ลอยกระทง 2565 วันนี้ ! เปิดที่มา-คำขอขมาพระแม่คงคา

ลอยกระทง2565
ภาพจาก มติชน

เปิดที่มา-ประวัติ การลอยกระทงในประเทศไทย และคำขอขมาพระแม่คงคา สำหรับประชาชนที่จะไปลอยกระทงในปี 2565 

วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย  ตามปฏิทินจันทรคติล้านนามักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติบางปีเทศกาลลอยกระทงตรงกับเดือนตุลาคมด้วย

ประเพณีวันลอยกระทง จัดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ขณะที่บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก

ประวัติการลอยกระทงในประเทศไทย

เดิมมีความเชื่อว่า การลอยกระทงในประเทศไทยมีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย เรียกว่าการลอยพระประทีป หรือลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม

การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา

ต่อมา “พัชรเวช สุขทอง” เขียนเรื่อง “ลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยจริงหรือ ?” เผยแพร่ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ระบุว่า

ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าลอยกระทงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่คำว่าลอยกระทงเริ่มเด่นชัดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีการสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และความจำเป็นด้านอื่น ๆ จึงมีพระราชนิพนธ์หนังสือตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ โดยจะสมมุติฉากในเรื่องเป็นสมัยสุโขทัย จึงเกิดการทำกระทงด้วยใบตองแทนวัสดุอื่น ๆ เมื่อระยะเวลาผ่านไป การทำกระทงด้วยใบตองก็แพร่หลายไปที่ต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงลอยกระทง สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือนางนพมาศ และสมัยสุโขทัย แต่ว่าในศิลาจารึกและเอกสารต่าง ๆ ไม่มีคำว่า “ลอยกระทง” แต่จะมีประเพณีที่มีลักษณะคล้ายกับการลอยกระทง โดยในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า “เผาเทียน เล่นไฟ” ซึ่งมีความหมายกว้าง ๆ ว่า ทำบุญไหว้พระ แม้แต่ในสมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดี มีแต่ชื่อ ชักโคม ลอยโคม และแขวนโคม

ด้วยเหตุนี้ คำว่า “ลอยกระทง” จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน และชัดเจนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยจากหลักฐานพระราชพงศาวดารแผ่นดิน รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และเรื่องนางนพมาศ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3

วัตถุประสงค์ในการลอยกระทง

การลอยกระทงมีวัตถุประสงค์ด้วยกัน 2 ประการ ได้แก่

1. เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางท้องที่ถือว่าลอยกระทงเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องในโอกาสที่พระพุทธองค์ได้ไปแสดงธรรมในนาคภิภพ และทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที

2. เพื่อบูชาพระแม่คงคา เป็นการแสดงการขอบคุณน้ำ เพราะมนุษย์เราอยู่ได้เพราะน้ำ ตั้งแต่โบราณมาชุมชนทั้งหลายเวลาสร้างเมือง ต่างก็เลือกติดแม่น้ำ ดังนั้นถึงเวลาในรอบ 1 ปี จึงเลือกเอาวันเพ็ญเดือนสิบสอง ระลึกว่าตลอดปีที่ผ่านมา เราได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต

ขณะที่ลอยกระทงเราก็นึกถึงคุณของน้ำ ต้องรำลึกว่าต้องรู้จักใช้น้ำอย่างถูกวิธี และใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ไม่ใช้ทิ้งขว้าง ไม่ทำให้น้ำสกปรก ไม่ปล่อยของเสียลงแม่น้ำ เป็นการขอขมาและขอบคุณพระแม่คงคา ไม่ใช่เป็นการไหว้เทวดาพระแม่คงคาแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงการขอบคุณน้ำ ในฐานะที่เป็นผู้ให้ชีวิตเรา

คำขอขมาพระแม่คงคา

ตั้งนะโม (3 จบ) สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต

ข้าแต่พระแม่คงคา ลูกขอวันทา ด้วยประทีปกระทง พระแม่คงคามีความเมตตา ต่อลูกสูงส่ง คือน้ำในกาย สามส่วนมั่นคง กายจึงยืนยง ชุ่มชื่นยืนนาน พระแม่คงคา กำเนิดจากฟ้า โปรยปรายลงมา เป็นกระแสธาร เกิดเป็นแม่น้ำ หลายนามขนาน ปิง, วัง, ยม, น่าน คือเจ้าพระยา ท่าจีน, ตาปี นครชัยศรี โขง, ชี, มูล, ละหาร ห้วยหนองคลองบึง จนถึงแก่งกว๊าน น้ำใต้บาดาล อีกทั้งประปา

ลูก ๆ ทั้งหลาย เดินทางขายค้า สำเร็จกิจจา คมนาคม นำมากินใช้ ได้ดั่งอารมณ์ ยามร้อนประพรม ชุ่มชื่นกายใจ ชำระมลทิน โสโครกทั้งสิ้น สะอาดสดใส ผุดผ่องพราวตา แลเลิศวิไล แม่น้ำรับไว้ สกปรกโสมม น้ำเสียเรือนชาน ซักผ้าล้างจาน เททิ้งทับถม ไหลลงคงคา ธาราระทม สารพิษสะสม เน่าคลุ้งฟุ้งไป วันนี้วันเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่น เป็นศุภสมัย

ลูกจัดกระทง ประสงค์จงใจ นำมากราบไหว้ พระแม่คงคา เทวาทรงฤทธิ์ ซึ่งสิงสถิต ทุกสายธารา ทั้งผีพรายน้ำ อย่าซ้ำโกรธา ลูกขอขมา อโหสิกรรม ทำกิจใดใด อุทกภัย อย่าได้เติมซ้ำ อย่าพบวิบัติ ข้องขัดระกำ อย่าให้ชอกช้ำ น้ำท่วมพสุธา อย่าให้สินทรัพย์ ต้องพลันย่อยยับ เพราะสายธารา อย่าให้ชีวิต ต้องปลิดชีวา พระแม่คงคา รับขมาลูก เทอญ

กิจกรรมของวันลอยกระทง

  • เข้าวัดทำบุญ ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ ทำจิตใจให้สงบ
  • ประกวดกระทง
  • ปล่อยโคมลอย
  • ประกวดนางนพมาศ
  • ลอยกระทง

ลอยกระทง 2565 ตรงกับวันไหน ?

วันลอยกระทง พ.ศ. 2565 ตรงกับ วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 / วันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบสอง (12) ปีขาล