ชินโซ อาเบะ : การลอบสังหารอดีตนายกฯ ที่อาจเปลี่ยนญี่ปุ่นไปตลอดกาล

  • รูเพิร์ต วิงฟิลด์-เฮยส์
  • บีบีซี นิวส์, นารา
Japanese Prime Minister Shinzo Abe at Joint Base Pearl Harbor Hickam's Kilo Pier on December 27, 2016 in Honolulu, Hawaii.

ที่มาของภาพ, Getty Images

นับแต่มีข่าวการลอบยิงอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เมื่อ 8 ก.ค. ก็มีข้อความหลั่งไหลเข้ามาจากบรรดาเพื่อนฝูงและคนรู้จัก ที่ต่างตั้งคำถามเดียวกันว่า “เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในญี่ปุ่นได้อย่างไร”

ผมก็มีความรู้สึกแบบเดียวกัน การอาศัยอยู่ที่นี่คุณจะชินกับการไม่ต้องกังวลถึงเรื่องอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง

เรื่องที่ทำให้ข่าวนี้น่าตกตะลึงยิ่งขึ้นก็คือบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อ

แม้ ชินโซ อาเบะ จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอีกต่อไปแล้ว แต่เขาก็ยังเป็นบุคคลสำคัญในสังคมญี่ปุ่น และอาจถือเป็นนักการเมืองญี่ปุ่นผู้เป็นที่จดจำได้มากที่สุดในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ใครที่ต้องการฆ่าอาเบะ และทำไม

A woman reads a newspaper reporting former Japanese Prime Minister Shinzo Abe shot, in central Tokyo, Japan, 08 July 2022.

ที่มาของภาพ, EPA

ผมพยายามนึกถึงเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันในการใช้ความรุนแรงต่อนักการเมืองที่สร้างความตกตะลึงให้แก่ประชาชนในประเทศ กรณีหนึ่งที่ผมนึกออกก็คือการลอบยิงนายกรัฐมนตรี อูลอฟ พาลเมอ ของสวีเดนจนเสียชีวิตในปี 1986

เวลาที่ผมพูดว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยคิดหรือกังวลกับเรื่องอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและร่างกายนั้น ผมไม่ได้พูดเกินจริงเลย

จริงอยู่ที่ญี่ปุ่นมีแก๊งยากูซ่า แต่คนส่วนใหญ่มักไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว อันที่จริง แม้แต่แก๊งยากูซ่าเองก็มักหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธปืน เพราะบทลงโทษการครอบครองอาวุธปืนโดยผิดกฎหมายนั้นไม่คุ้มกันเลย

การครอบครองอาวุธปืนในญี่ปุ่นทำได้ยากมาก เพราะกำหนดให้บุคคลที่ต้องการครอบครองต้องไม่มีประวัติอาชญากรรม และต้องผ่านการฝึกใช้ปืน การประเมินทางด้านจิตใจ และการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียด ซึ่งรวมถึงการที่ตำรวจไปเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพื่อนบ้าน

ด้วยเหตุนี้ อาชญากรรมจากการใช้อาวุธปืนจึงแทบจะไม่มีในญี่ปุ่น และโดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนไม่ถึง 10 รายต่อปี ในปี 2017 มีเพียง 3 รายเท่านั้น

นี่จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจะมุ่งความสนใจไปยังชายผู้ก่อเหตุและอาวุธปืนที่เขาใช้ ชายผู้นี้คือใคร แล้วเขาเอาปืนมาจากไหน

Members of media gather in front of Nara Medical University Hospital where Japan’s former prime minister Shinzo Abe is transferred after being attacked during an election campaign on July 09, 2022 in Nara,

ที่มาของภาพ, Getty Images

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า ผู้ลั่นกระสุนสังหารนายอาเบะเป็นชายวัย 41 ปี อดีตสมาชิกกองกำลังป้องกันตนเอง หรือกองทัพของญี่ปุ่น

แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปก็จะพบว่า เขาใช้เวลาอยู่ในกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล (กองทัพเรือ) เพียง 3 ปี ส่วนเรื่องปืนที่ใช้ก่อเหตุก็ยิ่งน่าสงสัยขึ้นไปอีก

ภาพของปืนดังกล่าวที่ตกอยู่บนพื้นหลังใช้ก่อเหตุ เผยให้เห็นสิ่งที่ดูเหมือนอาวุธที่ทำขึ้นเอง นั่นคือท่อโลหะสองชิ้นที่ถูกยึดติดกันด้วยเทปผ้าสีดำและสิ่งที่ดูเหมือนตัวลั่นไกปืนที่ทำขึ้นเอง นี่ดูเหมือนปืนประดิษฐ์ขึ้นเองตามแบบที่ดาวน์โหลดมาจากอินเทอร์เน็ต

แล้วนี่เป็นเหตุโจมตีทางการเมืองโดยเจตนา หรือเป็นเพียงการกระทำของพวกที่อยากดัง ด้วยการยิงบุคคลมีชื่อเสียงสักคนหนึ่ง ทว่าจนถึงบัดนี้ยังเรายังไม่อาจล่วงรู้สาเหตุที่แท้จริงได้

เหตุลอบสังหารทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ในญี่ปุ่น โดยกรณีที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นในปี 1960 เมื่อนายอิเนจิโร อาซานุมะ หัวหน้าพรรคฝ่ายสังคมนิยมของญี่ปุ่นถูกคนร้ายฝ่ายนิยมขวาใช้ดาบซามูไรจ้วงแทงที่ท้อง แม้ปัจจุบันจะยังมีกลุ่มนิยมขวาสุดโต่งในสังคมญี่ปุ่น แต่นายอาเบะที่เป็นฝ่ายชาตินิยมก็ไม่น่าจะตกเป็นเป้าหมายของคนกลุ่มนี้

นักศึกษาหัวขวาจัดใช้ดาบซามูไรจ้วงแทงสังหารนายกฯ ญี่ปุ่นในปี 1960

ที่มาของภาพ, BBC/Asahi Shinbun

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการก่ออาชญากรรมรูปแบบหนึ่งเพิ่มมากขึ้นในญี่ปุ่น โดยเป็นการก่อเหตุของผู้ชายท่าทางเงียบ ๆ และอยู่อย่างสันโดษซึ่งมีความโกรธแค้นต่อบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ในปี 2019 ชายคนหนึ่งได้วางเพลิงสตูดิโอผู้ผลิตอนิเมะในเมืองเกียวโต เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 36 คน

ชายมือวางเพลิงให้การกับตำรวจว่ามีความแค้นต่อสตูดิโอแห่งนี้ที่ “ขโมยผลงานของเขาไป”

ในปี 2008 ชายหนุ่มที่มีความโกรธแค้นคนหนึ่งได้ขับรถบรรทุกพุ่งใส่ผู้คนในย่านการค้าอากิฮาบาระ ของกรุงโตเกียว จากนั้นได้ลงจากรถแล้วไล่แทงผู้คนบริเวณนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย

ก่อนลงมือก่อเหตุ เขาได้โพสต์ข้อความทางออนไลน์ว่า “ผมจะฆ่าคนที่ย่านอากิฮาบาระ” และ “ผมไม่มีเพื่อนสักคน ผมถูกมองข้ามเพราะผมขี้เหร่ และต้อยต่ำยิ่งกว่าเศษขยะ”

ยังไม่ชัดเจนว่าการลอบสังหารนายอาเบะเข้าข่ายการโจมตีแบบกรณีที่หนึ่ง หรือกรณีที่สอง แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเหตุการณ์ในครั้งนี้จะทำให้สังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไป

Getty Images

การที่คนส่วนใหญ่มองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลอดภัย และไม่มีการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ทำให้ช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แบบเดียวกับของนายอาเบะตอนที่เกิดเหตุ ก็ทำให้บรรดานักการเมืองออกไปยืนปราศรัยตามท้องถนนและจับมือทักทายกับประชาชนที่เดินผ่านไปมาอย่างใกล้ชิด

นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนร้ายที่มุ่งโจมตีนายอาเบะสามารถเข้าถึงตัวเขาได้อย่างใกล้ชิด แล้วลั่นไกปืนที่ประดิษฐ์ขึ้นเองปลิดชีพอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องความปลอดภัยในสังคมญี่ปุ่นอย่างไม่ต้องสงสัยนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว