ปิดตำนาน ไทยสมายล์ ม.ค. 67 โอนฝูงบิน-พนักงานเข้าการบินไทย

สายการบินไทยสมายล์
สายการบินไทยสมายล์

การบินไทยเตรียมปิดตำนาน ไทยสมายล์-ยกเลิกรหัสแอร์ไลน์ภายใต้โค้ด WE เดือน ม.ค. 2567 เผยอยู่ระหว่างโอนฝูงบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำ รวมถึงพนักงานกลับมาอยู่ภายใต้บริษัทการบินไทย เล็งใช้บริษัททำธุรกิจอื่น

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 มติชนออนไลน์ รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการโอนฝูงบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำ จากสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นสายการบินลูกที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศเส้นทางบินระยะสั้น รวมทั้งนำพนักงานของไทยสมายล์กลับมาให้บริการภายใต้การบินไทย โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567

ล่าสุดได้มีการโอนเครื่องบินมาแล้วจำนวน 4 ลำ โดยขั้นตอนการโอนสิทธิบริหารฝูงบิน 20 ลำ การบินไทยจะต้องดำเนินการแจ้งไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม ซึ่งเมื่อโอนเครื่องบินทั้งหมดกลับมาที่การบินไทยแล้ว ก็ต้องยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการการเดินอากาศ (AOL) ซึ่งจะส่งผลให้รหัสการบินภายใต้โค้ด WE ของสายการบินไทยสมายล์สิ้นสุดลง ประกอบกับใบอนุญาตของไทยสมายล์ก็มีกำหนดหมดอายุในเดือนมกราคม 2567 ด้วย

ทั้งนี้ ภายหลังการโอนมาแล้วจะทำให้อัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยของการบินไทยลดลงจาก 12-13 ชั่วโมงต่อวัน เหลือเพียง 11 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าที่ไทยสมายล์บินเฉลี่ยที่ 9 ชั่วโมงต่อวัน และจะทำให้ต้นทุนการบินของการบินไทยต่อชั่วโมงลดลงประมาณ 20%

นายชายกล่าวต่อว่า สำหรับพนักงานของไทยสมายล์นั้นก็จะต้องให้กลับมาอยู่ภายใต้บริษัทการบินไทย โดยนักบินและลูกเรือทั้งหมดของไทยสมายล์จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ในเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A320 ตามเดิม ให้บริการเส้นทางครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้โค้ด TG และการบินไทยจะเข้าไปให้บริการในทุกเส้นทางของไทยสมายล์

ส่วนชื่อ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด นั้น เบื้องต้นยังประเมินว่าจะจดทะเบียนคงไว้ตามเดิม เพราะการบินไทยยังเห็นโอกาสในการนำเอาบริษัทไทยสมายล์ไปทำธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน

เดินตามแผนแผนฟื้นฟู-ปรับโครงสร้างหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการยุบรวมไทยสมายล์ อยู่ในแผนฟื้นฟูและปรับโครงสร้างหนี้ของการบินไทย โดยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินว่า

ด้วยคณะกรรมการเจ้าหนี้ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มการบิน ตามแนวทางที่คณะผู้บริหารแผนและฝ่ายบริหารนำเสนอ กล่าวคือ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (ไทยสมายล์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมด

การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้เครื่องบินที่ปัจจุบันบริหารภายใต้ไทยสมายล์ย้ายมาบริหารจัดการภายใต้บริษัทการบินไทย ซึ่งการปรับโครงสร้างครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ ตามข้อ 5, 7, 2 ของแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 และต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยการบินไทย คาดว่าการปรับโครงสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2566

ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้าง บริษัทการบินไทยจะเป็นผู้บริหารจัดการการดำเนินงาน การวางแผนฝูงบิน การบริหารตารางเวลาบิน และวางแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการของฝูงบินของการบินไทยและไทยสมายล์ ภายใต้ ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินทางอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) ของการบินไทย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

นายชายเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า แผนการควบรวมการบินไทยและไทยสมายล์ดังกล่าวนี้จะทำให้บริษัทมีการใช้สินทรัพย์ได้มีประสิทธิภาพขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเครื่องการบินไทยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยประมาณ 13 ชั่วโมงต่อวัน บางกลุ่มมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยถึงประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน ถือว่ามีปริมาณการใช้เครื่องบินที่หนักมาก ขณะที่เครื่องบินของไทยสมายล์มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยที่ประมาณ 9-10 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ยังส่งผลดีในเรื่องของ Economies of scale ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้น