เลือดเทียม : นักวิจัยทดลองถ่ายโลหิตสังเคราะห์ให้มนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก

นักวิจัยสหราชอาณาจักรได้นำเลือดเทียมที่สังเคราะห์ในห้องทดลอง ถ่ายเข้าร่างกายมนุษย์ที่ยังมีชีวิต เพื่อทดลองทางคลินิกเป็นครั้งแรกของโลก

เลือดเทียมที่ถ่ายเข้าร่างกายมนุษย์ในการทดลองครั้งนี้ มีปริมาณเพียงน้อยนิด เทียบเท่าปริมาณ 2-3 ช้อนชาเท่านั้น โดยเป็นการทดลองเพื่อตรวจสอบว่า เลือดเทียมจะใช้งานได้เหมือนเลือดจริงในตัวมนุษย์หรือไม่

เป้าหมายสูงสุดของการสังเคราะห์เลือดเทียมในห้องทดลอง คือ การผลิตเลือดกรุ๊ปที่หายากมาก ๆ ที่แทบหาผู้บริจาคเลือดไม่ได้ โดยเฉพาะในคนไข้โรคโลหิตจาง ที่ต้องได้รับการถ่ายเลือดอยู่เป็นประจำ

คนไข้ที่มีเลือดกรุ๊ปหายากนั้น หากได้รับเลือดที่ร่างกายไม่ตอบรับ อาจทำให้การรักษาล้มเหลวได้ เลือดที่ต้องเข้ากันได้ถึงในระดับเนื้อเยื่อ ไม่ใช่เลือดกลุ่มทั่วไป เช่น เอ บี เอบี และโอ

เลือดเทียมจะเป็นอีกความหวังใหม่หรือไม่

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยยอมรับว่า เลือดที่ใช้ในทางการแพทย์ทั่วไปนั้น ยังต้องพึ่งพาการบริจาคเลือดของประชาชนต่อไป แม้จะผลิตเลือดเทียมที่ใช้งานได้จริงสำเร็จแล้วก็ตาม

ศาสตราจารย์ แอชลีย์ โทเย จากมหาวิทยาลัยบริสตอลในสหราชอาณาจักรระบุว่า เลือดบางกลุ่ม“หายากมาก ๆ” ในสหราชอาณาจักร“อาจมีแค่ 10 คน” ที่บริจาคได้

ยกตัวอย่าง เลือดกลุ่ม “บอมเบย์” ที่ค้นพบครั้งแรกในอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีเลือดเพียง 3 ยูนิตอยู่ในคลังเลือดของสหราชอาณาจักร

สังเคราะห์เลือดเทียมอย่างไร

การเพาะเลือดเทียมนี้ เป็นความร่วมมือของทีมงานในเมืองบริสตอล เมืองเคมบริดจ์ กรุงลอนดอน และหน่วยเลือดและการปลูกถ่าย ของระบบประกันสุขภาพสหราชอาณาจักร (NHS) โดยมุ่งเน้นการสร้างเม็ดเลือดแดงเทียมที่สามารถนำพาออกซิเจนจากปอดไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

กระบวนการผลิตเลือดเทียม มีขั้นตอน ดังนี้

  • ทีมวิจัยเริ่มจากเลือดปริมาณ 470 มิลลิลิตรที่ได้รับบริจาค
  • ใช้อนุภาคแม่เล็กเพื่อดึงสเต็มเซลล์ ที่กลายเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ ออกมา
  • เพาะสเต็มเซลล์เหล่านี้ จนเติบโตในปริมาณมากในห้องทดลอง
  • กระตุ้นสเต็มเซลล์ที่เพาะไว้ ให้กลายเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง
NHS

ที่มาของภาพ, NHS

กระบวนการเพาะเลือดเทียมใช้เวลาปริมาณ 3 สัปดาห์ โดยสามารถเพาะเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ 50 ล้านเซลล์ ต่อสเต็มเซลล์ที่สกัดออกมาได้ราว 5 ล้านเซลล์

จากนั้น ทีมวิจัยจะคัดแยกเซลล์เม็ดเลือดแดงราว 15 ล้านเซลล์ ที่พัฒนาจนถึงจุดที่สามารถฉีดเข้าร่างกายมนุษย์ได้

“เราต้องการสร้างเลือดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในอนาคต ในจินตนาการของผม มองเห็นห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรที่ผลิตเลือดออกมาต่อเนื่องจากเลือดที่ได้รับบริจาค” ศ.โทเย บอกกับบีบีซี

ผู้เข้ารับการทดลอง

ทีมวิจัยได้ฉีดเลือดเทียมเข้าไปในร่างกายผู้เข้ารับการทดลอง 2 คน โดยตั้งเป้าจะทดลอบกับอาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรงอย่างน้อย 10 คน แต่ละคนจะเข้ารับเลือด 5-10 มิลลิลิตรในทุก ๆ 4 เดือน สลับกันระหว่างเลือดปกติและเลือดเทียมที่เพาะในห้องทดลอง

เลือดเทียมที่ใช้ทดสอบนั้น จะใช้การติดตามด้วยสารกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นกระบวนการทดสอบทางการแพทย์ตามปกติ เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถติดตามได้ว่า เลือดเทียมสามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานแค่ไหน และมีความหวังว่า เลือดเทียมจะใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเลือดปกติเสียอีก

ปกติแล้ว เซลล์เม็ดเลือดแดงจะอยู่ได้นานราว 120 วัน ก่อนที่จะถูกทดแทน โดยทั่วไป เลือดที่รับบริจาคมานั้น มีทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีอายุน้อย และอายุมากแล้ว แต่ถ้าเป็นเลือดเทียม จะเป็นเลือดที่สดใหม่ และสามารถอยู่ได้นานถึง 120 วัน ดังนั้น การผลิตเลือดเทียมที่สดใหม่ได้นั้น จะช่วยให้ในอนาคตไม่ต้องขอรับบริจาคเลือดบ่อยเท่ากับในปัจจุบัน

NHS

ที่มาของภาพ, NHS

อย่างไรก็ดี โครงการผลิตเลือดเทียมมีความท้าทายเรื่องการเงินและเทคโนโลยีอยู่มาก เพราะ ต้นทุนการรับบริจาคเลือดต่อครั้งอยู่ที่ 130 ปอนด์ หรือ 5,500 บาท แต่เลือดเทียมมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่านั้นมาก ซึ่งทีมวิจัยไม่ระบุว่า สูงมากแค่ไหน

ความท้าทายอีกประการ คือ สเต็มเซลล์ที่สกัดออกมาได้นั้น ้ต้องหมดอายุขัยลง ทำให้ปริมาณเลือดที่เพาะออกมาได้นั้น มีจำกัด จึงยังต้องวิจัยให้สามารถเพาะเลือดในปริมาณมากพอที่จะใช้ในทางการแพทย์ได้

ดร. ฟาร์รุคห์ ชาห์ ผู้อำนวยการหน่วงานด้านเลือดและการปลูกถ่ายของ NHS ระบุว่า “งานวิจัยระดับโลกนี้ จะวางพื้นฐานสำหรับการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สามารถนำไปถ่ายให้กับในประชาชนที่มีปัญหา อาทิ โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวได้”

“ศักยภาพของงานวิจัยนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยที่รับการถ่ายเลือดได้ยาก”

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว