เปิดที่มาวันแรงงานแห่งชาติ กับความต้องการแรงงานไทย ดูว่าที่รัฐบาลใหม่มีอะไรรองรับบ้าง

เกี่ยวกับ 1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ คนใช้แรงงาน นโยบายพรรคการเมือง

วันที่ 1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ ในทุกปีถือเป็นวันหยุดของภาคเอกชนด้วย โดยปกติแล้ววันนี้ประชาชนพี่น้องผู้ใช้แรงงานจะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการและนโยบายที่ช่วยทำให้ชีวิตคนหาเช้ากินค่ำดีขึ้น

เช่นเดียวกับปี 2566 นี้ ที่กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและกลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย จัดกิจกรรมวันแรงงาน เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยื่นข้อเรียกร้องเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และขอให้รัฐบาลควบคุมค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ที่บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ระบุว่า มีจำนวนผู้มีงานทำ ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป อยู่ที่ประมาณ 39.91 ล้านคน และยังมีผู้ว่างงานอยู่ ประมาณ 358,000 คน

นโยบายที่เกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน จึงกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเรียกคะแนนนิยมจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มีอยู่ทั่วประเทศ หลายสิบล้านคน และพรรคการเมือง เลือกชูนโยบายที่เกี่ยวกับแรงงาน ทั้งการเพิ่มสวัสดิการต่าง ๆ และการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้แรงงานไทย ผ่านการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

ประวัติวันแรงงานสากล-ไทย เกิดขึ้นเมื่อไร-อย่างไร ?

วันแรงงานสากล อ้างอิงจากเว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า วันแรงงานสากลเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยขบวนการแรงงานสากลที่ 2 (Second International, Socialist International) เป็นผู้กำหนด ซึ่งการเอาวันดังกล่าวเป็นวันแรงงาน เพราะว่าเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์จลาจลเฮย์มาร์เก็ต (Haymarket Riot) ในชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1886 โดยเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานบริษัท แมคคอร์มิกฮาเวสติงแมชชีนคอมพานี (McCormick Harvesting Machine Company) ที่ต้องการให้กำหนดเพดานชั่วโมงทำงานที่วันละ 8 ชั่วโมง โดยผลจากเหตุการณ์จลาจลทำให้มีผู้เสียชีวิต 4-8 ราย เจ็บอีก 30-40 คน

วันแรงงานแห่งชาติไทย อ้างอิงจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยศรีปทุม ระบุว่า ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึกแรงงาน ได้จัดประชุมขึ้นพร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันระลึกถึงแรงงานไทย

จึงได้มีหนังสือถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม จนเป็นที่มาของวันกรรมกรแห่งชาติ และต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2500 ก็ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติด้วย

แต่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็มีอายุเพียงแค่ 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และมีการให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน และกำหนดวันกรรมกรให้เป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ในขณะนั้นมีการผันแปรจึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปี เพื่อเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ก็มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2517 ได้เปิดให้มีการฉลองตามสมควร และมอบให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี โดยมีการทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแสดงความรู้ และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

แต่เดิมนั้นการบริหารแรงงานอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐบาลได้เล็งเห็นว่าควรจะมีการยกระดับหน่วยงานเพื่อให้มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่สำหรับการดูแลผู้ใช้แรงงานอย่างพอเพียง

ในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 จึงได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้จัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้นเพื่อให้การบริหารงานมีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ และมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

1.การจัดหางาน ด้วยการช่วยเหลือคนว่างงานให้มีงานทำ ช่วยเหลือนายจ้างให้ได้คนมีคุณภาพดีไปทำงาน รวบรวมเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการทำงาน แหล่งงาน ภาวะตลาดแรงงาน

2.งานแนะแนวอาชีพ ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนและผู้ประสงค์จะทำงาน เพื่อให้สามารถเลือกแนวทางประกอบอาชีพที่เหมาะสมตามความถนัด ความสามารถทางร่างกาย คุณสมบัติ บุคลิกภาพ และความเหมาะสมแก่ความต้องการทางเศรษฐกิจ

3.การพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแก่คนงานและเยาวชนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อโดยการฝึกแบบเร่งรัด

4.งานคุ้มครองแรงงาน วางหลักการและวิธีการเกี่ยวกับชั่วโมงทำงาน วันหยุดงาน ตลอดจนการจัดให้มีสวัสดิการต่าง ๆ

5.งานแรงงานสัมพันธ์ ทำการส่งเสริมและสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้ทั้งสองฝ่าย เข้าใจถึงลักษณะและสภาพของปัญหา ตลอดจนวิธีการที่เหมาะสมที่จะช่วยขจัดความเข้าใจผิดและข้อขัดแย้งอื่น ๆ

ส่วนด้านที่เกี่ยวกับกรรมกรก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานขึ้นหลายร้อยกลุ่ม และยังได้รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน มี 3 สภา ได้แก่

  • สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย
  • สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย
  • สภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย

เลือกตั้ง 2566 นโยบาย พรรคการเมือง แรงงาน คนทำงาน

เลือกตั้ง 66 ใกล้วันแรงงาน ว่าที่รัฐบาลใหม่มีนโยบายอะไรบ้าง

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมทุกนโยบายที่เกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน จากพรรคการเมืองหลัก ว่ามีนโยบายอะไร สัญญากับผู้ใช้แรงงานไว้อย่างไรบ้าง

พรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยมีนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ซึ่งเป็นที่ฮือฮาอย่างมากตั้งแต่การเปิดนโยบาย โดยในภาคธุรกิจก็มีทั้งเสียงที่พร้อมจะปรับขึ้นตามนโยบายของพรรค หากได้ขึ้นเป็นรัฐบาล และเสียงที่กังวลและไม่ปรับขึ้น เพราะกังวลถึงเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี

นอกจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานทั่วไทยแล้ว ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน ทั้งการปรับเงินเดือนเริ่มต้นเป็น 25,000 บาท ภายในปี 2570 สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรี หรือทำงานราชการ

รวมทั้งนโยบาย “ทุนครอบครัว” ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน โดยพรรคเพื่อไทย ระบุว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยลดช่องว่างรายได้คนไทย ให้ทุกคนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี

พรรคเพื่อไทยระบุเพิ่มเติมว่า จะมีการสำรวจครัวเรือนทั่วทั้งประเทศเพื่อตรวจสอบรายได้และศักยภาพของประชาชนเพื่อให้ครอบครัวได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง พร้อมไปกับการสร้างรายได้ผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่สำคัญคือ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ Soft Power (OFOS)

หากรายได้ของครัวเรือนต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือน ก็จะได้รับการเติมให้ครบ 20,000 บาท/เดือน จนกระทั่งครอบครัวมีรายได้เพียงพอ โดยผู้จะรับสิทธิจะลงทะเบียนผ่านระบบบนแพลตฟอร์ม Learn to Earn เพื่อเสริมทักษะและหางาน และจะมีการลงทะเบียนและอัพเดตข้อมูลทุก 6 เดือน เพื่อดึงคนเข้าระบบ ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และทำให้รัฐสามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำ

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยชี้แจงต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า นโยบายเงินเดือนคนจบปริญญาตรี และข้าราชการ เริ่มต้น 25,000 บาท จะทำให้ใช้วงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น 40,000 ล้านบาท

พรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกลระบุว่า นโยบายนี้จะมีการปรับระบบค่าแรงขั้นต่ำให้มีการปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อให้แรงงานได้ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจของตัวเองในแต่ละปีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

โดยนโยบายดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เริ่มต้นที่วันละ 450 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยที่ค่าแรง 300 บาทต่อวัน ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2554

พรรคก้าวไกลระบุเพิ่มเติมว่า จะมีการแบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับ SMEs ในช่วง 6 เดือนแรก โดยการที่รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าว เป็นหนึ่งในนโยบายด้านสวัสดิการ “ทำงาน” ซึ่งชี้แจงต่อ กกต. ว่าจะใช้วงเงิน 56,000 ล้านบาท โดยเงินดังกล่าวเป็นเงินรัฐที่ต้องสมทบให้กับประกันสังคมถ้วนหน้าและคูปองเสริมทักษะ

พรรคไทยสร้างไทย

แม้ “พรรคไทยสร้างไทย” จะไม่ได้มีนโยบายในการปรับค่าแรงขั้นต่ำหรือการปรับเงินเดือนขั้นต่ำ เหมือน 2 พรรคก่อนหน้านี้ แต่มีการเสนอนโยบายยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายได้สุทธิไม่เกิน 3 แสนบาท/ต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี

พรรคไทยสร้างไทยให้รายละเอียดว่า นโยบายของพรรค คือ การเสนอให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่อยู่ในช่วง 150,001 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ซึ่งเดิมผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 คิดเป็นเงินภาษีเท่ากับ 7,500 บาท ที่จะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี

พรรคชาติพัฒนากล้า

“พรรคชาติพัฒนากล้า” พรรคที่ประกาศตัว พร้อมแก้ปัญหาเศรษฐกิจในทุกรูปแบบ เสนอนโยบายปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ให้บุคคลธรรมดาเงินเดือน 40,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี

พรรคชาติพัฒนากล้าระบุว่า ที่ผ่านมา ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมาก แต่ภาษีไม่เคยปรับลด ขณะที่รัฐบาลลดภาษีนิติบุคคลของบริษัทขนาดใหญ่จาก 30% เหลือ 20% ตอนนี้รายได้รัฐเริ่มฟื้น สำนักงบประมาณ ประมาณการรายรับจะเพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะลดภาระให้กับคนทำงาน 4 ล้านคน

นอกจากนี้ แต่ละพรรคเอง รวมถึง 4 พรรคนี้ มีการเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปากท้องและเงินในกระเป๋าประชาชน ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋า ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่านสวัสดิการของรัฐรูปแบบต่าง ๆ และการลดค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพจำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น