จุรินทร์ ย้ำประกันรายได้ 4 ปีไม่มีทุจริต สินค้าเกษตรราคาดี ชี้ไม่ผูกพันรัฐบาลชุดใหม่    

จุรินทร์ ย้ำประกันรายได้ 4 ปีไม่มีทุจริต สินค้าเกษตรราคาดี ชี้ไม่ผูกพันรัฐบาลชุดใหม่    

“จุรินทร์” เผยโครงการประกันรายได้ 4 ปีไม่มีทุจริต เกษตรกรได้ประโยชน์เต็ม ๆ ดึงราคาสินค้าขึ้น ขณะที่ โครงการนี้ไม่ผูกพันรัฐบาลใหม่ คาดหวังเดินต่อ เหตุยังมีบางโครงการที่ยังค้าง

วันที่ 5 มิถุนายน 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด ที่รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพ ไม่มีการทุจริต เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นเงินชดเชยส่วนต่างรายได้โอนให้กับเกษตรกรโดยตรง ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ไม่มีการรั่วไหล

สำหรับประกันรายได้พืช 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา อย่างไรก็ดี โครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้ผูกพันกับรัฐบาลต่อไป

ดังนั้น การจะมีโครงการนี้ต่อไปขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะทำนโยบายนี้ต่อหรือไม่ แต่จากการสำรวจ พบว่าช่วง 4 ปีที่ทำโครงการนี้ เกษตรกรพึงพอใจ ที่สำคัญไม่มีการทุจริต ถ้ารัฐบาลใหม่ทำต่อได้ก็ดี เป็นประโยชน์กับเกษตรกรอยู่แล้ว

“หากไม่มีโครงการนี้ และสินค้าเกษตรอยู่ในช่วงราคาดี ก็ไม่มีปัญหาอะไร เกษตรกรยังขายผลผลิตได้ราคาสูง แต่ถ้าราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็ต้องหามาตรการเข้ามาดูแล”

ทั้งนี้ การดูแลสินค้าเกษตรรัฐบาลใหม่น่าจะมีมาตรการดูแล ส่วนจะเป็นโครงการ มาตรการใด โครงการรับจำนำหรือไม่ ตนมองว่า ในภาพรวมรับจำนำสินค้าเกษตร โดยให้เกษตรกรเอาสินค้ามาขายให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงต้องเช่าโกดังเก็บรักษาไม่ให้เสื่อมสภาพ และเปิดประมูลขายแบบที่ต้องได้กำไร

ถ้าไม่ได้ตามนี้ มีการทุจริต ถือเป็นปัญหามาก เหมือนอย่างรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมา ที่ประเทศเสียหายมากถึง 800,000-900,000 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ยังชดใช้ไม่หมด ตนต้องลงนามในหนังสือสั่งการให้ชดใช้ความเสียหายอยู่จนถึงขณะนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2563-66 รัฐบาลใช้งบประมาณในโครงการประกันรายได้ และจ่ายส่วนต่างให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 218,158 ล้านบาท น้อยกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 298,679 ล้านบาท และช่วยเหลือให้ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ได้รวม 8.13 ล้านครัวเรือน

ทั้งนี้ แยกเป็นโครงการประกันรายได้ข้าว จ่ายส่วนต่าง 161,631 ล้านบาท น้อยกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 179,553 ล้านบาท, มันสำปะหลัง ใช้งบ 12,689 ล้านบาท น้อยกว่างบฯที่ตั้งไว้ 29,890 ล้านบาท, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้งบฯ 2,287 ล้านบาท ต่ำกว่างบฯที่ตั้งไว้ 6,083 ล้านบาท, ปาล์มน้ำมัน ใช้งบฯ 7,221 ล้านบาท ต่ำกว่างบฯที่ตั้งไว้ 28,773 ล้านบาท ส่วนยางพาราคา

ขณะนี้โครงการปีสุดท้ายยังไม่สิ้นสุด แต่ล่าสุดถึงวันที่ 24 พ.ค. 66 ใช้งบฯรวมแล้ว 34,328 ล้านบาท

ภาพรวมโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร ถือว่าประสบความสำเร็จ และใช้งบประมาณต่ำกว่าที่ตั้งไว้มาก โดยไทม์ไลน์ช่วงเริ่มปีแรก มีการจ่ายส่วนต่างประกันให้สินค้าเกษตรครบทั้ง 5 ชนิด แต่ต่อมาในปีที่ 2-4 ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้จ่ายเงินส่วนต่างลดลง เช่น ปาล์มน้ำมัน ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน จนไม่ต้องจ่ายส่วนแม้แต่บาทเดียวติดกันถึง 3 ปี

ขณะที่มันสำปะหลังและข้าวโพดจ่ายส่วนต่างเพียง 2 ปีแรก หลังจากนั้นไม่ต้องจ่ายส่วนต่างราคาเลย เพราะราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน อย่างปีล่าสุด ข้าวเปลือกราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันเกือบทุกตัว, มันสำปะหลัง เฉลี่ย 3.35-3.80 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 2.50 บาท/กก., ปาล์มน้ำมัน เฉลี่ย 5-5.50 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 4 บาท/กก. และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 12 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 8.50 บาท/กก.