5 ประเทศที่คนย้ายประเทศยกให้ดีที่สุดในการเลี้ยงลูก

 

Getty Images

Getty Images

พวกเราตอบคำถามให้กับครอบครัวที่อพยพย้ายถิ่นฐานถามกันมามากที่สุดว่า ที่ไหนเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการเลี้ยงดูลูก ๆ หรือดีที่สุดสำหรับการ “เป็นเด็ก”

สำหรับคนที่เล็งว่าจะอพยพย้ายไปอยู่ประเทศอื่น อันดับของประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกอาจจะช่วยได้ แต่ถ้าสำหรับคนที่มีลูกตามไปด้วย ก็มักจะมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาร่วมชั่งน้ำหนัก อย่างเช่น ต้องเป็นที่ ๆ มีรายได้ปานกลางหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ พ่อแม่อาจจะต้องการรู้เกี่ยวกับภาวะสุขภาพและความสุขของเด็ก ๆ ในท้องถิ่นนั้น คุณภาพการศึกษา นโยบายเรื่องวันลาหยุด หรือกระทั่งพื้นที่สีเขียวและสนามเด็กเล่น

ประเด็นเหล่านี้ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ออกรายงานที่ชื่อว่า “การ์ดรายงาน” ที่เป็นผลประเมินเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก แต่เป็นการจัดอันดับเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มั่งคั่งที่สุดเท่านั้น และไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมดจะเป็นความสนใจของครอบครัวชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศอื่น แต่บัญชีอันดับประเทศเหล่านี้ก็ช่วยให้เห็นภาพการเลี้ยงดูเด็ก ๆ ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

นี่คือ 5 ประเทศที่อยู่ใน “การ์ดรายงาน” ของยูนิเซฟ

ญี่ปุ่น

รายงานวิเคราะห์เรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กจากองค์กรยูนิเซฟปี 2020 จัดให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่เด็กที่มีสุขภาพร่างกายที่ดีที่สุด โดยพิจารณาจากอัตราการเสียชีวิตของเด็กและโรคอ้วน

ในรายงานล่าสุดของยูนิเซฟในปี 2022 ซึ่งเจาะจงไปที่สภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตขึ้นมาโดยเฉพาะนั้น ญี่ปุ่นก็ติดอันดับสองจากทั่วโลก ซึ่งเป็นการจัดอันดับประเทศโดยดูจากพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ความปลอดภัยของการจราจร

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีอัตราของเด็กที่เป็นโรคอ้วนหรือภาวะอ้วนต่ำสุด อัตราการเสียชีวิตของเด็กต่ำสุด ขณะที่มลพิษทางอากาศและน้ำที่กระทบต่อเด็ก ก็อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเช่นกัน

รายงานยังชี้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกสำหรับครอบครัว ไม่ใช่เพียงความปลอดภัยบนท้องถนน แต่อัตราของเหตุฆาตกรรมยังต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่ยูนิเซฟจัดอันดับ คิดเป็นสัดส่วน 0.2 ต่อ 1 ล้าน ขณะที่สหรัฐฯ ตัวเลขอยู่ที่ 5.3 แคานาดา 1.8 และออสเตรเลีย 0.8

มามิ แม็คคากก์ ชาวโตเกียวที่ปัจจุบันอาศัยในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร บอกว่า ปัจจัยด้านความปลอดภัยไม่เพียงช่วยให้พ่อแม่เบาใจได้เท่านั้น แต่ยังทำให้เด็ก ๆ มีอิสระที่จะเพลิดเพลินกับสิ่งต่าง ๆ ได้

Getty Images

Getty Images

“เด็ก ๆ ไปโรงเรียนได้ด้วยตัวเองตั้งแต่อายุราว ๆ 6 ขวบ พวกเขาสามารถขึ้นรถเมล์หรือรถไฟได้ถ้าเป็นระยะที่ไกลเกินกว่าจะเดินได้ แม้กระทั่งในใจกลางกรุงโตเกียว เด็ก ๆ สามารถเดินไปไหนมาไหน และเดินไปโรงเรียนด้วยตัวเองได้ มันเป็นเรื่องที่ปกติอย่างมาก เพราะโตเกียวมีความปลอดภัยอย่างมาก ไม่มีใครต้องห่วงกังวลลูก ๆ ของพวกเขา”

ในเรื่องการศึกษา จาก โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ญี่ปุ่น มีการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นอันดับ 12 ของโลก จากทั้งสิ้น 76 ประเทศ

ญี่ปุ่นยังมีนโยบายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยยังได้รับค่าจ้างได้ถึง 12 เดือน แม้ว่าญี่ปุ่นจะกำลังสร้างแรงจูงใจจากผู้เป็นพ่อโดยเฉพาะให้ใช้สิทธินี้เพิ่มขึ้น

แม้จะมีผลประโยชน์หลาย ๆ อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นมอบให้กับคนมีครอบครัว อย่าประหลาดใจหากพบว่า คนญี่ปุ่นเองก็วิพากษ์วิจารณ์

“คุณอาจได้ยินแต่เรื่องร้าย ๆ (ของญี่ปุ่น) มามาก เพราะว่า พวกเรามักจะได้ยินแต่เรื่องที่เป็นด้านบวกของประเทศอื่น เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น มันเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมที่คนอาจจะพูดจาดูหมิ่นบางสิ่งที่ดูเหมือนเรียบง่าย แต่ฉันก็จะบอกว่า ญี่ปุ่นเป็นที่ที่ดีมากจริง ๆ ที่จะเลี้ยงลูก” มามิ กล่าว

เอสโตเนีย

ผลคะแนนรวมของเอสโตเนียไม่ได้อยู่ในอันดับต้น ๆ ของการจัดอันดับโดยยูนิเซฟ แต่ติดอันดับต้น ๆ ในเรื่องสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กที่ดีกว่าในกลุ่มประเทศที่มีความมั่งคั่ง เช่น มลภาวะทางอากาศและเสียงที่มีน้อยกว่า รวมทั้งปัญหาเรื่องการใช้ยาฆ่าแมลง

เอสโตเนียยังเป็นประเทศที่มีพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองมากกว่าชาติอื่น ๆ อย่างเช่น สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร และเด็กในประเทศเอสโตเนียยังมีพื้นที่สันทนาการในละแวกบ้านอย่างสนามเด็กเล่นเพียงพอ

ในแง่เด็กแรกเกิด เอสโตเนียมีอัตราของเด็กที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์น้อยที่สุดเป็นอันดับสองในบรรดากลุ่มประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ที่ดีถึงการดูแลหญิงตั้งครรภ์ก่อนคลอด

ในด้านระบบการศึกษา เด็กเอสโตเนีย มีทักษะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทักษะการอ่านออกเขียนได้ ดีกว่าประเทศใด ๆ นอกภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งทักษะด้านดิจิทัล

แอน-ไม มีซาก ผู้จัดการโครงการการศึกษาและเด็กเอสโตเนีย ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับระบบการศึกษาช่วงต้นของประเทศบอกว่า มีการนำ วิทยาการหุ่นยนต์ แท็บเล็ตอัจฉริยะเข้ามาใช้ในโรงเรียน ภายใต้การเรียนรู้ที่เน้นการเรียนผ่านการเล่น (Play-Based Learning)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ระบบการศึกษาของเอสโตเนีย สร้างให้เด็ก ๆ เป็นนั้นมากกว่าการอ่านหนังสือได้และการเล่นหุ่นยนต์ เพราะ รายงานของ OECD เมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า เด็กเอสโตเนียอายุเฉลี่ยที่ 5 ขวบ มีทักษะทางอารมณ์และสังคมหลากหลายดีกว่าเด็ก ๆ ในประเทศอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษ ได้แก่ ทักษะในการร่วมมือกับเด็กคนอื่น แต่แยกแยะอารมณ์ นอกจากนี้ ยังมีทักษะด้านการกำกับควบคุมตนเอง สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD อันได้แก่ ความยืดหยุ่นด้านจิตใจ การทำงานของความจำ และการยับยั้งแรงกระตุ้น

Getty Images

Getty Images

ด้านสิทธิการลาหยุด เอสโตเนียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายเกี่ยวกับการลาหยุดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยให้สิทธิลาคลอดเป็นเวลา 100 วัน สิทธิลาคลอดของพ่อ 30 วัน และสิทธิลาเลี้ยงดูบุตรโดยยังได้รับค่าจ้าง 475 วัน โดยสามารถลาแยกหรือใช้เป็นการลาเป็นช่วงเวลาได้จนกว่าลูกจะอายุ 3 ขวบ

นอกจากนี้ ทั้งพ่อและแม่ยังมีสิทธิลาอยู่บ้านพร้อมกันได้ 60 วัน โดยได้รับค่าจ้าง และมีวันลาแยกของแต่ละคนอีก 10 วันทำงานสำหรับลูกแต่ละคนจนกระทั่งลูกอายุ 14 ปี สิทธิเหล่านี้ใช้กับพลเมืองเอสโตเนีย และชาวต่างชาติ

สเปน

สเปนจัดอยู่ในอันดับสูงสุดในการการ์ดรายงานของยูนิเซฟในเรื่องสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราการเป็นโรคภัยความเจ็บป่วยจากมลภาวะทางน้ำและอากาศที่อยู่ในระดับต่ำ

องค์กรยูนิเซฟ ระบุด้วยว่า แม้ว่าในภาพรวมสเปนจะมีสภาพสังคม การศึกษา และบริการสุขภาพที่ไม่ดีนัก แต่เด็กในสเปนยังถือว่ามีความเป็นอยู่ที่ดีในระดับสูง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสเปนเป็นประเทศที่เด็กมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นอันดับ 3 และมีทักษะทางสังคมและการศึกษา ติดอันดับ 4 ซึ่งเป็นระดับที่เทียบเท่ากับในประเทศเนเธอร์แลนด์

นอกจากนี้อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น ยังอยู่ในระดับต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศร่ำรวย และมีสัดส่วนจำนวนน้อยกว่าสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ราว 1 ใน 3

ด้านสิทธิการลาหยุดของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งพ่อและแม่มีสิทธิลาหยุดงานโดยได้รับค่าจ้าง 100% เป็นเวลา 16 สัปดาห์ นอกจากนี้ ผู้หญิงที่เป็นแม่ยังสลาหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้างได้นานถึง 3 ปี หรือลดเวลาทำงานได้ พลเมืองสเปนที่ลงทะเบียนอยู่ในระบบความมั่นคงทางสังคม สามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ เรื่องของสเปนไม่ดีอย่างสมบูรณ์แบบมากนั้น ปัญหาใหญ่ของสเปนยังเป็นเรื่องความขาดแคลนสถานเลี้ยงดูเด็กเล็ก ผลสำรวจจากพ่อแม่ราว 33% บอกว่าต้องการให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กมากกว่านี้

Getty Images

Getty Images

ฟินแลนด์

ฟินแลนด์มีคะแนนรวมในการจัดอันดับจากยูนิเซฟอยู่ที่อันดับ 5 แต่มีคะแนนสูงมากใน 2 การประเมิน ได้แก่ เป็นอันดับที่ 1 ของการเป็น “โลกของเด็ก” ซึ่งพิจารณาเรื่องสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อเด็กเช่น เรื่องคุณภาพอากาศ และเป็นอันที่ 2 ของเรื่อง “โลกรอบตัวเด็ก” ซึ่งประเมินจากสิ่งแวดล้อมที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น โรงเรียน อันตรายจากการจราจร และพื้นที่สีเขียว

ฟินแลนด์เป็นประเทศที่เด็กมีทักษะการอ่านออกเขียนได้และทักษะทางคณิตศาสตร์สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และพ่อแม่ผู้ปกครองมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์กับครูหรือผู้ดูแลเด็กที่โรงเรียน

นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตของเด็กวัย 5-14 ปี น้อยที่สุดในโลก โดยมีระดับต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ

นโยบายเรื่องวันลาหยุดพักขอพ่อแม่ หญิงที่ลาคลอดมีสิทธิลาโดยได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 8 สัปดาห์ สิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้างอีก 14 เดือน แบ่งกันระหว่างผู้ปกครอง และสิทธิลาดูแลบุตรเพิ่มเติมจนกว่าลูกจะอายุ 3 ปี ทั้งนี้ ผู้อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมายในฟินแลนด์ซึ่งมีประกันสุขภาพอย่างน้อย 180 วันก่อนคลอดในฟินแลนด์ ประเทศกลุ่มนอร์ดิค หรือยุโรปสามารถใช้สิทธินี้ได้

แฮดเลย์ ดีน ชายชาวอังกฤษซึ่งเป็นพ่อของลูกวัย 5 ขวบ อาศัยมาแล้วหลายประเทศ ตั้งแต่ โปแลนด์ เช็ก และฟินแลนด์ ปัจจุบันครอบครัวของเขากลับมาอยู่ในฟินแลนด์เป็นครั้งที่สองแล้วและรักประเทศฟินแลนด์มาก เขาบอกข้อดีว่า ฟินแลนด์มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก แม้กระทั่งในเมืองหลวงเฮลซิงกิ แต่ไม่ใช่เพียงเพราะการมีสวนสาธารณะมากมายเท่านั้นที่ทำให้ครอบครัวชอบประเทศนี้ แต่เพราะสวนเหล่านี้มีความเป็นธรรมชาติที่แท้จริง เหมือนเอาป่ามาตั้งในใจกลางเมือง

เรื่องพื้นที่สีเขียว ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่มีพื้นที่สีเขียวในเมืองต่อประชากรหนึ่งคน สูงที่สุดในโลก

แล้วสภาพอากาศของฤดูหนาวที่หนาวเหน็บและมืดครึ้มของฟินแลนด์รับได้หรือไม่ ดีนบอกว่ามันเป็นราคาที่ต้องจ่าย ที่ต้องทำตัวให้คุ้นชิน สวมเสื้อผ้าและรองเท้าให้เข้ากับสภาพอากาศ

เนเธอร์แลนด์

เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกด้านความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กตามการจัดอันดับของยูนิเซฟ ผลการสำรวจประเมินในแต่ละตัวบ่งชี้อย่าง ด้านสุขภาพจิต เนเธอร์แลนด์ได้อันดับ 1 ขณะที่เรื่องทักษะได้อันดับที่ 3

ผลสำรวจเด็กอายุ 15 ปี ในเนเธอร์แลนด์ 9 ใน 10 คนบอกว่า พวกเขามีความพึงพอใจในชีวิตในระดับสูง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่ยูนิเซฟทำการสำรวจ และเด็ก 8 ใน 10 คน บอกว่า พวกเขา สามารถผูกมิตรหาเพื่อนได้อย่างง่ายดาย

โอลกา เมกกิ้ง หญิงชาวโปแลนด์ แม่ของลูก ๆ 3 คน ที่อาศัยในเนเธอร์แลนด์มา 13 ปี และผู้เขียนหนังสือ Niksen หนังสือเกี่ยวกับปรัชญาของชาวดัตช์สำหรับผู้ที่อยากสงบจิตสงบใจและพักผ่อน ให้ความเห็นว่า เหตุผลบางส่วนจากมาจากวัฒนธรรม

“มีวาทกรรมของชาวอเมริกันที่พยายามจะสอนทุกคนว่าต้องยอดเยี่ยม แต่ที่นี่ (เนเธอร์แลนด์) บอกว่า แค่เป็นปกติ” เมกกิ้ง กล่าวถึงชุดความคิดที่ทำให้ชีวิตวัยเด็กในเนเธอร์แลนด์มีแรงกดดันน้อยกว่า ซึ่งปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเข้าสังคมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่ม เข้าชมรม หรือการร่วมกิจกรรมในชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ผู้เขียนหนังสือ Niksen กล่าวด้วยว่า หากครอบครัวและเด็กชาวดัตช์จะมีความสุข ก็ต้องมาจากปัจจัยระดับโครงสร้างด้วยเช่นกัน

“คุณไม่สามารถเลี้ยงดูลูกแบบชาวดัตช์ได้ หากไม่มีระบบสวัสดิการแบบดัตช์” เธอกล่าว “เนเธอร์แลนด์มอบการสนับสนุนให้พ่อแม่อย่างมาก”

นโยบายการลาหยุดของครอบเป็นหนึ่งในนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองมีสิทธิลาหยุด 16 สัปดาห์ ลาคลอดโดยยังได้รับค่าจ้างเงินเดือนเต็มจำนวน และการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้างสูงสุด 6 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีสิทธิลาโดยไม่รับค่าจ้าง จนกว่าลูกจะอายุ 8 ขวบ ไม่ว่าใครที่อยู่และทำงานในเนเธอร์แลนด์อย่างถูกกฎหมายจะได้รับสิทธิวันลาหยุดเหล่านี้ทั้งหมด

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว