ครม.ไฟเขียว แผนการคลังระยะปานกลาง จัดงบฯขาดดุล 4 ปีติด

รัชดา ธนาดิเรก
รัชดา ธนาดิเรก

ครม.ไฟเขียวแผนการคลังระยะปานกลาง 66-69 จัดงบประมาณขาดดุล 4 ปีติด ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คาดค่าเฉลี่ย GDP ไม่ถึง 4% งบประมาณรายจ่ายปี’69 ทะลุ 3.45 ล้านล้านบาท แม้จัดเก็บรายได้แนวโน้มเพิ่มขึ้น

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566-2569) ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง

โดยสถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ในปี 2566 คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2-4.2 (ค่ากลางร้อยละ 3.7) และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2)

สำหรับในปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9-3.9 (ค่ากลางร้อยละ 3.4) ขณะที่ในปี 2568-2569 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8-3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 ในปี 2567 และเร่งขึ้นเป็นเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 0.8-1.8 ในปี 2568 และ 2569

สำหรับสถานะและประมาณการการคลัง มีการประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2566-2569 เท่ากับ 2,490,000 2,560,000 2,640,000 และ 2,720,000 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2566-2569 เท่ากับ 3,185,000 3,270,000 3,363,000 และ 3,456,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งมีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นร้อยละ 2.0-3.5 ของวงเงิน งบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5-4.0 ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 4.0 โดยใช้มาตรการให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ

น.ส.รัชดากล่าวว่า โดยเป้าหมายและนโยบายการคลังในการดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน

ซึ่งผลต่อเนื่องถึงภาคการคลัง ทำให้เกิดภาระที่สะสมต่อภาคการคลังของไทย ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงได้อีก ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมอีกในอนาคต

นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Global Megatrends) ที่จะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการจัดเก็บรายได้และการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ

“ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว รัฐบาลมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งในด้านรายได้ รายจ่ายและหนี้สาธารณะ ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการคลังด้วยหลัก CARE ซึ่งประกอบด้วย Creating Fiscal Space หรือการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอย่างระมัดระวัง Assuring Debt Sustainability หรือการบริหารจัดการหนี้อย่างมีภูมิคุ้มกัน Revenue Recovering หรือการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ และ Expenditure Reprioritizing หรือการปรับการจัดสรรงบประมาณ”