า รัสเซียยิงจรวดจนสร้างความเสียหายต่อพื้นที่บางส่วนของโรงไฟฟ้า แต่รัสเซียกลับกล่าวหาว่า เป็นฝีมือของกองกำลังของยูเครน

ที่ผ่านมามีการระงับการเชื่อมต่อของโรงไฟฟ้าแห่งนี้กับระบบจ่ายไฟสำรองจากภายนอก ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้โรงไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องได้อย่างปลอดภัย มาแล้วหลายครั้ง

สถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น

ภาพจากกล้องซีซีทีวีในเดือน มี.ค. เผยให้เห็นว่า เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ในช่วงที่กองทัพรัสเซียรุกรานยูเครน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ความเสี่ยงที่ชัดเจนที่สุดที่เกิดกับเตาปฏิกรณ์ที่ได้รับความเสียหายจากการระดมยิงหรือจากจรวดลูกหนึ่งคือ อาจจะเกิดความเสียหายขึ้นที่โครงสร้างห่อหุ้มด้านนอก แม้ว่าเตาปฏิกรณ์จะถูกออกแบบมาเพื่อทนทานต่อแรงดันภายนอกหรือความเสียหายในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่จากการถูกโจมตีด้วยอาวุธ

ถ้าโครงสร้างห่อหุ้มด้านนอกหรือระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ได้รับความเสียหาย ก็อาจจะเกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระเบิดของไฮโดรเจน หรือ นิวเคลียร์ด้วย

Reuters

“ถ้ายิงจรวดโจมตีเตาปฏิกรณ์หนึ่งเตา การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีที่เกิดตามมาจะส่งผลกระทบต่อทั้งยุโรป ต่อไครเมีย [ดินแดนที่ถูกรัสเซียผนวกรวมเป็นของตัวเอง] และแน่นอนต่อยูเครนทั้งประเทศ” โอลฮา โคชาร์นา ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์อิสระชาวยูเครน กล่าวก่อนที่จะมีการเผยแพร่รายงานของไอเออีเอ

อันเดรย์ โอชารอฟสกี นักฟิสิกส์ชาวรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดกากนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย กล่าวว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอรีเชีย จะทำให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Caesium-137) จำนวนมหาศาล โดยสารกัมมันตรังสีนี้เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิสชันซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า สามารถแพร่กระจายทางอากาศไปได้ไกล

กราฟิก

การแพร่กระจายของซีเซียม-137 อาจจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสุขภาพของมนุษย์และอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในพื้นที่ทำการเกษตรได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้เป็นเวลานานหลายปีต่อไป

นอกจากนี้ประเทศที่อยู่ห่างไกลอาจจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและทิศทางลม

นอกจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้ว โรงเก็บกากนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอรีเชียก็ตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน บรรดาผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์ระบุว่า ถ้ามันถูกโจมตีด้วยจรวดหรือถูกระดมยิง ทั้งที่โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็จะทำให้เกิดอันตรายตามมา

ประชาคมโลกทำอะไรได้บ้าง

หทารยืนอยู่ ฉากหลังเป็นเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 และ 5

ที่มาของภาพ, Reuters

อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) กำหนดห้ามการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยตามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ของอนุสัญญาเจนีวาปี 1949 ระบุว่า ห้ามโจมตีเขื่อน, ทำนบกั้นน้ำ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะอาจก่อความสูญเสีย “อย่างใหญ่หลวง” ต่อพลเรือน ทั้งจากน้ำท่วมและกัมมันตภาพรังสี”

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าอาจเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมในการโจมตีได้ ถ้ามันถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร ไม่ใช่ทางพลเรือน

มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่คล้ายคลึงกันนี้กับเป้าหมายทางทหารที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่อันตรายอื่น ๆ ด้วย โดยควรหลีกเลี่ยงการโจมตีเป้าหมายเหล่านั้น

ก่อนหน้านี้ ยูเครนร้องขอประชาคมโลกให้ “ปิดน่านฟ้า” เหนือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอรีเชีย ซึ่งเท่ากับเป็นการป้องกันภัยทางอากาศไม่ให้มีการโจมตีโดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้โดยตรงได้ แต่สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะหลายประเทศที่สนับสนุนยูเครน เกรงว่าอาจถูกรัสเซียตีความเหมารวมว่าเข้ามามีส่วนร่วมกับความขัดแย้งนี้โดยตรง