100 ปีบีบีซี : ความทรงจำของ 3 อดีตคนข่าวบีบีซีไทย

  • วิชุตา ครุธเหิน
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
NBH

ที่มาของภาพ, PA Media

18 ตุลาคม ค.ศ. 1922 คือวันที่บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือ บีบีซี (British Broadcasting Corporation หรือ BBC) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ The British Broadcasting Company โดยเริ่มต้นจากการให้บริการวิทยุรายวันในกรุงลอนดอนที่ออกอากาศวันละไม่กี่ชั่วโมง

ปัจจุบันบีบีซีคือผู้ประกอบกิจการแพร่ภาพและกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์สาธารณะชั้นนำของโลก ซึ่งมีภารกิจเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยรายการที่ให้ข้อมูล ความรู้ และความบันเทิง

เมื่อเปิดดำเนินการได้ 15 ปี บีบีซีจึงเริ่มเปิดให้บริการภาษาต่าง ๆ ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1938 โดยมีภาษาอาหรับเป็นภาษาแรก จนกระทั่งเดือนเมษายน ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) จึงเปิดให้บริการข่าววิทยุภาคภาษาไทยขึ้น และอยู่คู่สังคมไทยยาวนานร่วม 65 ปี ก่อนปิดตัวลงเมื่อ 13 มกราคม ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ทว่าการก่อรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ทำให้บีบีซีไทยได้ถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง เที่ยงตรง และส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตย เริ่มจากให้บริการทางเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ แล้วขยายมาเป็นเว็บไซต์ www.bbcthai.com เมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ตลอดเส้นทางที่ยาวนานกว่า 7 ทศวรรษของบีบีซีภาคภาษาไทยได้ผลิตบุคลากรข่าวที่มีคุณภาพมากมาย หลายคนได้นำประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากบีบีซีไปต่อยอดในการทำงานและพัฒนาองค์กรสื่อในประเทศไทย

“เสาหลักของสื่อวิทยุโทรทัศน์”

วสันต์ ภัยหลีกลี้ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คือหนึ่งในศิษย์เก่าของวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยที่ทำงานระหว่างปี พ.ศ. 2532-2536 ขณะศึกษาอยู่ในกรุงลอนดอน

วสันต์ ถูกส่งตัวมาทำข่าวเลือกตั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในเดือน ก.ย. 2535

ที่มาของภาพ, วสันต์ ภัยหลีกลี้

ในยุคนั้นทีมงานบีบีซีภาคภาษาไทยส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาไทยที่มาเรียนในอังกฤษและไม่ได้มีทักษะความรู้หรือประสบการณ์ด้านการทำข่าวโดยตรง ดังนั้นบีบีซีจึงรับวสันต์ ซึ่งเรียนและเคยทำงานด้านนี้เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ผลิตรายการ โดยมีหน้าที่หลัก ๆ คือการผลิตข่าว แปลข่าว และประกาศข่าวในรายการวิทยุของบีบีซีไทยที่ออกอากาศวันละ 2 ครั้ง

“การที่ได้ทำงานกับบีบีซีซึ่งถือว่าเป็น ‘เสาหลัก’ ของสื่อทางด้านวิทยุโทรทัศน์ของโลก บีบีซีในแง่ชื่อเสียง ในแง่ของการเป็นสื่อระหว่างประเทศนั้น ถือว่าเป็นสื่อที่มีมาตรฐานที่สูง ก็เป็นเรื่องที่ดีใจและภูมิใจที่ได้มีโอกาสร่วมทำงานด้วยตรงนี้” วสันต์เล่าให้บีบีซีไทยฟัง

นี่คือความรู้สึกที่ไม่ต่างกันนักของ ณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการ ผู้ดำเนินรายการข่าว และผู้อำนวยการศูนย์ Thai PBS World ที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยเมื่อปี พ.ศ. 2543 ในฐานะพนักงานนอกเวลา ขณะกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสาขาสังคมวิทยาและสตรีศึกษาที่ London School of Economics มหาวิทยาลัยลอนดอน

“ช่วงที่ได้มาทำบีบีซีกำลังเรียนปริญญาเอก…จริง ๆ เป็นความตั้งใจตั้งแต่ก่อนไปเรียนที่ลอนดอนว่าในชีวิตนี้อยากทำงานที่บีบีซีไทย…พอได้งานก็ดีใจมาก” เธอเล่า

“ช่วงนั้นรู้สึกว่าโชคดีมาก เพราะได้เรียนวิชาการ แล้วอีกด้านหนึ่งก็ยังได้ติดตามข่าวต่างประเทศซึ่งตัวเองชอบ แล้วก็ได้ทำงานเป็นผู้ประกาศทางวิทยุ เป็นส่วนหนึ่งของรายการวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ซึ่งเราจะได้อัพเดตในช่วงข่าวรอบโลก ในขณะที่พี่ ๆ ก็จะมีสกู๊ป มีรายงานพิเศษในเชิงลึก…”

แหล่งบ่มเพาะคนข่าวมืออาชีพ

นอกจากจะเป็นองค์กรข่าวที่บริการข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชนแล้ว บีบีซียังเป็นแหล่งบ่มเพาะและผลิตบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนที่สำคัญ โดยมีหน่วยงานเฉพาะที่เรียกว่า “บีบีซี อะคาเดมี” (BBC Academy) ซึ่งมีหน้าที่จัดอบรมทักษะวิชาชีพและแนวทางการทำข่าวตามมาตรฐานของบีบีซี

แม้จะเป็นพนักงานนอกเวลา แต่ณัฏฐาก็ได้มีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรเหล่านี้ด้วย

ณัฏฐา โกมลวาทิน

ที่มาของภาพ, ณัฏฐา โกมลวาทิน

“ถือเป็นความโชคดีอย่างมากในชีวิตที่ได้เรียนรู้ต้นทุนในการทำข่าวแบบมืออาชีพตามแนวทางของบีบีซี คือพอไปเข้าไปทำใหม่ ๆ จะเป็นข้อบังคับเลยว่าเราจะต้องเข้าอบรมบีเจ 1 (Basic Journalism – หลักสูตรพื้นฐานผู้สื่อข่าว)” เธอเล่า

“มันเป็นการเทรนกันอย่างเข้มข้นสำหรับคนที่ได้ไปเริ่มงานกับบีบีซี…มันเป็นเหมือนวิชาพื้นฐาน 101 สำหรับวิชาชีพสื่อมวลชน แล้วได้รับการเทรนจากคนที่ทำงานมีประสบการณ์มากจากแผนกต่าง ๆ ของบีบีซีที่มาเทรนเรา เป็นเวิร์กช็อปแบบเข้มข้น ทำให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของความเป็นบีบีซี ความเป็นสื่อสาธารณะ สื่อที่ต้องทำงานอย่างปราศจากอคติ ความลำเอียง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องมีจริยธรรม รวมการเช็กข้อมูลที่ต้องมีความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ เหล่านี้เป็นดีเอ็นเอพื้นฐานสำหรับสื่อมวลชนที่ต้องการรักษาคุณภาพ รักษามาตรฐานในการทำงานอยู่แล้ว”

“พอได้ไปสัมผัสกับบีบีซีก็ได้เข้าใจคุณค่าดีเอ็นเอพื้นฐานของความเป็นสื่อมวลชน และลักษณะในการทำงานของบีบีซี บวกกับมุมมองในการมองข่าวที่พยายามตีความ หรือโยงมาถึงชีวิตคน และพยายามตรวจสอบนักการเมือง ตรวจสอบผลประโยชนธุรกิจ ก็เลยคิดว่าเป็นโชคดีของตัวเองที่ได้ต้นทุนตรงนี้มา แล้วก็นำต้นทุนที่ได้ ประสบการณ์ที่ได้โดยตรงจากบีบีซีนำมาสานต่อกับการทำงานที่ไทยพีบีเอส”

มาตรฐานการทำข่าว

บีบีซีเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ชมและรับฟังข่าวสารทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก ในฐานะผู้นำเสนอข่าวที่เชื่อถือได้

หลักคุณค่าที่เรายึดถือสำหรับงานบรรณาธิกรระบุไว้ว่า “ความเชื่อถือที่ผู้รับข่าวสารมีต่อเนื้อหาของเราทั้งหมด เป็นรากฐานของทุกสิ่งที่เราทำ เรามีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และซื่อตรง มีความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุถึงมาตรฐานสูงสุดของความถูกต้องเป็นกลาง ทั้งจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ชักนำให้ผู้รับข่าวสารเกิดความเข้าใจผิด ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม”

“การอุทิศตนเพื่อดำรงความเป็นกลางคือหัวใจของความสัมพันธ์แห่งความไว้เนื้อเชื่อใจดังกล่าว ผลงานทุกชิ้นของเราจะปฏิบัติต่อทุกประเด็นด้วยความไม่เอนเอียง และสะท้อนความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เราจะพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทุกเรื่องอย่างเป็นธรรมและเปิดกว้าง”

มาตรฐานการทำงานดังกล่าวเป็นที่ยึดถือของคนทำงานบีบีซีทุกภาคส่วน และเมื่อเขาเหล่านั้นออกไปทำงานในองค์กรอื่น ๆ หลายคนได้นำหลักการที่ได้เรียนรู้จากบีบีซีไปใช้พัฒนาองค์กรใหม่ด้วย

เจมส์ เซลส์ และพนักงานบีบีซีไทย ในอดีต

ที่มาของภาพ, James Sales

หลังเดินทางกลับประเทศไทย วสันต์ได้มีโอกาสทำงานบริหารสื่อหลายสำนัก เช่น เป็นกรรมการบริหารและรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส, กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท, บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันและผู้จัดการออนไลน์ และผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เป็นต้น และเขาได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากบีบีซีมาใช้พัฒนาองค์กรเหล่านี้

“ช่วงที่เป็นผู้บริหารองค์กรสื่อ ก็เอาเรื่องจริยธรรมมาใช้ในหลายองค์กร เช่น มีโอกาสทำงานที่ช่อง 7 เป็นรองผู้จัดการฝ่ายข่าว เราก็กำหนดเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อขึ้นมา ช่วงที่อยู่ไอทีวี ผู้จัดการ อสมท. และไทยพีบีเอส” วสันต์ กล่าว

“ต้องยอมรับว่า บีบีซีมาตรฐานสูง พอเราเข้าองค์กรตอนแรกก็จะมีการปรับพื้นฐานเบื้องต้น มีหลักสูตรที่จะรองรับตั้งแต่ต้น เช่น ให้รู้แนวปฏิบัติงาน ภาพรวม รู้เรื่องจริยธรรม…”

เขาชี้ว่าในยุคที่โลกเต็มไปด้วยข่าวปลอม องค์กรสื่อระดับโลกล้วนมีแผนกที่ตรวจพิสูจน์ความจริงของข้อมูลโดยเฉพาะ แต่ขณะเดียวกันคนที่ทำงานข่าวทั้งหมดก็จะต้องรู้เรื่องด้วย อย่างน้อยก็จะต้องรู้พื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริง

“คิดว่าตรงนี้แหละที่บีบีซีมีมาตรฐานและความเป็นระบบในเรื่องวิชาชีพ ทักษะ มาตรฐานด้านจริยธรรม ซึ่งตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้”

“สมัยก่อนเค้าก็พูดกันเรื่องนี้ว่า บีบีซีเป็น “ตักศิลา” (แหล่งความรู้) เราก็มีความรู้สึกว่าการที่เราได้ผ่านตรงนี้มาเป็นโอกาสที่ดี เป็นโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้ามาทำตรงนี้” วสันต์ กล่าว

รับใช้สังคมไทย

ท่ามกลางกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง บีบีซีไทยยังคงยึดถือภารกิจเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยรายการที่ให้ข้อมูล ความรู้ และความบันเทิง โดยเฉพาะในยามที่ประเทศไทยต้องเผชิญการปิดกันข้อมูลข่าวสารช่วงที่มีวิกฤตการเมืองต่าง ๆ

วสันต์ ยังคงจำได้ว่าในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 บีบีซีไทยมีบทบาทสำคัญมากในฐานะสื่อไม่กี่สำนักที่ให้ข่าวข้อมูลข่าวสารได้ดีที่สุด ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร

เขาเล่าว่า แม้ในตอนนั้นจะมีสำนักข่าวระหว่างประเทศอื่น ๆ เป็นแหล่งให้ข้อมูลข่าวสารแก่คนไทยอยู่ แต่บีบีซีถือว่าโดดเด่นมาก เพราะมีแหล่งข่าวจากเมืองไทย โดยมีรุ่งมณี เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยในขณะนั้นสัมภาษณ์บุคคลสำคัญในเหตุการณ์ เช่น พล.อ. สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

“เรามีสัมภาษณ์ผู้มีบทบาทคนสำคัญ ๆ ผู้นำการชุมนุม ฝั่งรัฐบาล แต่สิ่งสำคัญก็คือเราก็พยายามรักษาความสมดุล เราพยายามมีข้อมูลรอบด้านมากที่สุด แต่จุดโดดเด่นตอนนั้นคือ เราเข้าถึงแหล่งข่าว มีความเป็นกลาง ไม่มีอคติ และสิ่งที่เราได้มามันก็เป็นทั้งข่าวใหญ่ของแผนกไทย และเป็นข่าวใหญ่ของสังคมไทย…”

“ข่าวพฤษภาทมิฬ บีบีซีให้ข้อมูลเร็ว เจาะลึก และข้อมูลตรงได้ดีที่สุดในช่วงโน้น…ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารในประเทศถูกปิดกั้น” วสันต์บอก

อรนุช อนุศักดิ์เสถียร อดีตบรรณาธิการวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นล่าม และมีผลงานแปลหนังสือมากมาย เล่าว่า ช่วงปี ค.ศ. 1990-2000 บีบีซีเริ่มนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยและในภูมิภาคมากขึ้น จากในอดีตที่มักเน้นหนักไปที่การแปลข่าวต่างประเทศซึ่งได้มาจากแผนกข่าวส่วนกลางของบีบีซี และเธอได้เห็นว่าข่าวลักษณะนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ผู้บริโภคข่าว

อรนุช อนุศักดิ์เสถียร

ที่มาของภาพ, อรนุช อนุศักดิ์เสถียร

อรนุช อธิบายว่า แม้จะไม่ได้ลงไปคลุกข่าวในพื้นที่ แต่การทำข่าวจากสำนักงานในอังกฤษมีข้อดี “เพราะระยะทางทำให้เรามีระยะห่างที่จะมองภาพรวม และมองเห็นความสัมพันธ์ของข่าวที่เกิดขึ้นในเมืองไทยกับที่อื่น ๆ ในภูมิภาค ทำให้เห็นเครือข่ายความเชื่อมโยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไทย ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และประชาชน”

เธอเล่าว่า หลังจากบีบีซีไทยเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ เพื่อทำข่าวในไทย ก็มีประเด็นที่กัดไม่ปล่อยหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งในช่วงนั้นไม่คิดว่าจะเป็นข่าวใหญ่ เช่น เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง เมื่อ พ.ศ. 2547 ซึ่งถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยระลอกใหม่

อีกประเด็นที่อรนุชมองว่าเป็นจุดแข็งของบีบีซีคือ ความเป็นอิสระในการรายงานข่าว เพราะบีบีซีเป็นสื่อสาธารณะที่ได้งบประมาณสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมที่ทุกครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักรต้องจ่าย จึงทำให้สามารถตีแผ่ข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลของฝ่ายใด

“แหล่งเงินทุนของบีบีซี ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าเจ้าของจะโทรมาบอกว่า เบา ๆ หน่อยเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราไม่ต้องกลัว เพราะฉะนั้นเมื่อเราบอกว่าเรื่องนี้สำคัญ คำถามนี้ต้องถามมาให้ได้ ผู้สื่อข่าวที่เมืองไทยก็มีหน้าที่ต้องไป หรือถ้าผู้สื่อข่าวในเมืองไทยตัดสินใจแล้วว่าเรื่องนี้ต้องทำ ทีมลอนดอนก็สนับสนุนไปเต็มที่…มันไม่มีเรื่องที่เขียนไว้ว่าเราห้ามทำ หรือทำไม่ได้ คือถ้ามันมีคุณค่าทางข่าวเราบอกว่าเราต้องทำ เราก็ทำ” เธออธิบาย

line

บีบีซีไทยได้เงินจากไหน

บีบีซีไทยเป็นแผนกข่าวภาษาต่างประเทศหนึ่ง ในจำนวนแผนกภาษาราว 42 ภาษาใต้ร่มของบีบีซีเวิลด์เซอร์วิส หรือ บีบีซีภาคบริการโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบีบีซี

การก่อกำเนิดของบีบีซีไทยยุคใหม่ มีขึ้นเพื่อผู้รับข่าวสารชาวไทยทั่วโลก และคำนึงถึงความต้องการของผู้ชมและผู้อ่านชาวไทยเป็นหลัก โดยเนื้อหาที่บีบีซีไทยมุ่งเน้นนำเสนอแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญคือ นำข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่อาจหาไม่ได้ในสื่อไทย และเรื่องราวที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลก

บีบีซีนับเป็นต้นแบบของสื่อสาธารณะหลายแห่งทั่วโลก งบประมาณส่วนใหญ่ที่บีบีซีได้รับ มาจากค่าธรรมเนียมโทรทัศน์ที่ทุกครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักรต้องจ่ายเป็นจำนวน 159 ปอนด์ต่อปี (ราว 6,837 บาท)

บีบีซีนำงบประมาณนี้มาจัดสรรให้กับแผนกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนกข่าว แผนกกีฬา สารคดี ละคร และแผนกภาษาต่างประเทศในบีบีซีเวิลด์เซอร์วิส ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนอีกก้อนหนึ่งจากรัฐบาลอังกฤษสำหรับเปิดให้บริการแผนกภาษาต่างประเทศอื่น ๆ

line

แม้จะไม่ได้โลดแล่นในแวดวงข่าวแล้ว แต่อรนุชยังคงติดตามการนำเสนอข่าวของทีมงานบีบีซีไทยรุ่นหลังเรื่อยมา และได้เห็นความกล้าในการตีแผ่และเปิดโปงเรื่องราวในสังคม

“ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ให้คะแนนการทุ่มเทการสืบหาความจริงของ ‘แป้ง’ ว่าสิ่งที่คุณพูดกับสิ่งที่คุณทำคืออะไร ถ้าทำได้ตามกรอบจรรยาบรรณอย่างเต็มที่ มันส่งผลสูงมาก เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่เราเลือกเรื่อง วิธีการมันปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เรื่อง มุมข่าว และการกล้าที่จะท้าทายความเชื่อความคิด ข้อมูล หรืออำนาจ มันก็น่าสนใจที่บีบีซีภาคภาษาไทยในปัจจุบันจะกลับมาดูว่าเราจะทุ่มเททรัพยากรไปทางไหน”

สำหรับณัฏฐามองว่าบีบีซีไทยยุคใหม่ที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียนั้น เป็นต้นแบบในบีบีซีเวิลด์เซอร์วิส หรือบีบีซีภาคบริการโลก ที่เปิดแผนกภาษาโดยนำเสนอข่าวผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

“บริบทในไทยช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูงมาก และบีบีซีไทยปักธงในฐานะที่เป็นทางเลือกสำหรับสื่อที่กล้านำเสนอมุมมองที่แตกต่าง ที่แน่นอนว่าต้องเผชิญกับแรงกดดัน ความขัดแย้ง เผชิญอะไรที่นักข่าวในไทย หรือสื่อในไทยอาจจะรู้สึกว่าทำไม่ได้ หรือไปได้ไม่ถึงจุดนั้น แต่ด้วยความที่เป็นสำนักข่าวอย่างบีบีซีแบคกราวน์หรือบริบทต่าง ๆ ก็อาจจะเอื้อด้วย พร้อม ๆ กับความกล้าของกองบรรณาธิการก็เลยทำให้บีบีซีได้เห็นสาระประโยชน์ การจับประเด็นที่แตกต่าง มุมที่แตกต่าง และเห็นได้ชัดว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนที่ต้องการข้อมูลข่าวสารในเชิงเนื้อหา และต้องการความน่าเชื่อถือท่ามกลางสื่อโซเชียลที่เยอะมาก…”

“ก็เห็นบีบีซีไทยทำแตกต่างจากบีบีซีใหญ่…มีประเด็นข่าวของตัวเอง วาระของตัวเอง การตีความประเด็นที่เหมาะกับบริบทไทย หรือตอบโจทย์คนไทยมากขึ้น น่าจะเรียกว่า localise (ทำให้เหมาะกับท้องถิ่น) เพราะบีบีซีมีความเป็นสื่อระดับ global (โลก) อยู่แล้ว แต่พอมาทำให้รสชาติเหมาะกับคนไทยมากขึ้นก็เป็นการผสมผสานทั้ง global และ local ซึ่งก็คิดว่าเป็นจุดแข็ง นำเสนอความเป็นบีบีซี แบรนด์ระดับโลกที่มาอยู่ในสังคมไทย” ณัฏฐา กล่าว

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว