แอ่วม่อนแจ่ม ชม “ฟอร์มูล่าม้ง” การแข่งรถไม้ของชาวเขา…ที่ชาวเราไปดูแล้วก็ชอบใจ

การแข่งขันรถล้อเลื่อนไม้ ประเพณีการละเล่นของชาวเขาเผ่าม้งที่เราเคยได้ยินชื่อเรียกกันว่า “ฟอร์มูล่าม้ง” มานานกว่า 10 ปี หลายคนอาจจะเคยไปชมมาแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เคยไป ปีนี้ทีมงาน “ประชาชาติธุรกิจ” เราจะพาขึ้นดอยไปชมกันว่างานนี้สนุกสนานครื้นเครงกันขนาดไหน

ก่อนจะไปชมบรรยากาศ ขอให้ข้อมูลคร่าว ๆ ก่อนว่า รถล้อเลื่อนไม้ หรือฟอร์มูล่าม้ง เป็นภูมิปัญญาของชาวเขาที่ดัดแปลงมาจากรถเข็นผลผลิตการเกษตร แต่ปัจจุบันนี้ในการเกษตรได้ใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์แทนแล้ว จึงเหลือเพียงการนำรถล้อเลื่อนไม้มาใช้ในการละเล่นและการแข่งขันภายในหมู่บ้าน จากนั้นขยายเป็นการแข่งขันระหว่างหมู่บ้าน ซึ่งผู้เข้าแข่งขันต้องอาศัยความชำนาญอย่างมาก ทั้งในด้านการผลิตรถล้อเลื่อนไม้และทักษะการบังคับรถบนเส้นทางลงเขา

การแข่งขันฟอร์มูล่าม้งในปัจจุบัน นอกจากเป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานแล้วยังเป็นงานประเพณีประจำปีเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างชาวเขาเผ่าม้งหมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ มีการหมุนเวียนสนามแข่งขันไปเรื่อย ๆ เหมือนกับการเวียนเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ

ปีนี้ สนามจัดการแข่งขันอยู่ที่ดอยม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จัดการแข่งขันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ในชื่อรายการ “เจอร์ไฮ ฟอร์มูล่าม้ง 2018” มีเงินรางวัลรวม 270,000 บาท โดยการสนับสนุนของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ

นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วมบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า แบรนด์เจอร์ไฮเล็งเห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการรักถิ่นฐาน ปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นของตนเองให้แก่คนรุ่นหลัง ตลอดจนการอนุรักษ์ไว้ซึ่งกีฬาการละเล่นที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นชาวเขาเผ่าม้ง จึงได้จัดการแข่งขันรถล้อเลื่อน “เจอร์ไฮ ฟอร์มูล่าม้ง 2018” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นอกจากสนับสนุนเงินรางวัลแล้ว ยังได้นำผลิตภัณฑ์จากเครือซีพีมูลค่ากว่า 100,000 บาทมอบให้กับกลุ่มสมาคมแม่บ้านโรงเรียนและชมรมการท่องเที่ยวโดยม่อนแจ่มจังหวัดเชียงใหม่จำหน่ายภายในงานเพื่อนำรายได้ ไปพัฒนาชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

การแข่งขันปีนี้ มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน 22 คน จาก 13 หมู่บ้าน รูปแบบการแข่งขันเป็นแบบประกบคู่ แพ้คัดออก โดยจับสลากแบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่ม จับคู่แข่งขันคู่ละ 3 รอบ แต่ละคู่ต้องชนะ 2 ใน 3 รอบ จากนั้นผู้ชนะ 11 คนก็จะไปจับคู่แข่งกัน 3 รอบ แพ้คัดออกเช่นเดียวกัน แล้วจับคู่แข่งกันไปจนเหลือ 3 คนสุดท้าย เข้าไปแข่งชิงอันดับ 1, 2 และ 3  

สนามการแข่งขันอยู่ที่ทางลงเขาใกล้ ๆ จุดชมวิวม่อนแจ่ม เป็นทางลาดชันระยะทางประมาณ 300 เมตร ซึ่งได้รับการเตรียมการปรับปรุงพื้นที่สำหรับการแข่งขันนี้อย่างเหมาะสม ทั้งพื้นถนน และขอบถนนที่ใช้ฟางอัดแน่นทำเป็นแบริเออร์ ขณะที่ผู้แข่งขันก็มีการเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายของตัวเอง ทั้งชุดแข่งที่ปกคลุมร่างกายอย่างหนาแน่น หมวกกันน็อก สนับเข่า ฯลฯ

นายจีรศักดิ์ เตชะเลิศพนา ผู้ดูแลจุดให้บริการรถล้อเลื่อนม่อนแจ่มให้ข้อมูลว่า ปีนี้มีคนท้องถิ่นให้ความสนใจเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งผู้เข้าแข่งขันมีการเตรียมความพร้อมทั้งตัวรถและตัวผู้แข่งขันเอง ในส่วนพื้นที่จัดการแข่งขันปีนี้ได้ปรับพื้นที่สนามการแข่งขันตั้งแต่ด้านบนลงมาสู่ด้านล่าง และเตรียมอุปกรณ์สนามเพิ่มเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับผู้เข้าแข่งขันและผู้ชม

บรรยากาศวันงานที่ม่อนแจ่มนั้นคึกคักตั้งแต่ทางขึ้นดอย ผู้คนน่าจะราวพันกว่าคน ทั้งชาวเขาและนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นที่ขึ้นไปร่วมชมงาน

การแข่งขันเริ่มขึ้นในช่วงสาย ๆ พอมีเวลาให้ถ่ายรูปจุดชมวิวม่อนแจ่มและเดินซื้อของก่อน โดยไม่ต้องเร่งรีบ ร้านรวงขายของก็ได้รับอานิสงส์จากความคึกคักนี้

หลังจากประธานเปิดงานแล้ว มีการแสดงการฟ้อนรำของกลุ่มแม่บ้านชาวเขา และการแสดงเป่าแคนท้องถิ่นของชาวเข้า (เป็นแคนที่ทำจากโลหะ ไม่ใช่ไม้ไผ่) ซึ่งแปลกหูแปลกตา และเพลิดเพลินใจดีทีเดียว

 

การแข่งขันเข้มข้นตลอดทั้งวันจนจบลงในตอนค่ำ ผลการแข่งขันปรากฏว่า นายจาง แซ่ลี จากหมู่บ้านแม่ขิ คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ส่วนอันดับ 2 เป็นของนายนพกร พงศ์ไพรพัฒนา จากหมู่บ้านดอยปุย และอันดับ 3 คือนายวิชัย เตชะเลิศพนา จากบ้านหนองหอยเก่า

สำหรับเงินรางวัลจากการแข่งขันนั้น จะถูกนำไปใช้อย่างไรขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละหมู่บ้าน อย่างหมู่บ้านหนองหอยเก่า ซึ่งเป็นแชมป์เก่าปี 2560 นั้นนำเงินรางวัลไปพัฒนาสร้างศาลาป่าช้า เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สร้างห้องน้ำสาธารณะ และจัดซื้ออุปกรณ์เสียงตามสายเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์กระจายข่าวสารในชุมชน

การขึ้นดอยไปชมการแข่งขันฟอร์มูล่าม้งครั้งนี้ ได้เห็นบรรยากาศสนุกสนาน ใครที่ดูอย่างเดียวยังไม่จุใจ อยากลองเล่นลองนั่งรถล้อเลื่อนไม้บ้าง ก็รอจังหวะดี ๆ ระหว่างที่ว่างจากการแข่งไปขอเขาลองนั่งลองเล่น ชาวบ้านเขาก็ใจดีให้ลองเล่นได้ด้วย

สรุปสั้น ๆ  เล่ยว่า งานนี้สนุกสนานถูกใจทั้งชาวเขาและชาวเราจริง ๆ