ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอาจก่อสึนามิยักษ์ในซีกโลกใต้

Getty Images
Getty Images

ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกศาสตร์ (hydrography) จากทั่วโลก ออกมาเตือนว่าภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ อาจเป็นตัวกระตุ้นให้มีเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ที่ก้นมหาสมุทรแอนตาร์กติก จนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมาซัดถล่มซีกโลกใต้ได้

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยชี้ว่าเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเคยเกิดขึ้นมาแล้วถึงสองครั้งเมื่อหลายล้านปีก่อน ระหว่างที่โลกอยู่ในช่วงมีอุณหภูมิสูงขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเหมือนกับทุกวันนี้

ดร. เจนนี เกลส์ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยพลีมัธของสหราชอาณาจักรบอกว่า คลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมาเนื่องจากเหตุชั้นตะกอนก้นมหาสมุทรพังถล่ม เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคดึกดำบรรพ์เมื่อราว 3 ล้านปีก่อน และเมื่อ 15 ล้านปีก่อน ซึ่งล้วนเป็นช่วงเวลาที่เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้มีคลื่นยักษ์ซัดถล่มภูมิภาคอเมริกาใต้ นิวซีแลนด์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากหากเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน

เมื่อปี 2017 ทีมผู้วิจัยค้นพบหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ชี้ว่า เคยเกิดเหตุดินถล่มก้นสมุทรนอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกาบริเวณทิศตะวันออกของทะเลรอสส์ (Ross Sea) ทำให้ในปีต่อมามีการขุดเจาะแกนของชั้นตะกอนก้นสมุทรขึ้นมาตรวจสอบ

ผลวิเคราะห์พบว่าชั้นตะกอนที่เกาะตัวกันเพียงหลวม ๆ และพังถล่มลงมานั้น แท้ที่จริงคือซากแพลงก์ตอนปริมาณมหาศาล ซึ่งขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในยุคไพลโอซีนตอนกลางและยุคไมโอซีน เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรแอนตาร์กติกยุคนั้นสูงกว่าปัจจุบันถึง 3 องศาเซลเซียส

GETTY IMAGES

Getty Images
หิ้งน้ำแข็งที่พังถล่มสามารถก่อคลื่นใหญ่ในมหาสมุทรได้

ดร. โรเบิร์ต แม็กเคย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาสมุทรแอนตาร์กติก ประจำมหาวิทยาลัยวิกตอเรียแห่งกรุงเวลลิงตันของนิวซีแลนด์ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยกล่าวว่า “ในช่วงยุคน้ำแข็งที่อากาศหนาวเย็นลง ชั้นตะกอนที่เกิดจากซากแพลงก์ตอนถูกทับถมด้วยหินกรวดที่ธารน้ำแข็งพัดพามา ทำให้เกิดโครงสร้างที่ไม่มั่นคงและมีความเสี่ยงจะพังถล่มลงมาได้ง่าย”

แม้ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่า สาเหตุที่จะทำให้ชั้นตะกอนก้นสมุทรพังถล่มนั้นได้แก่อะไรบ้าง แต่คาดว่าการละลายและหดตัวของธารน้ำแข็งจากภาวะโลกร้อนในอดีต ทำให้แผ่นเปลือกโลกรับน้ำหนักน้อยลงและเกิดการ “ดีดตัว” (isostatic rebound) ซึ่งจะทำให้มีแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่เขย่าให้ชั้นตะกอนก้นสมุทรพังลงมาและเกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่สามารถคำนวณได้ว่า คลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมาที่อาจซัดถล่มซีกโลกใต้อีกครั้งนี้ จะมีขนาดและความสูงเป็นเท่าใดกันแน่ แต่พวกเขาคาดว่าน่าจะมีขนาดไม่เล็กไปกว่า “สึนามิแกรนด์แบงส์” (The Grand Banks Tsunami) เมื่อปี 1929 ที่ซัดถล่มชายฝั่งเขตนิวฟาวด์แลนด์ของแคนาดา โดยมีความสูงถึง 13 เมตร

นอกจากนี้ คลื่นยักษ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว น่าจะมีขนาดใหญ่กว่าสึนามิที่ถล่มปาปัวนิวกินีเมื่อปี 1998 ซึ่งมีความสูงถึง 15 เมตร และทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 2,200 คน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว