ตาลีบัน : คุยกับผู้ติดยาเสพติดในศูนย์บำบัดของตาลีบัน

โอมาร์เล่าว่าเคยเดินทางไปรอบโลกในฐานะพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน จนมาตกงานหลังตาลีบันขึ้นครองอำนาจ

“ผมกำลังหายาเสพติดอยู่ใต้สะพาน ตอนที่รู้สึกว่ามีมือใครสักคนดึงผมจากด้านหลัง เขาคือพวกตาลีบัน พวกเขามานำตัวพวกเราไป”

โมฮาเหม็ด โอมาร์ ยังจำได้ดีตอนที่ทหารตาลีบันโผล่มาแบบไม่มีใครคาดหมายที่สะพาน Pul-e-Sukhta ทางตะวันตกของกรุงคาบูล

นานมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ตาลีบันจะยึดอำนาจคืนได้ในเดือน ส.ค. ปี 2021 เสียอีก ที่แห่งนี้เป็นที่โจษจันไปทั่วในฐานะแหล่งซ่องสุมของผู้ติดยาเสพติด

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พวกตาลีบันไปรวบตัวชายที่ติดยาเสพติดหลายร้อยคนในเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ไม่ว่าจะเป็นจากสะพาน สวนสาธารณะ หรือบนยอดเขา ส่วนใหญ่ถูกนำตัวไปที่ฐานทัพสหรัฐฯ ที่ตอนนี้ถูกแปรสภาพกลายเป็นศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดชั่วคราว

อัฟกานิสถานมีปัญหาการติดยาเสพติดร้ายแรงมาก ข้อมูลโดยสำนักงานกิจการยาเสพติดและการบังคับใช้กฏหมายระหว่างประเทศ (Bureau of International Narcotics and Law Enforcement) ประเมินกันว่า อัฟกานิสถานมีผู้ติดยาเสพติดราว 3.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 40 ล้านคน

ใต้สะพาน Pul-e-Sukhta มีชายหลายร้อยคนกำลังนั่งยอง ๆ ท่ามกลางขยะ เข็มฉีดยา อุจจาระ และบางทีก็มีศพคนที่เสียชีวิตไปจากการเสพยาเกินขนาด

ยาเสพติดที่คนอัฟกานิสถานใช้กัน คือ เฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีน

Hundreds of mainly heroin users sit in squalid conditions at Pul-e-Sukhta, under a bridge in western Kabul, Afghanistan, 20 September 20, 2021

Getty Images
ใต้สะพาน Pul-e-Sukhta มีชายหลายร้อยคนกำลังนั่งยอง ๆ ท่ามกลางขยะ เข็มฉีดยา อุจจาระ และบางทีก็มีศพคนที่เสียชีวิตไปจากการเสพยาเกินขนาด

กลิ่นใต้สะพานแห่งนี้รุนแรงมาก มีหมาวิ่งไปมาพยายามหาเศษอาหารในกองขยะ ส่วนด้านบนสะพาน รถรายังวิ่งต่อ พ่อค้าแม่ค้าเร่ขายของ ผู้คนรีบเร่งปขึ้นรถบัส เหมือนเป็นปกติ

“ผมจะไปที่นั่นเพื่อไปเจอเพื่อนและเล่นยา ผมไม่ได้กลัวความตาย ยังไงความตายก็อยู่ในมือของพระผู้เป็นเจ้าอยู่แล้ว”

ผู้ชายส่วนใหญ่ที่เรียกที่แห่งนี้ว่าบ้าน โดนสังคมหลงลืมไป แม้รัฐบาลชุดที่แล้วจะมีนโยบายพาผู้ติดยาเสพติดไปเข้าศูนย์บำบัด แต่หลังกลุ่มตาลีบันยึดประเทศไว้ได้ พวกเขาก็ใช้มาตรการกับผู้ติดยาเสพติดรุนแรงขึ้น

“พวกเขาใช้ท่อตีพวกเรา” โอมาร์ เล่า “พวกเขาทำนิ้วผมหักเพราะผมไม่อยากไปจากสะพานนี้และก็พยายามขัดขืน ยังไงพวกเขาก็บังคับเราออกมาได้อยู่ดี”

โอมาร์ถูกดันขึ้นไปบนรถบัสพร้อมชายอีกหลายสิบคน

ในวิดีโอที่ตาลีบันเผยแพร่มาในภายหลัง แสดงให้เห็นภาพทหารเข้าไปเคลียร์พื้นที่ใต้สะพาน ซึ่งมีศพคนที่เสียชีวิตเพราะเสพยาเกินขนาด ร่างไร้วิญญาณของพวกเขาถูกคลุมด้วยผ้าสีเข้มและนำตัวออกไป คนที่ยังมีชีวิตบางคนถูกหามเปลออกไปเหมือนกัน เพราะอยู่ในภาวะหมดสติ

Drug addicts and users on the streets of the Afghan capital Kabul

BBC

โรงพยาบาลบำบัดที่โอมาร์ถูกนำตัวไปมีเตียง 1,000 เตียง และคนไข้ถึง 3,000 คน สภาพความเป็นอยู่สกปรกมาก พวกเขาถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์แห่งนี้ 45 วัน โดยให้ผ่านกระบวนการบำบัดอย่างเข้มข้นก่อนจะปล่อยตัว

ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าพวกเขาจะไม่กลับไปใช้ยาเสพติดอีก

แม้ว่าผู้ติดยาเสพติดส่วนใหญ่บนท้องถนนจะเป็นผู้ชาย แต่ก็มีผู้หญิงและเด็กถูกนำตัวไปศูนย์บำบัดด้วย

โอมาร์ ซึ่งร่างกายอยู่ในสภาพผอมโซคล้ายผู้เข้ารับการบำบัดคนอื่น ๆ เล่าถึงชีวิตดี ๆ ที่เขาเคยมี

“ผมเคยอยู่ดูไบวันหนึ่ง อีกวันไปตุรกี บางทีไปอิหร่าน ผมเดินทางไปรอบโลกในฐานะพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบิน Kam Air และบางครั้งได้ต้อนรับแขกวีไอพีอย่างอดีตประธานาธิบดีประเทศต่าง ๆ”

แต่เมื่อตาลีบันยึดอำนาจได้สำเร็จ เขาตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจและอนาคตที่ไม่แน่ไม่นอน ทำให้เขาหันไปพึ่งยาเสพติด

ย้อนไปเมื่อครั้งที่ตาลีบันครองอำนาจในทศวรรษที่ 90 พวกเขาเกือบจะกำจัดธุรกิจการเพาะปลูกฝิ่นได้ แต่กลับกลายเป็นว่า การค้ายาเสพติดกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของพวกเขาตลอดเวลา 20 ปีที่ทำสงครามเพื่อยึดอำนาจคืน

ตอนนี้ ตาลีบันประกาศจะยุติการค้าฝิ่นแล้ว และพยายามจะบังคับใช้นโยบายนี้ อย่างไรก็ดี องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น บอกว่า มีการเพาะปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถานมากขึ้น 32% ในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2021

เศรษฐกิจอัฟกานิสถานเองก็เกือบจะพังครืนลงมา หลังไม่ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ อัฟกานิสานยังเผชิญปัญหาด้านความมั่นคง ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ และราคาอาหารที่สูงขึ้นทั่วโลก

A ward at one of the makeshift rehabilitation centres in Afghanistan

BBC
โรงพยาบาลบำบัดที่โอมาร์ถูกนำตัวไปมีเตียง 1,000 เตียง และคนไข้ถึง 3,000 คน

ตั้งแต่มาที่ศูนย์บำบัดแห่งนี้ โอมาร์ตั้งใจจะทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น

“ผมอยากแต่งงาน มีครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างปกติ” เขาเล่า “พวกหมอที่นี่ใจดีมาก พวกเขาพยายามเต็มที่ที่จะช่วยเรา”

สำหรับหมอที่ศูนย์บำบัดแห่งนี้ พวกเขาสามารถช่วยได้แค่ในกระบวนการเบื้องต้นเท่านั้น กระนั้น กลุ่มตาลีบันก็ยังพาคนติดยาเสพติดมาเพิ่ม ขณะที่พวกเขาไม่สามารถหาที่รองรับเพิ่มได้

“เราต้องการการช่วยเหลือ นานาชาติไปจากที่นี่และก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรอีก แต่ปัญหาเราไม่ได้หายไปด้วย” แพทย์คนหนึ่ง บอก

“มีคนบุคคลกรทางอาชีพหลายคนในกลุ่มนี้ (ผู้ติดยาเสพติด) คนที่ฉลาดและมีการศึกษาซึ่งเคยมีชีวิตดี ๆ แต่ความยากลำบากในสังคมเรา ความยากจน และการไม่มีงาน ทำให้พวกเขามองหาทางหนี”

แม้จะไม่มีทรัพยากรเพียงพอ เหล่าแพทย์ก็มุ่งมั่นจะช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ดีที่สุด

“ไม่มีความแน่นอนว่าคนไข้เหล่านี้จะไม่กลับไปใช้ยาอีกเมื่อออกไป แต่เราต้องพยายามต่อไป ที่สำคัญที่สุดเราต้องให้ความหวังสำหรับอนาคตของพวกเขา เพราะตอนนี้ไม่มีความหวังอยู่เลย”

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว