เปิดข้อเสนอพัฒนาตลาดทุนให้ปัง ไม่พัง ก.ล.ต. ธปท. สรรพากรผนึกกำลัง

มูลนิธิสถาบันอนาคตไทย

เปิดข้อเสนอเชิงนโยบาย ผ่านสมุดปกขาว (White Paper) โครงการตลาดทุนของทุกคน (Capital Market OF All) จัดทำโดยมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา หรือ Thailand Future Foundation เสนอต่อกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน

สถาบันอนาคตไทยศึกษา จัดทำโครงการตลาดทุนของทุกคน เผยแพร่ฉบับสมบุรณ์ 29 กันยายน 2565 โดยส่วนหนึ่งของบทสรุประบุว่า ตลาดทุนไทยยังต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของนวัตกรรมทางการเงินที่มีการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และการเงินแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized Finance หรือ DeFi), Non-fungible token, Web 3.0 รวมทั้งสินทรัพย์เสมือนในโลก Metaverse เป็นต้น

เกิดเป็นโลกการเงินยุคใหม่ที่มีผลิตภัณฑ์และรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างไปจากเดิม นวัตกรรมเหล่านี้เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสําหรับตลาดทุนไทย

7 ข้อเสนอเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงตลาดทุนไทย

1.พัฒนาฐานข้อมูลการลงทุนอันเป็นหนึ่งเดียว (ONE-ID) เพื่อความเป็นเอกภาพและเป็นวิทยาศาสตร์ของการดำเนินนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงตลาดทุนสำหรับผู้ลงทุนในทั้ง traditional และ digital assets

2.รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ในการลงทุนให้เป็นแบบ Single Source of Truth เพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โปร่งใส และอยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายแทนรูปแบบ check-the-box ที่กระจัดกระจาย ยากต่อการค้นหาและตัดสินใจ

3.พิจารณาความเป็นไปได้ของนโยบาย Universal Basic Capital Grant โดยมีเป้าหมายเพื่อ 1) เพิ่มการเข้าถึงตลาดทุนแบบกึ่งอัตโนมัติ และ 2) ปลูกฝังความสนใจในการลงทุนตั้งแต่เยาว์วัย

4.ประยุกต์ใช้และส่งเสริมจุดเด่นจากประสบการณ์การลงทุนใน digital assets เข้ากับ traditional assets เช่น กระบวนการในการเปิดบัญชีและ KYC ที่ไม่ซับซ้อน และการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่สะดวกรวดเร็ว

5.สนับสนุน investment education ผ่านช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่จำกัดแค่เพียงในระบบการศึกษาหรือช่องทางการลงทุนทางการเท่านั้น ควรครอบคลุมไปถึงสื่อแขนงใหม่ที่กลายเป็นช่องทางหลักในการบริโภคข่าวสาร

6.ปรับลดขั้นตอนและต้นทุนในการเข้าระดมทุนสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น โดยเฉพาะในระยะ seed stage เพื่อไม่ให้การบ่มเพาะธุรกิจโลกใหม่ขาดช่วง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในด้านนักลงทุนสัมพันธ์และการบัญชีให้มีมาตรฐาน

7.แก้ไขอุปสรรคทางกฎหมายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับทางเลือกของผู้ระดมทุนเมื่อเทียบกับตลาดทุนอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะในเรื่องของ ESOPs, Convertible Bond, Preferential Shares และการยกเลิกบุริมสิทธิ

7 ข้อเสนอ สู่ประสิทธิภาพความสามารถในการแข่งขัน

1.มีความจำเป็นที่สำนักงาน ก.ล.ต. ธปท. และกรมสรรพากรควรปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและถี่มากขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนของหน้าที่และความมีเอกภาพของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผู้เล่นในตลาดทุน

2.ใช้งานเทคโนโลยีข้อมูลในการเฝ้าระวังทั้งใน traditional และ digital assets มากขึ้น เพื่อสร้างความยำเกรง ลด malpractice และร่นระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรม เกิดความปลอดภัยและความเป็นธรรมมากขึ้น

3.ทดลองแนวทาง self-Regulatory Organization เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความรวดเร็วในการตอบสนอง สร้างโอกาสในการร่วมพัฒนา industry standards และ conduct โดยไม่เป็นภาระต้นทุนในการกำกับดูแลจนเกินไป

4.สมทบทุนธุรกิจ growth-stage ผ่านกลไก matching/parallel funds กับผู้ลงทุนสถาบันเพื่อบ่มเพาะผลิตภัณฑ์ และถือเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรม Venture capital และ private equity ที่ยังมีขนาดเล็กไปพร้อมกัน

5.ลดต้นทุนทางภาษีในตลาดทุนลง นอกเหนือจากต้นทุนธุรกรรมที่ถือว่าค่อนข้างต่ำ ตลาดทุนไทยยังมีจุดที่สามารถลดต้นทุนทางภาษีลงได้อีก เช่น ภาษีการขายหุ้นก่อน IPO และ Capital Gain Tax เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน

6.ปรับนิยามของผู้ลงทุนให้เป็นแบบ multidimensional evaluation เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่มีศักยภาพในมิติอื่นนอกเหนือจากรายได้และทรัพย์สิน สามารถสร้างคุณค่าในตลาดทุนได้อย่างเป็นวงกว้างและมีอิสระมากขึ้น

7.พัฒนาตลาด Securitized Alternative Lending เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนและนิติบุคคล แบ่ภาระในการรับและบริหารความเสี่ยง ตลอดจนเพิ่มทางเลือกในการลงทุนกับหลักทรัพย์ประเภทใหม่

7 ข้อเสนอ ให้ตลาดทุนไทย ส่งเสริมเป้าหมายความยั่งยืน

1.สร้างความตระหนักรู้ถึงความหมายและความสำคัญของความยั่งยืนกับแนวทางการปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนในวงกว้าง ทั้งในกลุ่มผู้บริโภค ผู้ลงทุน ผู้ระดมทุน ผู้ประกอบการ และภาครัฐ

2.ร่วมกำหนดนิยามตัวชี้วัดความยั่งยืนของการกระทำโดยบริษัทจดทะเบียนแบบ objective เพื่อเพิ่มความโปร่งใส เป็นแบบแผนข้อมูลรากฐานที่ช่วยให้การตัดสินใจลงทุน และการสนับสนุน/ลงโทษโดยภาครัฐเป็นไปอย่างมีหลักฐาน

3.พัฒนา National ESG Data Platform บนหลักฐานการปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนตามหลักคิดความยั่งยืน ที่เชื่อมโยงต่อเข้ากับผลิตภัณฑ์การลงทุนทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกองทุน ตราสารหนี้ หรือตราสารทุน

4.อุดหนุนและเพิ่มทางเลือกในการออกผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ลงทุน สนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ผู้ออกหลักทรัพย์ด้าน ESG หรือสนับสนุนการจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนอย่างมีมาตรฐาน

5.อุดหนุนการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ส่งเสริมความยั่งยืน เพื่อให้บริษัทจัดการกองทุนมีแรงจูงใจเพิ่มเติมในการลงทุนเพื่อความยั่งยืน รวมถึงเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบจากความเชื่อว่าผลประกอบการกับความยั่งยืนไม่ไปด้วยกัน

6.อาศัยประโยชน์จากข้อมูลธุรกรรมเมื่อ CBDC ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่อลดภาระต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูล Supply Chain Footprint ของการค้าระหว่างผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภค

7.เร่งพัฒนาตลาดคาร์บอนให้ก้าวข้าม OTC และมีมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มอีกหนึ่งแรงจูงใจให้กับบริษัทจดทะเบียนในการพยายามปรับทิศทางในการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายคาร์บอนของประเทศไทยมากขึ้น

สามารถติดตามเอกสารข้อเสนอรายละเอียด ที่นี่ https://www.thailandfuture.org/publications