เลือกตั้ง 2566 : “พรรคที่ใครก็ยับยั้งชัยชนะไม่ได้” และ “ตัวเปลี่ยนเกม” ในมุมสื่อต่างชาติ

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวะเพลงคุ้นหู เปิดบรรเลงไปทั่วประเทศไทย จากลำโพงเครื่องขยายเสียงติดบนรถกระบะและรถบรรทุก ติดป้ายสีแดงแผ่นใหญ่ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งเป็นพรรคตัวเก็งในศึกเลือกตั้ง 2566 วันอาทิตย์นี้

“แลนด์สไลด์ให้เพื่อไทยทุกพื้นที่ ให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น” ถ้อยคำหาเสียงดังขึ้น ร้องขอให้ผู้รับฟังไปลงคะแนน กา 2 ใบให้เพื่อไทยชนะถล่มทลาย

โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศไทย มองว่า พรรคเพื่อไทยนำพรรคอื่น ๆ ไปไกล แม้พรรคสายอนุรักษนิยมจะพยายามบั่นทอนฐานเสียงเพื่อไทยมาตลอด 17 ปีก็ตาม เพื่อขจัดอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคต้นกำเนิดของเพื่อไทย คือ ไทยรักไทย เมื่อปี 2541

รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารในปี 2549 ตามมาด้วยการยุบพรรคพรรคไทยรักไทย ส่วนทักษิณนั้น ลี้ภัยออกไปนอกประเทศ หลังเผชิญคดีความที่ตระกูลชินวัตรวิจารณ์ว่ามีนัยทางการเมืองแอบแฝง

ต่อมาพรรคพลังประชาชน ที่ส่ง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณ เป็นนายกฯ ก็ถูกยุบพรรคเช่นกันในปี 2551 นำไปสู่การก่อตั้งพรรคเพื่อไทย

ภายหลังน้องสาวของทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” ในปี 2554 เธอก็เผชิญชะตากรรมเดียวกันในปี 2557 โดยรัฐประหารตามรอยพี่ชาย และก็ลี้ภัยไปต่างประเทศเช่นเดียวกัน

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อน ในปี 2562 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ได้ที่นั่งในสภามากกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ แต่กลับถูก “ขัดขวาง” ไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล

แพทองธาร ระบุว่า ประเทศไทยมีดีกว่ารัฐประหาร

BBC/ แพทองธาร ระบุว่า ประเทศไทยมีดีกว่ารัฐประหาร

 

โจนาธาน เฮด รายงานต่อว่า ตอนนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนแสดงให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเดินทางไปสู่ชัยชนะอีกครั้ง ครั้งนี้ ตระกูลชินวัตร ส่งลูกสาวคนสุดท้องของทักษิณ แพทองธาร ชินวัตร มานำการหาเสียงในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 แม้เธอจะอยู่ในช่วงใกล้คลอดก็ตาม แต่ก็เป็นจังหวะสร้างกระแสความชื่นชมและเห็นใจได้ไม่น้อย

พรรคเพื่อไทย หาเสียง “นโยบายกินได้” แบบประชานิยม เพื่อเรียกคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท

“อิ๊งคิดว่า ผ่านมา 8 ปี ประชาชนเข้าใจการเมืองมากขึ้น ตระหนักว่ามีการแก้ปัญหาประเทศที่ดีกว่ารัฐประหาร” แพทองธาร บอกกับบีบีซี “ประชาชนกำลังมองหานโยบายที่ช่วยชีวิตพวกเขาได้”

เธอคลอดลูกสาวคนที่ 2 เมื่อวันที่ 1 พ.ค. และกลับมาหาเสียงในไม่กี่วันต่อมา

Getty Images / เธอคลอดลูกสาวคนที่ 2 เมื่อวันที่ 1 พ.ค. และกลับมาหาเสียงในไม่กี่วันต่อมา

 

“หลายปีมาแล้ว ที่ไม่มีขุมพลังการเมืองใด ที่เป็นตัวเลือกที่ทดแทนพรรคเพื่อไทยได้ ในแง่ของการนำเสนอนโยบาย เสน่ห์ และการสื่อสารตรง ๆ กับประชาชน” ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยมายาวนาน กล่าว

“แล้วการรัฐประหารครั้งก่อน ก็นำมาสู่รัฐบาลที่สนับสนุนโดยฝ่ายทหาร ที่ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ และบริหารสถานการณ์โควิด ทำให้ความนิยมของพรรคคู่แข่ง คือ พรรคเพื่อไทย สูงอย่างต่อเนื่อง”

ศ.ดร.สิริพรรณชี้ว่า ปัจจัยความสำเร็จทางการเมืองของไทย คือ 3P (policies, personalities and patronage networks, political values) แปลเป็นไทยว่า นโยบาย บุคลิกและเครือข่ายอุปถัมภ์ และคุณค่าทางการเมือง

พร 3 ประการ ของเพื่อไทย

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายถึงปัจจัยสำคัญ 3 ข้อ ที่จะนำความสำเร็จทางการเมืองมาสู่พรรคเพื่อไทย

  • ประการแรก พรรคเพื่อไทยแข็งแกร่งมาตั้งแต่แรกเริ่ม หากย้อนดูจะเห็นว่า พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ริเริ่มการหาเสียงเชิงนโยบายสมัยใหม่ เป็นพรรคแรก ๆ ในภูมิภาค นับแต่การหาเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 ไม่ว่าจะเป็น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่สร้างประโยชน์แก่แถบชนบทและชุมชนรายได้ต่ำ พร้อมกับสร้างความภักดีที่ตัดไม่ขาดต่อพรรคตระกูล “ชินวัตร” ซึ่งถือเป็นฐานเสียงกลุ่มใหญ่สุด
  • ประการที่ 2 พรรคเพื่อไทย สร้างเครือข่ายหัวคะแนนที่กว้างขวาง ทำให้รักษาคะแนนเสียงและระดมคนไปลงคะแนนได้ แตกต่างจากพรรคสายอนุรักษนิยม 2 พรรคที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ อย่างพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ที่ขาดแคลนเครือข่ายท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง
  • ประการที่ 3 พรรคเพื่อไทยวางตัวเป็นพรรคที่ดูแล “คนตัวเล็ก” สำเร็จมาตลอด ชูประชาธิปไตย และการหาเสียงสำคัญในครั้งนี้ เพื่อไทยระบุว่า หากต้องการหยุดวงจรการสืบทอดอำนาจของทหาร ประชาชนต้องเลือกเพื่อไทยอย่างแลนด์สไลด์

แต่จะกล่าวว่า เพื่อไทยนำขึ้นมาอย่างไร้คู่ต่อกรเลยก็ไม่ถูกนัก เพราะเพื่อไทยถูกขนาบข้างด้วยพรรคก้าวไกล ที่มีคะแนนนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ แบบก้าวกระโดด จนถูกมองว่า กำลังชิงคะแนนโหวตจากเพื่อไทย และเป็นคะแนนนิยมที่มาจากทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะบางภูมิภาคอย่างเพื่อไทย

BBC

BBC / ป้ายหาเสียงหลายพรรค หลากสี ประดับตามท้องถนน

 

ผู้สื่อข่าวบีบีซียังมองว่า คมดาบเชิงนโยบายของพรรคเพื่อไทย เริ่มไม่แหลมคมเหมือนเดิม เพราะแทบทุกพรรคการเมืองต่างเสนอนโยบายแจกเงิน เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิลงคะแนน ทำให้นโยบายเชิงประชานิยมของเพื่อไทย ที่เคยเป็นกุญแจสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ ไม่สามารถเรียกได้ว่า หมัดเด็ดอีกต่อไป

“โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ พวกเขาไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับมรดกเชิงนโยบายของเพื่อไทย” ศ.ดร.สิริพรรณ จากจุฬาฯ วิเคราะห์ “แล้วอย่าลืมว่า มีผู้มีสิทธิลงคะแนนครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งนี้ถึง 4 ล้านคน ภาพลักษณ์พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคต้านทหาร จึงเจอกับการท้าทายจากพรรคก้าวไกล”

“แต่ดิฉันยังเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะด้วยที่นั่งจำนวนมาก เพราะเพื่อไทยมีบุคลิกและเครือข่ายอุปถัมภ์ ผ่านผู้สมัครในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ซึ่งพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคเกิดใหม่ ยังสร้างเครือข่ายไม่ครอบคลุมถึง”

ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ตั้งรัฐบาล

โจนาธาน เฮด วิเคราะห์ต่อว่า หากผลสำรวจความคิดเห็นสะท้อนถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจริง พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะทำผลงานได้ดีพอที่จะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่มี 500 ที่นั่ง แต่คำถามสำคัญคือ แล้วสองพรรคนี้จะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่

เพราะรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยฝ่ายทหาร ยังอนุญาตให้ ส.ว. 250 คน มีสิทธิลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้อีกครั้งหนึ่ง หลังเคยเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ มาแล้วในปี 2562 แล้วยังมี “กระบวนการยุติธรรมที่เอนเอียง” ที่อาจตัดสินยุบพรรคการเมืองสายก้าวหน้าอีก 1 หรือ 2 พรรค เหมือนที่เคยทำกับพรรคอนาคตใหม่ หลังการเลือกตั้งครั้งก่อนก็เป็นได้

ประเทศไทยตอนนี้ จึงเผชิญกับทางเลือก ว่าจะยึดตามตำราการเมืองแบบเผด็จการ ที่มองผลการเลือกตั้งเป็นเพียงตัวเลือก แต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ขั้วของตน ยังครองอำนาจต่อไปได้ (เพราะมีชั้นเชิงการเมืองอื่น อย่าง ส.ว. และ การยุบพรรค เป็นอาวุธเสริม)

หรือประเทศไทย จะปลดแอกตนเองจากวงจรรัฐประหาร เกมยุบพรรค และความรุนแรงบนท้องถนน ที่เป็นเสมือนโรคร้ายเรื้อรังชาติมานาน 2 ทศวรรษ

คนรุ่น “หลงทางสาบสูญ”

ในวันเดียวกับที่ โจนาธาน เฮด เขียนบทวิเคราะห์จากประสบการณ์ติดตามการเมืองไทย และการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 มายาวนาน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ได้เขียนรายงานถึงการเลือกตั้ง 2566 ของไทยเช่นกัน

เฮเลน เรแกน และ โคชา โอฬาร ผู้สื่อข่าวและโปรดิวเซอร์ของซีเอ็นเอ็น มองว่า การเลือกตั้งวันอาทิตย์นี้ กลุ่มคนที่จะเป็นตัวตัดสิน คือ คนรุ่นใหม่จาก “รุ่นที่หลงทางสาบสูญ” หรือที่คุ้นหูในหมู่นักวิเคราะห์การเมืองไทยว่า “ทศวรรษที่สูญหาย” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และกล้าพูดถึงหัวข้อที่เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ว่าจะเป็น การสืบทอดอำนาจของกองทัพ หรือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกนับแต่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่เริ่มเมื่อปี 2563 และเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 นับแต่การรัฐประหารปี 2557

ซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ตรงกับ โจนาธาด เฮด ว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล มีคะแนนนำมาในผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน และหาเสียงด้วยการประกาศถอนทหารออกจากการเมือง

แม้เหตุผลของซีเอ็นเอ็นถึงพรรคเพื่อไทย จะคล้ายกับผู้สื่อข่าวบีบีซี แต่นักวิเคราะห์บอกกับซีเอ็นเอ็นว่า พรรคก้าวไกลเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” เพราะกล้าชูนโยบายสายก้าวหน้า และปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน ทั้งกองทัพ นายทุนผูกขาดทางเศรษฐกิจ การกระจายอำนาจ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

Getty Images

Getty Images / “ด้อมส้ม” คือคำที่เรียกหัวคะแนนธรรมชาติของพรรคก้าวไกล

 

ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า “นี่จะเป็นการเลือกตั้งที่สะเทือนประเทศสำหรับไทย เพราะแต่เดิม (สถาบันกษัตริย์) เป็นเรื่องต้องห้าม”

”การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงไม่เหมือนครั้งใด ๆ และถือเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะเป็นการขับเคลื่อนเรื่องสถาบันกษัตริย์ ไปสู่ยังเวทีต่อไป… และไปถึงแก่นของปัญหาทั้งหมด”

แม้พรรคเพื่อไทยและก้าวไกล จะทำผลงานได้ดีมากแค่ไหน แต่ ศ.ดร.ฐิตินันท์มองว่า ยังเผชิญความท้าทายอีกมาก เพราะในอดีต มีตัวอย่างการตัดสินให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. พรรคการเมืองถูกยุบ และการโค่นล้มรัฐบาล โดยประเทศไทยมีการรัฐประหารที่สำเร็จมาแล้ว 13 ครั้ง นับแต่ปี 2475 และสำเร็จ 2 ครั้งในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว