‘สมิติเวช’ ย่อ รพ.มาไว้ในมือถือ ชูแอพฯไฮเทค ติดตามผ่าตัด-แอดมิด ที่แรกของโลก

ใคร ๆ ก็ไม่อยากเจ็บป่วย ไม่อยากไปโรงพยาบาลเพราะกลัวติดเชื้อ ไม่อยากรอคิวนานๆ เหล่านี้เป็นความต้องการของทั้งคนไข้และญาติคนไข้ รวมทั้งเป็น Pain Points หรือจุดบกพร่อง ที่คนไข้สะท้อนจากประสบการณ์ เมื่อต้องไปโรงพยาบาล

“จะดีแค่ไหนถ้าเราคุยกับหมอผ่านไลน์ได้ จะดีแค่ไหนถ้าไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อหาหมอ จะดีแค่ไหนถ้ามีทีมแพทย์พยาบาลพร้อมให้คำปรึกษาทุกที่ทุกเวลา จะดีแค่ไหนถ้ามีเจ้าหน้าที่มาเจาะเลือดให้คุณถึงบ้าน จะดีแค่ไหนถ้ายาจัดส่งจากโรงพยาบาลมาถึงมือคุณ และจะดีแค่ไหนถ้าโรงพยาบาลอยู่ในมือถือคุณ” เป็นที่มาของ Samitivej Virtual Hospital กว่า1ปีที่ผ่านมา

ล่าสุด “สมิติเวช เปิดตัวแคมเปญ #เราไม่อยากให้ใครกังวล ชูเทคโนโลยีดิจิทัล ฝ่าวิกฤติโควิด เคียงคู่คนไทย” นำโดย นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวช และรพ.บีเอ็นเอช ที่ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลง สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงเต็มไปหมด สิ่งที่เห็นมากที่สุดในเวลานี้ คือเรื่อง 3 in1 คือ 1. เศรษฐกิจแย่ 2.การเมืองแย่กว่า 3.โควิดแย่ถึงแย่ที่สุด ยังไม่รู้ว่าถ้ามีการระบาดรอบ2 จะระบาดทั่วประเทศหรือเปล่า ทั้ง3ตัวรวมกันเป็น ECOPOVIC ซึ่งเวลานี้คือขาลง แต่ผมบอกเลยว่าไม่ใช่ขาลง มันเป็นขาขึ้น คือต้องเอาขาขึ้นมาก่ายหน้าผาก เพราะมันมาพร้อมกันทั้ง3ตัว สร้างปัญหาให้ฝั่งดีมานต์ (ผู้รับบริการ) และฝั่งซัพพลาย(ผู้ให้บริการ) ทุกคนไม่ไหว

สมิติเวช ใช้สูตร2ไม่ เป็น1ใช่ แปลว่า ไม่อยากทำสิ่งที่ไม่ชอบ พอตัด2ไม่ออก ก็เท่ากับอยากทำสิ่งที่ชอบ เพราะฉะนั้นหลักคือผู้รับบริการ กับผู้ให้บริการต้องเปลี่ยนจากไม่ไหวเป็นไหว เปลี่ยนจากไม่ดี เป็นดี คนที่มองโลกในแง่ดีจะเห็นทุกโอกาสในวิกฤต แต่คนที่มองโลกในแง่ร้ายจะเห็นทุกวิกฤตในโอกาส แต่สมิติเวชมองโลกในแง่ดี

“เราจึงเอาปรอทมาวัดอุณหภูมิ อารมณ์ ความต้องการ ของคนไข้ ว่า ต้องการอะไร ช่วงโควิดพฤติกรรมมีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง Pain Points ประการแรก 1.ไม่อยากป่วยในช่วงโควิด เพราะถ้าป่วยเมื่อไหร่ คนจนอยู่แล้วเพราะโดนตัดเงินเดือน ก็ยิ่งจนเข้าไปใหญ่ สมิติเวชสร้างโซลูชั่น เราสร้างโปรแกรม Device เช็กอัพ สามารถตรวจแล้วรู้ รู้เท่าทันปัจจุบัน ว่า เวลานี้คุณมีโอกาสเป็นโรคอะไร แล้วเราบล็อกไว้ก่อน ไปจนถึง Selfcare คนไข้สามารถดูแลตัวเองได้

“เรามีแอพพลิเคชั่น ENGAGE CARE (แอพฯติดตามข้อมูลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตแบบเรียลไทม์) ใช้สำหรับคนที่เป็นเบาหวานหรือน้ำตาลเริ่มสูง ความดันสูง รวมถึงกลุ่มที่ไม่เป็นก็สามารถใช้ได้ ในการวัดว่าขณะนี้น้ำตาลมีเท่าไหร่ อย่างผมมีน้ำตาลสูง ผมก็เข้าแอพฯ ENGAGE CARE เชื่อมต่อกับเครื่องวัดความดันของผม ตัวเลขจะขึ้นเป็นกราฟ ถ้าดีจะขึ้นเป็นสีดำ ถ้าไม่ดีจะขึ้นเป็นสีแดง แล้วจะแจ้งเดือนไปถึงพยาบาล หมอ มีปัญหาสอบถามได้ 24 ชม. ทำให้เรารู้ตลอดเวลาว่าน้ำตาลเราเยอะ อย่ากินอะไร ตอนนี้น้ำตาลผมต่ำกว่าเกณฑ์ จากงานวิจัยพบว่าสามารถช่วยได้ถึง 30%”

2. สมิติเวช มี TytoCare (อุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น อาทิ ตรวจปอด ส่องหู ช่องคอ ผิวหนัง วัดอุณหภูมิ การเต้นของหัวใจ ช่วยหมอวินิจฉัยและให้คำปรึกษาทางออนไลน์ ตลอด24ชม.ผ่านทาง Samitivej Virtual Hospital) เอาไว้ที่โรงพยาบาลหรือที่บ้าน โดยTytoCare กับ Samitivej Virtual Hospital ช่วยสังคมมหาศาล ทำให้ไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันเรายังไปหาคนไข้ คือ HomeCare หมอใหญ่ไปถึงบ้านคนไข้ ไปตรวจ ฉีดวัคซีน ช่วงโควิดทำให้เราคิดอะไรใหม่ๆที่ไม่เหมือนชาวบ้าน และเราเอาหมอไปตรวจ คนไข้ชอบมาก

“TytoCare พัฒนาในช่วงมีโควิด และช่วยทดแทนชุด PPE ได้เยอะมาก โดยเมื่อ3-4 เดือนที่แล้วจะเห็นว่า สถาบันบำราศนราดูร , รพ.ราชวิถี จะมีคนไข้เยอะมาก แพทย์ต้องใส่ชุดหมีเข้าไปดูคนไข้ เขาดูไม่ทัน เมื่อมีตัวนี้จบเลย เราบริจาค 200 เครื่อง ให้คณะแพทย์ศาสตร์ 6 แห่งและกระทรวงสาธารณสุขไปแจกจ่าย 7-8 โรงพยาบาลใหญ่ อาทิ สถาบันบำราศนราดูร ศิริราชพยาบาล รพ.รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ รพ.เชียงใหม่ รพ.ธรรมศาสตร์ รับไปใช้หมดเลย ทำให้แพทย์ไม่ต้องเข้าไปสัมผัสคนไข้ เพียงใช้ TytoCare ก็รู้ว่าคนไข้อาการเป็นยังไงบ้าง และแพทย์สามารถดูแลคนไข้ได้เป็น 10 คน เพราะฉะนั้นตัวนี้ตอบโจทย์สังคม และช่วยลดทรัพยากรเรื่องของบุคลากรให้น้อยลง

“เป็นความภูมิใจเล็กๆของเราในการช่วยสังคม เพราะคนไข้ติดเชื้อโควิด100คน ในจำนวนนี้จะมีประมาณ 5 คนอยู่ในห้อง ICU ที่หมอต้องใส่ชุดหมี แต่อีก 95% ไม่ต้องใส่ เขาใช้ TytoCare เพื่อติดตามอาการว่าเป็นยังไงบ้าง ไข้ลดลงหรือเปล่า ปอดใสหรือยัง คออักเสบน้อยลงหรือยัง”

นอกจากนี้อีกจุดที่เป็น Pain Pointsของโรงพยาบาลต่างๆ คือ 3. ญาติก็ไม่อยากมาโรงพยาบาล เพราะกลัวติดเชื้อ สมิติเวชจึงทำแอพพลิเคชั่น Samitivej Pace (โปรแกรมติดตามการผ่าตัด ญาติสามารถติดตามสถานะคนไข้ที่เข้าผ่าตัดตั้งแต่ก่อนและหลังผ่าตัด) ญาติอยู่ที่อเมริกา อยู่ต่างจังหวัดไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ใช้แอพฯตัวนี้แล้วจะรู้เลยว่า แม่เข้าโรงพยาบาลแล้ว รู้ทั้งโลเคชั่น สถานะ แม่มาห้องเตรียมผ่าตัด แม่ผ่าตัด แม่พักฟื้น แล้วทุกอันจะมีปุ่มกดว่าแม่ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย ซึ่งแม่ผมผ่าตัด ผมก็ใช้โปรแกรมนี้

“อีกตัว คือ แอพพลิเคชั่น Samitivej Prompt (ใช้สำหรับติดตามสถานะคนไข้อยู่ ICU คนไข้อยู่บนตึก ในวอร์ด) ญาติจะรู้เลยว่ามีกระบวนการรักษาแม่ยังไงบ้าง DAY1 , DAY2 ทำอะไรบ้าง มีกิจกรรมอะไรที่แพทย์และพยาบาลดูแลคนไข้ มียาอะไรที่แม่กินบ้าง มีแพทย์และพยาบาลคนไหนดูแล โดยจะมีการให้คะแนนแพทย์ด้วย เพื่อให้แพทย์ปรับตัว แต่ยังไงเสีย ถ้าเป็นแม่เรา ก็ต้องแวะมาให้แม่เห็นหน้าหน่อย แต่ถ้าไม่มีเวลาก็คุยกันแบบเห็นหน้าก็ได้ รวมทั้งมีการแสดงกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย มีระบบฝากข้อความ และแสดงค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นด้วย”

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ทั้งคนไข้และญาติต้องเจอประจำคือการรอคิวเข้าตรวจเป็นเวลานาน ซึ่ง นพ.ชัยรัตน์ บอกว่า เราไม่อยากให้ใครต้องรอ เป็นการคิดระบบแบบเวลาไปดูหนัง คือ แอพพลิเคชั่น Samitivej Plus เราไล่ดูได้เลยว่าเราต้องการหาหมออะไร อาทิ หมอโรคไต เลือกเวลาได้ จองคิวได้ มีการแจ้งเตือนคิว ทำให้ลดการรอคอยไปถึง 60% จากที่เคยรอ1ชม.เหลือ 20 นาที รวมถึงทุกคนกังวลการติดเชื้อ เรามีโรบอท ส่งอาหาร เอกสาร ยา ตรงนี้ความปลอดภัยจะเกิดขึ้นกับแพทย์ พยาบาล ด้วย

ทั้งหมดนี้ รพ.สมิติเวช พัฒนาขึ้นมาเพื่อไม่ให้ญาติและคนไข้เป็นกังวลเมื่อต้องดูแลสุขภาพและการตรวจรักษาเบื้องต้น ตามแคมเปญ #เราไม่อยากให้ใครกังวล ที่แท้ทรู!!

อย่างไรก็ดี นพ.ชัยรัตน์ บอกถึงเป้าหมายว่า ปัจจุบันสมิติเวช ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ สัปดาห์ที่แล้ว เราเพิ่งได้รับรางวัล Best Hospital In Thailand 2020 ฯลฯ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ที่สมิติเวชและบีเอ็นเอช อยากไปคือ Organization of values องค์กรแห่งคุณค่า เราไม่ต้องการให้คนไข้มาอยู่เต็ม ICU ไม่ต้องการให้คนไข้มาผ่าตัดที่เรา เพราะคนไข้ต้องจ่ายเงินเยอะ ต้องทุกข์ทรมาน และญาติคนไข้ ต้องทนทุกข์ทรมาน เราจึงทำตรงข้าม ใช้แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ เพื่อให้เขาดูแลตัวเองได้ ไม่ป่วย และไม่ต้องเข้ามาในโรงพยาบาล ถึงจะเป็นจุดประสงค์ของการเปิดโรงพยาบาล เจตนาสำคัญที่สุดคือทำหน้าที่ให้คนในสังคมและชุมชนไม่ป่วย นั่นคือองค์กรแห่งคุณค่า Organization of values จะอยู่เหนือ Organization of success

เมื่อถามถึง การปรับตัวรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสมิติเวช ทำยังไงบ้าง นพ.ชัยรัตน์ บอกว่า ที่สำคัญเวลามีโควิดมา เราอย่าซึม พอเราไม่ซึม เราจะคิดกลยุทธ์ สูตรของเราคือ 4 ป้อง 1 ฉวย 1.ป้องคน ป้องลูกค้า หมอ พยาบาล เพราะชีวิตสำคัญที่สุด 2.ป้องครัว คือครอบครัว องค์กร ตัดต้นทุนเชิงกลยุทธ์ แต่ต้องไม่ตัดอนาคต ตัดสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ก่อนมนุษย์ 3.ป้องเงิน คือทำให้ต้นทุนต่ำกว่า บาลานซ์ระหว่างดีมานต์กับซัพพลาย ทำให้มีกำไร 4.ป้องงาน คือ งานที่เราทำสำเร็จ เช่น 2 แผนกรวมเป็น 1 แผนก ทำให้ลดต้นทุนได้ นี่คือการป้องงาน ส่วน 1 ฉวย คือการบุก ไปวัดปรอทคนไข้ บุกด้วยกลยุทธ์ต่างๆ จัดทำแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทั้งหมดคือสูตรเฉพาะของสมิติเวช และบีเอ็นเอช

“ช่วงที่ผ่านมามีไข้ใช้งานแอพพลิเคชั่นตลอด ตัวที่คนใช้เยอะที่สุดคือ Samitivej Virtual Hospital เดิมทียอดอยู่ที่ประมาณ 500 คนต่อเดือน ช่วงโควิดเพิ่มขึ้นมาเป็น 4,000 กว่าคนต่อเดือน ส่วนแอพพลิเคชั่นอื่นๆเป็นการริเริ่มจากโควิดด้วย อย่าง Samitivej Prompt , ENGAGE CARE และ TytoCare ก็มาใช้ช่วงโควิด

“โดยแอพพลิเคชั่น Samitivej Pace , Samitivej Prompt ตัวนี้สมิติเวชน่าจะเป็นแห่งแรกของโลกที่นำมาใช้ เพราะยังไม่มีใครคิดเรื่องนี้ ส่วน Samitivej Virtual Hospital ถามว่าที่อื่นมีไหม เราอาจจะเป็นผู้นำคนแรกที่ทำเรื่องนี้ ตรงนี้ยิ่งมีเยอะยิ่งดี คุณค่าเยอะ ทำให้แพทย์โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐเหนื่อยน้อยลง คนไข้ที่เป็นโรคไม่ร้ายแรงก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาล จากนั้นมีโควิดมากระตุ้นอีกรอบ จึงตอบโจทย์เลย

“ช่วงโควิดทุกโรงพยาบาลคนไข้ลดลงหมด โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีต่างชาติเยอะๆ ในส่วนของสมิติเวชรายได้ลดลง 10%กว่าๆ แต่ด้วยวิธีการที่เราใช้คือ 4 ป้อง 1 ฉวย เราก็สามารถอยู่ได้ อยู่ได้แบบสร้างคุณค่าให้ผู้รับบริการ เวลาเรามองบางครั้งเราต้องมองทะลุกำไรขาดทุด ทะลุตัวเลข มันเป็นเรื่องของคุณค่า ถามว่าทำแบบนี้มีรายได้เข้ามาไหม ตอบว่ามี แต่ถามว่ารายได้ทดแทนของเก่าได้ไหม มันไม่มีทางทดแทนได้ เช่นคนไข้ต่างชาติที่เคยเข้ามาหาเรา เคสหนึ่งหลักแสน เรามาทำแอพพลิเคชั่นพวกนี้ไม่สามารถมาแทนได้ แต่งานต่างๆพวกนี้มันทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยทั้งหมด ซึ่งตอนนี้สมิติเวชน่าจะอยู่ในลำดับต้นๆ”

นพ.ชัยรัตน์ บอกด้วยว่า กลุ่มลูกค้าในต่างประเทศสามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ได้ ลูกค้าเก่าของเรา อย่างคนไทยในต่างประเทศ เช่น อยู่ที่อังกฤษ โรงพยาบาลในอังกฤษ เขาไม่ค่อยรับ เขารักษาคนของเขาก่อน ทำให้คนไทยในต่างประเทศกลุ้มใจมาก เราจึงสื่อไปถึงสถานทูตเป็น10แห่ง เราบอกว่าไม่ต้องกลัว ติดต่อมาที่ Samitivej Virtual Hospital เราไม่คิดค่าใช้จ่าย มากันเยอะแยะ จนสถานทูตออกหนังสือขอบคุณ คนไทยก็ลงเพจว่าโชคดี อันนี้คือคนไข้เก่าของเรา ผ่อนหนักเป็นเบา เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้มันเชื่อมโยงทั้งหมดและเกิดประโยชน์มากมายมหาศาล

สำหรับแผนพัฒนาของสมิติเวชในอนาคต นพ.ชัยรัตน์ เผยว่า สมมุติว่าเราต้องทำโรงพยาบาลใหม่ เราก็ต้องคิดใหม่ คิดโดยใช้คนไข้เป็นที่ตั้ง ถ้าคนไข้เข้ามาในโรงพยาบาล เปลี่ยนฟังก์ชั่นยังไง ตรงนี้ลงทุนเยอะ รื้อระบบใหม่ เอาคนใหม่ เลือดใหม่ เป็น Smart Hospital หรือ Digital Hospital ซึ่งอยู่ในแผน ซึ่งพอเจอโควิด ถ้าลงทุนแล้วไม่คืนทุนภายใน2ปี เราก็ต้องระมัดระวัง รอไว้ก่อน

ขณะที่ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล รองผู้อำนวยการ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า ในภาวะตลาดและเศรษฐกิจแบบนี้ ช่วงที่ผ่านมาคนคงเครียดหลายเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และไม่ทราบว่าโควิดจะกลับมาเมื่อไหร่ เรามีความกังวลหลายรูปแบบ เราเป็นโรงพยาบาล ก็เลยอยากให้คนไม่กังวล หรือคลายความกังวลเขาได้ เราจึงไปวัดปรอทว่าคนไข้กังวลอะไรบ้าง อาทิ ถ้าจะต้องมาผ่าตัดที่โรงพยาบาล คนก็จะกลัวเรื่อง โควิด-19 เราก็จะตรวจโควิด-19ให้ฟรีในทุกเคสที่จะเข้าผ่าตัด

“ถ้ากังวลเรื่องราคาผ่าตัด เรามีแพคเกจผ่าตัดที่โปร่งใส ถ้ากังวลว่านอนเกินแพคเกจต้องนอนเพิ่มอีก1คืน ทางโรงพยาบาลก็ดูแลให้ ค่าห้องเกินวงเงินประกัน ทางโรงพยาบาลดูแลให้ พอคนไข้กลับบ้านแล้ว เกิดความกังวลอยากสอบถามแพทย์และพยาบาลในการดูแลตัวเอง เราสามารถคุยกับแพทย์ผ่าน Samitivej Virtual Hospital รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้คนไข้ไม่ต้องกังวลทั้งเศรษฐกิจ สุขภาพกาย สุขภาพใจ อยู่ใน 6 มาตรการคลายความกังวลของเรา”

ด้านผู้ใช้บริการ รพ.สมิติเวช อย่างนักเทนนิสชาวไทย ดนัย อุดมโชค เผยว่า ผมไปเที่ยวสมุย พอกลับมาถึงบ้านมีอาการตัวสั่น ไข้ขึ้น เริ่มวิตกกังวล ตอนนั้นมีการระบาดทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด จึงมา รพ.สมิติเวช มาตรวจเลือด สรุปเป็นไข้เลือดออก นอนโรงพยาบาล 3-4 วัน

“ตอนนั้นใช้ Samitivej Prompt สะดวกมากสำหรับคนไข้และครอบครัว พ่อแม่สามารถใช้ได้ จะรู้ว่าเรามีกิจกรรมอะไร หมอจะมาตรวจเวลากี่โมง เขาก็จะมาเจอหมอได้ บางครั้งเราต้องการความเป็นส่วนตัว ต้องการพักผ่อน อาจมีการเซตว่า งดรับแขก ตรงนี้สะดวกมาก โดยเราไม่ต้องปฏิเสธเองด้วย”นักหวดลูกสักหลาดเผย