เลือกช็อปกองทุน เสนอขาย IPO โค้งสุดท้ายปลายเดือน เม.ย. นี้

กองทุน Fund Graph

ส่องกองทุนเสนอขาย IPO ช่วงโค้งสุดท้ายปลายเดือน เม.ย. นี้ จับธีม “กัญชา-หุ้นจีน-ธุรกิจที่ยั่งยืน-RMF”

ท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หลายแห่ง ยังเดินหน้าเฟ้นหาการลงทุนที่น่าสนใจมาตอบโจทย์บรรดานักลงทุน ธีมไหนดี ธีมไหนเด่น ธีมไหนมีโอกาส ก็มีการจัดตั้งกองใหม่ขึ้นมาซับพอร์ต โดยช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ ก็มีเสนอขายกันอยู่หลายกอง

กองทุนกัญชา IPO 19-27 เม.ย.

ที่สร้างกระแสฮือฮา ล้อไปกับกระแส “กัญชง-กัญชา” ตอนนี้ ก็คือ กองทุนเปิด MFC Global Cannabis Fund (เอ็มเอฟซี โกลบอล แคนนาบิส) หรือ “MCANN” ของทาง บลจ. เอ็มเอฟซี (MFC) ที่กำลังเปิดให้จองซื้อหน่วยลงทุน โดยเสนอขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 19 – 27 เม.ย.นี้ หลังจากมีการจัดงานสัมมนา “กัญชา โอกาสการลงทุนที่มีอนาคต” เพื่อโปรโมตกองทุนไปเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันกัญชาโลก (Weed Day)

ทั้งนี้ “MCANN” เป็นกองทุนกัญชากองแรกของประเทศไทย ที่ทาง บลจ.เอ็มเอฟซี จัดตั้งขึ้นเพื่อการเข้าไปลงทุนในตราสารทุน หน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศ และ/หรือกองทุนรวมอีทีเอฟต่างประเทศ ที่มีนโยบายลงทุนในธุรกิจเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทางกัญชา (Marijuana) หรือกัญชง (Hemp) ที่ถูกกฎหมาย
เน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ทั้งด้านพัฒนายา (Pharmaceutical)และเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) เช่น Global X Cannabis ETF(POTX) ซึ่งเป็นกองทุน ETF ที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทางกัญชากัญชง หรือ Amplify Seymour Cannabis ETF (CNBS) ที่เป็นกองทุน Cannabis ETF

นอกจากนี้ กองทุนอาจลงทุนในหลักทรัพย์ตราสารทางการเงินอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (Efficient portfolio management) ด้วย

กองทุนหุ้นเทคฯ จีน IPO 20-26 เม.ย.

ขณะที่ทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) จับกระแสเศรษฐกิจจีนที่เติบโตสูง และ มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ฟื้นตัวได้เร็วหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเปิดเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ China Technology (SCB China Technology (SCBCTECH) มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท เสนอขาย IPO ระหว่างวันที่ 20 – 26 เม.ย.นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท

ซึ่งกองทุน SCBCTECH เหมาะสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ต้องการกระจายการลงทุนในหุ้นบริษัทชั้นนำในกลุ่มเทคโนโลยีของจีน เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ Invesco China Technology ETF (CQQQ) (กองทุนหลัก) ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Exchange Traded Fund (ETF) จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค (NYSE Arca) ประเทศสหรัฐฯ และบริหารงานโดย Invesco Distributors, Inc. หนึ่งในผู้นำบริษัทจัดการกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยสินทรัพย์กว่า 1.39 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยกองทุนหลักจะเน้นลงทุนกลุ่ม Information Technology, Communication Services หรือ Consumer Discretionary เป็นต้น อีกทั้งยังสร้างโอกาสการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนตามดัชนี FTSE China Incl A 25% Technology Capped Index โดยเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนด้วยการคัดเลือกหลักทรัพย์ภายใต้ดัชนีอ้างอิงที่ถูกสร้างมาจาก 2 ดัชนีหลัก คือ FTSE China Index และ The FTSE China A Stock Connect CNH Index

หลังจากนั้นจะคัดเลือกหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยอิงจากเกณฑ์การแบ่งอุตสาหกรรม (Industry Classification Benchmark) ของ FTSE โดยยึดแหล่งที่มาของรายได้หลักของธุรกิจ โดยกำหนดสัดส่วนการลงทุนใน A shares จะต้องไม่เกิน 25% ของมูลค่าทั้งหมด กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในสกุลเงินต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่เทียบกับสกุลเงินบาทไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนในต่างประเทศ

ทั้งนี้ กองทุนหลักมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 58.33% เทียบกับดัชนีอ้างอิง FTSE China Incl A 25% Technology Capped Index อยู่ที่ 60.01% (ที่มา: Fund Factsheet จาก Invesco China Technology ETF ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563)

กองทุนบัวหลวง เสนอขาย 3 กองรวด

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง หรือ กองทุนบัวหลวง (BBLAM) นำเสนอให้เลือกลงทุนถึง 3 กองทุน ในช่วงนี้

โดยกองแรก ได้แก่ กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 4/21 ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย หรือ BP4/21 (AI) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีกำหนดอายุโครงการ (เทอมฟันด์) อายุ 6 เดือน เสนอขาย IPO ระหว่างวันที่ 21-27 เม.ย. นี้ เสนอขายในราคา 10 บาทต่อหน่วย และผู้ลงทุนจะต้องจองซื้อครั้งแรกขั้นต่ำ 500,000 บาท

ถือเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่มองหาการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่เหมาะสม

กองทุนนี้ เป็นเทอมฟันด์ อายุประมาณ 6 เดือน จะระดมเงินจากผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้มีเงินลงทุนสูง ซึ่งเป็นผู้ลงทุนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน และสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ เพื่อแสวงหาโอกาสรับผลตอบแทนที่เหมาะสม ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ BP4/21 (AI) จะนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเป็นการลงทุนในต่างประเทศ เฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งจะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินต้นและดอกเบี้ยที่คาดว่าจะได้รับทั้งหมด (Fully Hedge)

ตราสารหนี้ต่างประเทศที่กองทุนนี้เข้าไปลงทุนได้ ประกอบด้วย ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน รวมถึงตราสารหนี้ภาคเอกชน และตราสารหนี้อื่นๆ ที่เสนอขายในต่างประเทศ โดยต้องรับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ณ วันที่ลงทุน อยู่ในระดับที่ลงทุนได้ หรือ Investment Grade ทั้งยังสามารถลงทุนในเงินฝากต่างประเทศได้ นอกจากนี้อาจพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดหรือเห็นชอบให้กองทุนลงทุนได้ ทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ BP4/21 (AI) ไม่มีค่าธรรมเนียมการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ซึ่งในการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกองทุนนี้ เป็นการรับซื้อคืนโดยอัตโนมัติ 1 ครั้ง ภายในวันทำการก่อนวันครบกำหนดอายุโครงการ โดยบริษัทจัดการจะประกาศวันที่รับซื้อคืนอัตโนมัติให้ผู้ลงทุนทราบ ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่จดทะเบียนกองทุน

ขณะที่การจ่ายเงินคืนเมื่อครบอายุกองทุน จะจ่าย 1 ครั้ง ภายในวันที่เลิกกองทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่อในทะเบียน ณ วันเลิกกองทุน ตามวิธีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้แจ้งไว้ในใบคำขอเปิดบัญชี (โอนเข้าบัญชี / เช็ค) โดยผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถแจ้งความประสงค์ไว้ได้ว่าเมื่อกองเทอมฟันด์ครบอายุ ให้สับเปลี่ยนเข้ากองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี (B-TNTV) หรือกองทุนเปิดบัวหลวงตราสารหนี้ภาครัฐ (B-TREASURY)

นอกจากนี้ กองทุนบัวหลวง ยังเปิดขายหน่วยลงทุนให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) อีก 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลธีมเมติกออพพอร์ทูนิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-GTORMF) และ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นฟิวเจอร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-FUTURERMF) ระหว่างวันที่ 21-27 เม.ย. นี้ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการลงทุนเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณพร้อมประหยัดภาษี มีทางเลือกการลงทุนในกลุ่มกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่หลากหลาย ครบรสชาติยิ่งขึ้น

โดยหากนักลงทุนต้องการลงทุนในต่างประเทศแบบกระจายความเสี่ยงมากหน่อย ก็เลือก B-GTORMF ที่ลงทุนในหุ้นหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกที่ใช้นวัตกรรมเพื่อการเติบโต หรือ ถ้าต้องการคัดสรรลงทุนหุ้นต่างประเทศแบบเน้นๆ เฉพาะกลุ่ม ก็เลือก B-FUTURERMF ได้

สำหรับ B-GTORMF เป็นกองทุนที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของ Wellington Global Innovation Fund (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน S-ACC (USD) เพียงกองทุนเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) นโยบายการลงทุนจะกระจายลงทุนในหุ้นหลากหลายอุตสาหกรรมที่มีการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อการเติบโต โดยเน้นหาหุ้นที่เป็นผู้นำของแต่ละอุตสาหกรรม

ส่วน B-FUTURERMF เป็นกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ เน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับเทรนด์อนาคต โดยมี Theme หลัก คือ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีผู้จัดการกองทุนของกองทุนบัวหลวงเลือกลงทุนในกองทุน (Fund Selection) และลงทุนตรงในหุ้น (Stock Selection) ต่างประเทศ ของบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการบริโภคในอนาคต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ที่พัฒนามาเพื่อรองรับแนวโน้มการบริโภค การดำเนินธุรกิจ และเศรษฐกิจในอนาคต

โดยทั้ง กองทุน B-GTORMF และ B-FUTURERMF มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน โดยกองทุนไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล เป็นไปตามหลักเกณฑ์กองทุน RMF ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

กองทุนตราสารหนี้โลก เพื่อความยั่งยืน IPO 19-27 เม.ย.นี้

ถือเป็นกองทุนแรกของประเทศไทย ที่คัดสรรตราสารหนี้คุณภาพทุกประเภททั่วโลก โดยพิจารณาผู้ออกตราสารหนี้จากปัจจัยเชิงบวกที่ส่งผลสนับสนุนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) เพื่อตอบโจทย์แนวคิดด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า (Sustainable investing for a better tomorrow)

ทั้งนี้ การลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investing) เป็นรูปแบบการลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เป็นแนวคิดการลงทุน ที่รวมประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) (ESG) เข้ากับกระบวนการลงทุน ซึ่งแนวคิดการลงทุนตามธีม ESG นั้นเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตและเป็นที่นิยมอย่างมากในทศวรรษนี้ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

ปัจจุบันนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งการพิจารณาการลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทที่มุ่งเน้นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือที่เรียกกันว่า ESG โดยการใช้ข้อมูล ESG มาผนวกในการวิเคราะห์ (ESG Integration) เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยทางสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำต่างๆได้มีการนำปัจจัยด้าน ESG มาเป็นหนึ่งในการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความตื่นตัวต่อการดำเนินธุรกิจตามกรอบ ESG ของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีนักลงทุนที่เข้าร่วมลงนามเพื่อดำเนินธุรกิจและลงทุนภายใต้แนวทางของ UN PRI มากกว่า 3,000 ราย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นถึง 120% ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 5ปี และนักลงทุนเหล่านี้มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารถึง 103 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ข้อมูลจาก www.unpri.org) ซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าเงินลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับ ESG ในด้านต่าง ๆตามมา

แม้ว่าการลงทุนในกองทุน ESG อาจเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้รับความสนใจมากนักในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การลงทุนอย่างยั่งยืนนี้อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนได้ อีกทั้งการลงทุน ESG นั้นเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตมากขึ้นโดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งทาง บลจ.ยูโอบีมองว่าเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนไทยควรเริ่มหันมาศึกษาการลงทุน

กองทุนบอนด์ทั่วโลก ลงทุนขั้นต่ำ 1 พันบาท

ด้าน บลจ.กรุงไทย (KTAM) ก็อยู่ระหว่างเปิดขายกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก อายุโครงการประมาณ 1 ปี คือ กองทุนเปิดกรุงไทย โกลบอล ฟิกซ์ อินคัม 1Y20 (KTGF1Y20) ตั้งแต่วันนี้ ถึง 23 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีส์ของกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก อายุโครงการประมาณ 1 ปี โดยสามารถระดมทุนตั้งแต่ ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา รวม 19 ซีรีส์ ได้แล้วกว่า 61,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สามารถลงทุนได้ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท (ผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนในช่วงประมาณ 1 ปีได้ และกองทุนนี้อาจลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม ดังนั้น หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก)

สำหรับกองทุน KTGF1Y20 มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินประเภทตราสารหนี้ รวมกันทุกขณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนมี นโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝาก และ/หรือตราสารการเงินที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับ ที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) และ/หรือลงทุนในหน่วย CIS ของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินประเภท ตราสารหนี้

อย่างไรก็ตาม กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารต่ำกว่า ที่ สามารถลงทุนได้ (non – investment grade) และ/หรือตราสารแห่งหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Securities) ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ทั้งนี้ กองทุนจะพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เสนอขายในต่างประเทศ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งกองทุนอาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน และ/หรือลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่น ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด หรือเห็นชอบให้ลงทุนได้ ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่า ทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ส่วนที่เหลือ กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสนอขายในประเทศ ได้แก่ เงินฝาก ตราสารทางการเงิน ตราสารแห่งหนี้ และ/หรือ ลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

ทั้งนี้ กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (Efficient Portfolio Management) ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก. ล.ต. และ/หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

และอาจลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) รวมถึงอาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน (FX Derivatives) ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. และ/หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ

โดยหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ที่คาดว่าจะมีการลงทุนเกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนของกองทุน KTGF1Y20 คือ กองทุน Invesco Asian Bond Fixed Maturity Fund 2022 – VII C (USD)-Accumulation ที่บริหารโดย Invesco บลจ.ระดับโลก โดยเน้นลงทุน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมในตราสารหนี้ ในภูมิภาคเอเชียที่อยู่ในสกุลเงิน USD ที่ออกโดยผู้ออกตราสารที่ถูกพิจารณาคัดเลือกโดยดุลยพินิจของผู้จัดการ (เช่น รัฐบาล หน่วยงานรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศที่มีลักษณะเหนือรัฐ (Supranational Entities) กลุ่มบริษัท สถาบันการเงิน และกลุ่มธนาคาร)

ซึ่งอาจรวมถึงผู้ออกตราสารที่อยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในกองทุนนี้ หมายถึง ประเทศทุกประเทศในทวีปเอเชีย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น แต่รวมถึง ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สนใจลงทุนกองไหน อยากลงทุนธีมอะไร ก็ลองเลือกช็อปกันดู แต่อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดแต่ละกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน