เปิดประสบการณ์เจรจากับปูติน ของทูตสหรัฐฯ ผู้หวังยุติสงคราม

 

จอห์น ซัลลิแวน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำรัสเซีย

Getty Images
จอห์น ซัลลิแวน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำรัสเซีย

อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำรัสเซีย เปิดเผยต่อบีบีซี ถึงประสบการณ์พยายามเจรจากับรัฐบาลรัสเซีย พร้อมเหตุผลว่า ทำไมประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ถึงไม่ยอมแพ้ในสงครามยูเครน

จอห์น ซัลลิแวน เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงมอสโกของรัสเซีย ในช่วงก่อนที่รัสเซียจะยกทัพรุกรานยูเครน

อดีตเอกอัครราชทูตคนนี้ เป็นหนึ่งในคนที่พยายามพูดคุยกับทางการรัสเซีย เพื่อพยายามยับยั้งสงคราม “แต่ไม่ได้รับการสนองตอบ”

“ทางการรัสเซียเรียกร้องการรับประกันความปลอดภัยสำหรับรัสเซีย แต่ไม่ยอมหารืออย่างเป็นแบบแผนถึงความมั่นคงของยูเครน พวกเขาไม่ยอมพูดเรื่องอื่นนอกจากเรื่องของตนเอง… มันแค่การเสแสร้ง จัดฉาก”

เมื่อถามว่า สหรัฐฯ ควรทำงานหนักขึ้นไหม เพื่อสานต่อบทสนทนากับรัฐบาลรัสเซีย เพื่อยุติความขัดแย้งที่ยาวนานมาถึง 1 ปี ซัลลิแวน ตอบว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน “ไม่สนใจเจรจาก่อนสงคราม และถึงตอนนี้ ก็ยังไม่สนใจเจรจา”

รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จึงมุ่งเน้นการเรียกร้องการสนับสนุนจากนานาประเทศ เพื่อติดอาวุธให้ยูเครน และคว่ำบาตรรัสเซีย โดยสหรัฐฯ ได้ส่งมอบอาวุธรวมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐให้ยูเครน นับแต่ปีที่แล้ว

ในการปราศรัยของผู้นำรัสเซีย เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายปูตินยืนยันถึงมุมมองของเขาว่า ชาติตะวันตกเป็นคนเริ่มสงคราม และพยายามใช้ยูเครน เพื่อกำราบรัสเซีย “ในทางยุทธศาสตร์” รวมถึงรัสเซียต่างหากที่กำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเอง ไม่ใช่ยูเครน

แม้สิ่งที่รัฐบาลรัสเซียประกาศว่าเป็นปฏิบัติการทางทหารพิเศษจะล้มเหลว แต่นายซัลลิแวน ระบุว่า เป้าหมายที่รัสเซียเคยประกาศไว้ยังคงเดิม นั่นคือ “ทำลายล้างนาซี” และ “ปลดอาวุธยูเครน” แต่ในมุมมองของซัลลิแวน มันคือ “การล้มล้างรัฐบาลเคียฟและปราบปรามชาวยูเครน”

นี่คือวิสัยทัศน์ที่ประธานาธิบดีปูตินย้ำมาตลอดว่า เป็นการรวมชาวรัสเซียที่กระจัดกระจายไปนับแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

“แต่ปูตินจะไม่ยอมถอยแน่ ๆ เพราะเขาพูดมาตลอดว่า เป้าหมายของปฏิบัติการทางทหารพิเศษนี้จะต้องสำเร็จ” ซัลลิแวน

EPA
“แต่ปูตินจะไม่ยอมถอยแน่ ๆ เพราะเขาพูดมาตลอดว่า เป้าหมายของปฏิบัติการทางทหารพิเศษนี้จะต้องสำเร็จ” ซัลลิแวน

ดังนั้น “ปูตินปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี อยู่ในกรุงเคียฟต่อไปไม่ได้” ซัลลิแวน กล่าว

“ปูตินจะไม่มีวันพอใจ ตราบใดที่รัฐบาลนี้ยังอยู่ เพราะเขามองว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย และต่อวิสัยทัศน์ว่าด้วยรัฐรัสเซียอันกว้างใหญ่ที่เขาพยายามสร้าง”

แล้วต่อจากนี้ ต้องทำอย่างไรให้ปูตินหยุดสงคราม

“ต้องจูงใจปูตินให้เขาตระหนักว่า เขาชนะสงครามไม่ได้” ซัลลิแวน กล่าว “เราจะไม่ยอมถอยลง จนกว่าจะเชื่อว่า ไม่มีหนทางที่เขาจะชนะ ผมไม่อาจรู้ได้ว่า ความสูญเสียในสมรภูมิของรัสเซียจะต้องหนักแค่ไหน จนกว่าจะทำให้ปูตินตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะปัจจุบัน ทัศนคติเขายังไปไม่ถึงตรงนั้น”

นายซัลลิแวน ระบุว่า ผู้นำรัสเซียมีเป้าหมายระยะยาว และ “วิสัยทัศน์ถึงสิ่งที่เขาต้องการทำให้สำเร็จ เขาจึงจะไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ”

แต่ชาวยูเครนเองก็ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เช่นกัน ในความคิดของซัลลิแวน พร้อมวิเคราะห์ว่า ความล้มเหลวของปูตินในสงครามครั้งนี้ คือ ความพยายามโดดเดี่ยวยูเครน ที่มีประชากร 44 ล้านคน

“ชาวยูเครนจะไม่มีวันยกโทษและลืม” เขากล่าว “แม้ประธานาธิบดีเซเลนสกี จะอยากยุติสงคราม ยอมอ่อนข้อด้านดินแดน หรือยอมแพ้ แต่ชาวยูเครนจะไม่ปล่อยให้เขาทำเช่นนั้น”

ด้วยขนาดกองทัพ สถานการณ์ทางการเมือง และความเห็นต่างเชิงอุดมคติระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้สหรัฐฯ ต้องเตรียมรับมือกับสงครามที่ยาวนาน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของอเมริกาต่อการช่วยเหลือยูเครน หลังเดินทางเยือนกรุงเคียฟ โดยไม่แจ้งกำหนดการณ์ล่วงหน้า ในโอกาสครบ 1 ปีสงครามยูเครน แต่นายซัลลิแมนมองว่า ความขัดแย้งจะไม่ยุติลงในปีนี้แน่นอน

“แต่หลังจากนั้น ผมมิอาจรู้ได้” เขากล่าว “แต่ปูตินจะไม่ยอมถอยแน่ ๆ เพราะเขาพูดมาตลอดว่า เป้าหมายของปฏิบัติการทางทหารพิเศษนี้จะต้องสำเร็จ”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว