สื่ออเมริกันเปิดเอกสาร ชี้ยูเครนยอมรับอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดในไครเมีย

ไครเมีย ระเบิด
ควันเพิ่มขึ้นหลังจากได้ยินเสียงระเบิดจากทิศทางของฐานทัพอากาศทหารรัสเซียใกล้โนโวเฟโดริฟกา ไครเมีย 9 สิงหาคม 2022 (REUTERS/Stringer)

เจ้าหน้าที่ยูเครนยอมรับอยู่เบื้องหลังระเบิดไครเมีย ทั้ง 3 ครั้ง ทั้งเหตุการณ์ระเบิดเส้นทางขนส่ง-คลังอาวุธ-ฐานทัพของฝั่งรัสเซีย ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

วันที่ 18 สิงหาคม 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลยูเครนเปิดเผยเอกสารรายงานของรัฐบาลยูเครนที่เผยเเพร่ภายในแก่เเหล่งข่าวของซีเอ็นเอ็น เนื้อหาระบุว่ายูเครนอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดทั้ง 3 ครั้ง ซึ่งเขย่าขวัญค่ายทหารรัสเซียในไครเมีย รวมถึงการระเบิดที่ฐานทัพอากาศรัสเซียบนชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรไครเมีย

ส่งผลให้เครื่องบินหลายลำถูกทำลาย โดยเจ้าหน้าที่ทางการยูเครนรายนี้ยังได้ขอร้องให้มีการปกปิดชื่อ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลกับสื่อ

ในรายงานระบุว่า ฐานทัพอากาศซากี (Saki) ซึ่งถูกระเบิดไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 ส.ค.) ถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางทหารของรัสเซียในคาบสมุทรเเห่งนี้ และการโจมตีครั้งถัด ๆ มายังเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถทางทหารอย่างเป็นระบบของยูเครนในการตั้งเป้าโจมตีไปที่เเหลมไครเมีย

โดยเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ฐานทัพอากาศซากี ซึ่งทำลายเครื่องบินทหารอย่างน้อย 7 ลำ ได้ส่งผลให้ฐานทัพเสียหายอย่างรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย รัสเซียอ้างถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเกิดจากอุบัติเหตุ เเละเจ้าหน้าที่ยูเครนก็ได้ปฏิเสธที่จะยืนยันอย่างเป็นทางการ ว่าพวกเขามีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ ขณะที่สาเหตุของการระเบิดนั้นยังไม่เเน่ชัด

ในการกล่าวสุนทรพจน์หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนกล่าวว่าสงคราม “เริ่มต้นที่ไครเมียและต้องจบลงที่ไครเมีย นั่นคือการปลดปล่อยคาบสมุทรเเห่งนี้ให้เป็นอิสระ”

เหตุการณ์ล่าสุดอื่น ๆ มีอะไรบ้าง

ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์นี้มีรายงานการระเบิดอีกชุดหนึ่งขึ้นในบริเวณเเหลมไครเมีย โดยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่คลังกระสุนในหมู่บ้านเมสกี (Maiske) เเละที่สนามบินใน กวาดีสโก (Gvardeyskoe)

เจ้าหน้าที่รัสเซียกล่าวว่า เหตุการณ์ในเมสกีเป็นผลมาจากการก่อวินาศกรรม แต่ไม่ได้ระบุประเภทของการก่อวินาศกรรม หรือผู้ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นผู้รับผิดชอบ

ตามภาพที่เผยเเพร่ในโลกโซเชียล เกิดไฟไหม้และกลุ่มควันขึ้นจากสถานีไฟฟ้าย่อยที่อยู่ห่างจากคลังกระสุนของหมู้บ้านเมสกีกว่า 12 ไมล์ โดยสาเหตุของเพลิงไหม้และควันที่พวยพุ่งขึ้นมาจากบริเวณสถานีย่อยนั้นยังไม่ชัดเจน

เหตุการณ์ทั้ง 2 เกิดขึ้นบริเวณรอบพื้นที่เมือง จังคอย (Dzhankoi) ซึ่งทางกระทรวงกลาโหมอังกฤษอธิบายว่าเป็น “ถนนสายสำคัญและทางแยกทางรถไฟที่มีบทบาทสำคัญในการจัดหาเเละขนส่งเสบียงสำหรับปฏิบัติการของรัสเซียในภาคใต้ของยูเครน”

การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ขบวนการต่อต้านที่ตั้งขึ้นใหม่ในพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยรัสเซีย ดูเหมือนจะเป็นผู้ก่อวินาศกรรมครั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยูเครนกล่าวว่า สะพานรถไฟใกล้กับเมืองเมลิโตปอลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศยูเครน ซึ่งเป็นเส้นทางที่รัสเซียใช้เพื่อขนส่งยุทโธปกรณ์เเละอาวุธทางทหารจากไครเมียที่ถูกยึดครอง ได้ถูกระเบิดโดยพันธมิตรของยูเครน

โดยเมืองเมลิโตปอลนั้นเป็นศูนย์กลางของการกระบวนการใต้ดิน ซึ่งต่อต้านการยึดครองของรัสเซียเป็นเวลายาวนานหลายเดือน

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีปฏิบัติการเพื่อลดขีดความสามารถทางทหารของรัสเซียในแหลมไครเมีย ซึ่งเมื่อวันอังคาร (16 ส.ค.) ทางประธานาธิบดีเซเลนสกีก็ได้ออกมาย้ำเตือนชาวยูเครนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ถูกรัสเซียยึดครองให้หลีกเลี่ยงห่างจากสิ่งก่อสร้างทางทหารของรัสเซีย

เเล้วระเบิดครั้งนี้มีความหมายอย่างไร

การระเบิดที่ฐานทัพอากาศซากีของไครเมียเมื่อสัปดาห์ที่เเล้ว ได้ทำให้นักท่องเที่ยวที่กำลังอาบเเดดพักผ่อนอยู่ในเพิงริมชายหาดต่างตกอยู่ในอาการเสียขวัญ พร้อมกับเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ระเบิดปริศนาอย่างต่อเนื่องบนคาบสมุทรของยูเครน ซึ่งคุกคามอัญมณีเเห่งการปฏิวัติอันเเสนทะเยอทะยานของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

ขณะที่เจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ของชาติตะวันตกต่างได้เเข่งขันกันเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม คาเวล กรุ๊ป (Cavell Group) มองว่า “การโจมตี (ฐานทัพอากาศ) ซากีนั้น ถือว่าเป็นความหาญกล้าบ้าบิ่นเเละมีประสิทธิภาพสูงมากทั้งในการสร้างความเสียหายให้กับกองกำลังเสริมของรัสเซียเเละการโจมตีทางจิตวิทยาที่สำคัญ โดยเป็นการข่มขวัญกำลังใจในหมู่ทหารเเละพลเรือนชาวรัสเซีย”

อะไรก็ตามที่ได้ก่อให้เกิดการระเบิด พวกมันอาจมีนัยสำคัญสำหรับเหตุการณ์ความขัดแย้งโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการโจมตีเกิดขึ้นด้วยระบบอาวุธระยะไกลเเบบใหม่ที่ยูเครนได้พัฒนาขึ้น

ทางด้านกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า การสูญเสียเครื่องบินขับไล่ครั้งนี้ถือเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของจำนวนเครื่องบินทั้งหมดที่รัสเซียมีไว้เพื่อรองรับการทำสงคราม แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ซากีนั้นเป็นฐานทัพหลักในการสนับสนุนกองทัพเรือรัสเซียในทะเลดำ รายงานระบุว่า “ขีดความสามารถในการบินของกองทัพเรือตอนนี้ลดลงอย่างมาก เเละเหตุการณ์นี้น่าจะกระตุ้นให้กองทัพรัสเซียแก้ไขมุมมองของพวกเขาต่อภัยคุกคาม”

นอกจากนี้ มันยังอาจทำให้เกิดการประเมินภัยคุกคามต่อแหลมไครเมียอีกครั้ง ซึ่ง “น่าจะเคยถูกมองว่าเป็นพื้นที่ด้านหลังที่ปลอดภัยเเน่นหนามาตลอด” ทางกระทรวงกล่าวเสริม

โดยคาบสมุทรไครเมียนั้นได้ถูกรัสเซียยึดครองในปี 2557 เมื่อกองกำลังปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียหลายพันนายสวมเครื่องแบบที่ไม่มีเครื่องหมายประจำการรอบคาบสมุทรในช่วงต้นเดือนมีนาคมปีนั้น ไม่นานหลังจากที่ผู้ประท้วงชาวยูเครนช่วยกันโค่นล้มประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้สนับสนุนรัสเซีย